การบินไทยได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ว่าขอพักชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทกว่า 71,600 ล้านบาท หลังศาลล้มละลายรับแผนฟื้นฟูของบริษัททำให้บริษัทอยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้
บมจ. การบินไทย ได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของการบินไทยได้ส่งหนังสือมายังบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขอให้บริษัทชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด 6 ชุดในทันที ส่งผลทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระโดยพลัน แต่เนื่องจากการบินไทยเองนั้นกำลังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงมีผลทำให้บริษัทฯ อยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ และจะไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวได้
- การบินไทยแจ้งไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วให้ลูกค้าได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ
- ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว นัดไต่สวนรอบแรกสิงหาคมนี้
- สิ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยเหลือ 47.86% แล้ว
สำหรับหุ้นกู้ของการบินไทยที่ผู้ถือหุ้นกู้เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมด และการบินไทยไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้นประกอบไปด้วย
- หุ้นกู้ บมจ. การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 1 มูลค่า 2,035 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 2563
- หุ้นกู้ บมจ. การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 2 มูลค่า 634 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 2564
- หุ้นกู้ บมจ. การบินไทย ครั้งที่ 2/2563 ชุดที่ 3 มูลค่า 2,453 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 2566
- หุ้นกู้ บมจ. การบินไทย ครั้งที่ 2/2563 ชุดที่ 4 มูลค่า 1,899 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 2572
- หุ้นกู้ บมจ. การบินไทย ครั้งที่ 2/2562 ชุดที่ 5 มูลค่า 1,767 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 2577
การที่การบินไทยไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ชุดที่เกี่ยวข้องได้นั้น ทำให้อาจเป็นเหตุทำให้การบินไทยอาจผิดนัดภายใต้หุ้นกู้อื่นๆ ที่เหลือด้วย ซึ่งหุ้นกู้ทั้งหมดของการบินไทยมีมูลค่าราวๆ 71,600 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ทริส เรตติ้งได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของการบินไทยลงมาเหลือ “D” หรือสภาวะผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้รับเรื่องคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ขณะเดียวกันการบินไทยเองก็ได้ชี้แจงแก่ลูกค้าของสายการบินว่าสายการบินไม่คืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินได้เช่นกัน
นอกจากนี้การบินไทยยังได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ว่าในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้บริษัทเตรียมที่จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นออนไลน์ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ไขปัญหาของบริษัท รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวข้องกับการเข้าฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา