“ชิมช้อปใช้ เฟส 2” มาแล้ว เปิดให้ลงทะเบียน 6 โมงเช้า วันที่ 24 ตุลาคม โควต้า 3 ล้านคน

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” มาแล้ว โดยเปิดให้ลงทะเบียน 6 โมงเช้า วันที่ 24 ตุลาคม โควต้า 3 ล้านคน

หัวหิน Hua hin Thailand
ภาพจาก Shutterstock

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ซึ่ง 1 ในมาตรการคือ ชิมช้อปใช้ เฟส 2

สำหรับเฟส 2 ที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากรัฐบาลมองว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งโครงการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคน และกระทรวงการคลังได้เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) โดยเฟส 2 นี้จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม

“ชิมช้อปใช้ เฟส 2” นี้จะกระทรวงการคลังจะปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ แบ่งเป็น 2 รอบรอบละ 500,000 ราย จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่มจำนวน 3 ล้านคน และเปลี่ยนเวลาลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น คือ

  • รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 นาฬิกา
  • รอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 นาฬิกา

โครงการเฟส 2 นี้จะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 จำนวนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยมาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” นี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธันวาคม 2562

โดยผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จนอกจากจะได้รับวงเงินสนับสนุน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่านระบบ Wallet และเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนเองผ่านระบบ Wallet (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับ “ชิมช้อปใช้” เดิมแล้วยังจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธิ์นี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนในเฟสแรกด้วย

สำหรับการใช้จ่ายผ่าน Wallet ของรัฐบาลนั้นสามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข 15 หลักผ่าน Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังยืนยันว่าไม่มีนโยบายมุ่งตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้ e-Payment อยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม กรมสรรพากรเห็นว่า ผู้ใช้ e-Payment จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ดีซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบและได้รับบริการที่ดี เช่น การคืนภาษีเร็ว จากกรมสรรพากรด้วย

ที่มา – กระทรวงการคลัง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ