GDP ไทยไตรมาส 3 โตเพียงแค่ 3.3% กับมุมมองของ SCB EIC กับ HSBC

มุมมองของสถาบันการเงินทั้งไทยและเทศ GDP ไทยในไตรมาส 3 ที่ออกมา ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าผิดหวังมากๆ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มได้ผลกระทบจากสงครามการค้าแบบจริงๆ จังๆ ด้วย ซึ่งจะเห็นจากภาคการส่งออกไทยที่ทำได้ผิดเป้ามากๆ

ภาพจาก Unsplash

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัว 3.3% สาเหตุเกิดจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ของต่างประเทศที่ลดลง แต่ขณะเดียวกันอุปสงค์ภายในประเทศยังเติบโต

ปัจจัยสำคัญคือการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปสกุลเงินบาทในไตรมาสที่ 3 ที่หดตัว -0.1% YOY เป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มชะลอตัว ยังรวมไปถึงการส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าบ้างแล้ว

ด้านการท่องเที่ยวของไทยก็เริ่มชะลอตัวบ้างแล้ว ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขยายตัวเพียงแค่ 2.7% YOY โดยผลกระทบหลักคือชาวจีนที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยลดลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ได้ปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เติบโตขึ้น 3.9% YOY และการลงทุนของภาครัฐที่เติบโต 4.2% YOY ถึงแม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมไปถึงการบริโภคของภาคเอกชนที่เติบโตขึ้น 5% YOY ได้ปัจจัยจากยอดขายรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น

ตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 นี้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก โดยคาดว่า GDP ไตรมาส 3 ของไทยจะโตถึง 4.2% ในไตรมาสนี้

SCB EIC ปรับลด GDP ปีนี้เหลือ 4.2%

SCB EIC ปรับประมาณการณ์ของ GDP ปี 2018 ลงเหลือ 4.2% จาก 4.5% ในประมาณการครั้งก่อน ตัวเลข GDP ที่ออกมาในไตรมาสนี้ชะลอลงค่อนข้างมากจากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักที่ SCB EIC มองว่า มาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการชะลอลงของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ SCB EIC มองถึง รายได้ครัวเรือนไทยยังฟื้นตัวช้า ส่งผลการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตแบบไม่กระจายตัว โดยการบริโภคสินค้าไม่คงทนซึ่งสะท้อนการบริโภคของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลางทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเติบโต 0.0%YOY ซึ่งชะลอลงจากระดับการขยายตัวที่ต่ำอยู่แล้วในไตรมาสที่ 2 ที่ 0.9%YOY ซึ่ง SCB EIC มองว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่รายได้ครัวเรือนไทยเติบโตในระดับต่ำ โดยในไตรมาสที่ 3 รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างขยายตัวได้ที่เพียง 1.1%YOY และ 1.8%YOY ตามลำดับ

HSBC มองรัฐอาจเร่งอนุมติโครงการต่างๆ

HSBC สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ได้ประมาณการณ์ของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ในตอนแรกที่ 4% ซึ่งหลังจากตัวเลขที่ออกมาทำให้ผิดคาดจากนักวิเคราะห์คาดไว้ อย่างไรก็ดียังไม่ได้มีประมาณการณ์ GDP ไทยจาก HSBC ออกมา

นอกจากนี้ HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมา อาจทำให้รัฐบาลต้องเร่งอนุมัติโครงสร้างพื้นฐานออกมาเพื่อชดเชยในส่วนตัวเลขที่หายไปทั้งภาคการส่งออกและภาคการบริการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง เนื่องจากตัวเลขการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นยังไม่สามารถชดเชยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่หายไปได้

แบงค์ชาติเชื่อไตรมาส 4 ดีกว่านี้

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ชะลอตัวลงส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ผลจากสภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว รวมถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากการลดลงอุปสงค์ต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง สำหรับระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 ที่มีผลของปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ