เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ซึมยาว ต้องปรับคาดการณ์จาก 3.1% เป็น 2.6% 

SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2023 จากเดิม 3.1% เป็น 2.6% ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.4% ขยายเป็น 2.7% 

ภาคบริการเริ่มมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 จากความล่าช้าในการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินตึงตัว เงินออมส่วนเกินเริ่มหมด หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

Thailand
Photo by Geoff Greenwood on Unsplash

ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 3 ทั้งภาคบริการและการผลิตในระยะต่อไปเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมแต่ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้างในระยะปานกลาง-ยาว

เศรษฐกิจไทยปรับลดประมาณการปี 2023 จากเดิม 3.1% เป็น 2.6% เศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงขึ้นจากการเบิกจ่าย งบประมาณปี 2023 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้และความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2024 รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์

ในปี 2024

ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเช่นกันเป็น 3.0% จากเดิมเป็น 3.5% ตามแรงส่งเศรษฐกิจที่แผ่วลง แนวโน้มการบริโภคเอกชนเติบโตต่ำลงจากรายได้ครัวเรือนฟื้นไม่ทั่วถึงและหนี้ครัวเรือนที่ลดลงช้า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนใช้เวลานานขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024

เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่าช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วง High season ของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย

นักท่องเที่ยวจีนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง การส่งออกมีแนวโน้มพลิกกลับมาบวกได้ในไตรมาสนี้ ราคาส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นจากผลกระทบภัยแล้งและการจำกัดการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมากในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และความไม่แน่นอนของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและน้ำตาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกของอินเดีย เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เงินเฟ้อในปี 2024 กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้ง

สงครามอิสราเอล-ฮามาสและนโยบายการคลัง

กรณีสงครามครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก หากเหตุการณ์ลุกลามรุนแรง เช่น อิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน หรือเข้าร่วมสงครามโดยตรง เศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลกรวมทั้งไทยจะได้รับผลกระทบ ผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยในปี 2024 ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สำคัญจากนโยบายการคลัง อาทิ โครงการดิจิทัล วอลเล็ต (Digital wallet) ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังเปราะบางและมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคสูง ซึ่งโครงการนี้ยังไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลัง

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2024 เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ย ณ Neutral rate ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และช่วยให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แม้โครงการ Digital wallet จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพและอาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เป็นผลเพียงชั่วคราว

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพเดิมและเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติ ได้ สำหรับค่าเงินบาทในไตรมาสที่ผ่านมากลับมาแข็งค่าเร็วขึ้น เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงตามมุมมองการคงดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ระยะต่อไป เงินบาทจะแข็งค่าต่อสู่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ และ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีหน้า

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา