ที่ดินรกร้างเกิน 5-10 ปีเตรียมถูกยึด จะล้อมรั้วหรือเสียภาษีก็ไม่ช่วย

รัฐบาลเตรียมยึดที่ดิน ถ้าปล่อยรกร้างเกิน 5-10 ปี แค่ล้อมรั้วหรือเสียภาษี แต่ไม่ทำประโยชน์ ก็ถือว่าทอดทิ้ง

Government-will-sieze-the-useless-land

การยึดที่ดินรกร้างดังกล่าว อ้างตามมาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่บัญญัติไว้ว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังนี้

  1. สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกิน 10 ปีติดต่อกัน
  2. สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกิน 5 ปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า

เมื่ออธิบดียื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายต่อไป

มาตรา 6

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้ ที่เริ่มปี 2522 กรมที่ดินแจ้งว่า ยังไม่เคยมีคำสั่งศาลให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ตกเป็นของรัฐแต่อย่างใด

สำหรับการพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดมีผู้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ให้พิจารณาถึงการทำประโยชน์ ถ้าล้อมรั้วหรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่ไม่ทำประโยชน์ = เป็นการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า สำหรับที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือในเมือง แม้จะยังไม่ได้ปลูกบ้านแต่เจ้าของยังมีเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ก็ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้วโดยสภาพ

land
Photo by Boudewijn Huysmans on Unsplash

ขีดเส้นใต้ 3 เดือนหลังแจ้ง ต้องรีบจัดการให้มีการทำประโยชน์ในที่ดิน

ภายในเดือนมกราคมของทุกปี จังหวัดจะสำรวจว่าที่มีที่ดินแปลงใดบ้างที่มีผู้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวา 10 ปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือ 5 ปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์และรายงานกระทรวงมหาดไทยทราบ ซึ่งก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยจะมีขั้นตอนดำเนินการสรุป ดังนี้

1. จังหวัดหรืออำเภอจะทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า จัดการหรือเร่งรัดให้มีการทำประโยชน์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รับแจ้ง

2. เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่จัดการให้มีการทำประโยชน์ให้จังหวัดตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาว่ามีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาจริงหรือไม่เพียงใด

3. เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นว่ามีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาจริง ให้จังหวัดทำความเห็นส่งกรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ตกเป็นของรัฐต่อไป

กรมที่ดินแนะนำให้ประชาชนผู้มีสิทธิในที่ดินตรวจสอบที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิในที่ดินของตนเอง สามารถตรวจสอบรูปแปลงที่ดินผ่านแอปพลิเคชั่น LandsMaps ของกรมที่ดินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา – กรมที่ดิน, ทำเนียบรัฐบาล, ประมวลกฎหมายที่ดิน 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา