สภาพัฒน์จับตาหนี้ครัวเรือนหลัง COVID-19 ชี้ ‘กลุ่มอายุต่ำ 30 ปี’ และ ‘60 ปีขึ้นไป’ มีหนี้เสียเพิ่ม!

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างจับตาโดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2564 เพิ่มสูงสุดที่ระดับ 94.7% (จากปี 2562 ที่อยู่ราว 84.1%) เนื่องจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือน 

ดังนั้นการทำความเข้าใจกับข้อมูลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นำข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ข้อมูลเครดิตบูโร มาทำความเข้าใจในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ในไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่ามูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี นับจากปี 2562 พบว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดย

  • ปี 2565 เติบโต 4.2% จากปีก่อนหน้า
  • ปี 2564 เติบโต 3.8% จากปีก่อนหน้า
  • ปี 2563 เติบโต 5.3% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงสุด (ค่าเฉลี่ยปี 63-65) ได้แก่ หนี้ที่อยู่อาศัย (5.9%), หนี้อื่นๆ (5.7%), หนี้ส่วนบุคคล (5.4%), หนี้บัตรเครดิต (2.8%) และหนี้รถยนต์ (1.1%) โดยสาเหตุที่ หนี้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการและการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย 

หนี้ครัวเรือน

เรื่องหนี้ๆ คนช่วงอายุใดก่อหนี้-ผิดนัดชำระมากที่สุด?

จากข้อมูลของ NCB พบว่า ในภาพใหญ่กลุ่มที่ก่อหนี้สูงสุดในช่วง COVID-19  คือ กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปแล้วจะพบว่ากลุ่มอายุ 40-49 ปี มีมูลค่าหนี้คงค้างสูงที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี ถัดมาจึงเป้นกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี

ขณะเดียวกัน กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี ในช่วง COVID-19 มีพฤติกรรมการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็น ‘หนี้อื่นๆ’ ได้แก่ หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร, หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญหากดูในมิติของมูลค่าการก่อหนี้กลุ่มอายุ 50–59 ปี ถือว่าสูงที่สุด

ด้านพฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีสัดส่วน NPL (หนี้เสีย) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 20.8% ถือว่าสูงสุดในกลุ่มช่วงอายุ (ค่าเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ 7.6%) รวมถึงยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถเนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวม สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น ขณะที่กลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย (SML คือ การรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ) 

อย่างไรก็ตามอีกกลุ่มที่ต้องจับตามองคือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสะท้อนจากข้อมูล 3 ส่วนในช่วง COVID-19 ได้แก่

  • มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 10.2% (ค่าเฉลี่ยปี 63-65)
  • มูลค่าหนี้คงค้างในช่วงปี 63-65 อยู่ที่ 3. ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.9% ต่อปี
  • มีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 8.6% ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้อมูลเรื่องหนี้สินครัวเรือนอาจต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีหนี้อีกจำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบของ NCB ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนยังต้องแก้ไขผ่านความร่วมมือในหลายภาคส่วน 

5 แนวทางในการแก้ไขปัญหา เรื่องหนี้ๆ 

เบื้องต้นสภาพัฒน์มองว่า การแก้ปัญหาหนี้ในมิติต่างๆ อาจมีแนวทางดังนี้

1) ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร เพื่อให้เจ้าหนี้ตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้ของลูกหนี้ได้ โดยมี มาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB เช่น งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

2) ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด (ธปท. มีเกณฑ์ออกมาแล้ว) และควรกำกับดูแล รวมถึงติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย 

3) หน่วยงานรัฐต้องส่งเสริมให้เกิด การปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้ 

4) ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย เช่น วัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้ 

5) ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิ เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้

ที่มา – สภาพัฒน์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา