การบินไทย เผยผลประกอบการบริษัทประจำไตรมาส 2 ของปี 2561 รายได้รวม 4.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย 6.4% อันเป็นผลจากราคาน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 3.086 พันล้านบาท
ในไตรมาสแรกของปี 2561 การบินไทยยังมีกำไร 2.7 พันล้านบาท แต่พอมาถึงไตรมาสที่สองกลับพลิกมาขาดทุน อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเทียบไตรมาสที่สองของปี 2560 ที่การบินไทยขาดทุนสุทธิ 5.2 พันล้านบาท ก็ถือว่าตัวเลขขาดทุนลดลงมาได้ถึง 40.7%
ปัจจัยหลักที่ทำให้การบินไทยขาดทุน คงหนีไม่พ้นต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งกระทบสายการบินทั่วโลก และบริษัทสายการบินในไทยทั้ง นกแอร์ และ แอร์เอเชีย ก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นกันในไตรมาสนี้
ฝ่ายบริหารของการบินไทย ให้ความเห็นต่อธุรกิจในไตรมาสที่สองว่า อุตสาหกรรมการบินโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการขยายตัวเริ่มลดลง ตัวเลขสำคัญคือปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 5.4%, อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor หรือ load factor) อยู่ที่ 75.8% ลดลงจากปีก่อนที่ 78.5% ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวม 5.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับปีก่อน, อัตราใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (aircraft utilization) ที่ 11.5 ชั่วโมง เท่ากับปีก่อน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ต้นทุนของการบินไทยส่วนที่ไม่ใช่ราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้น 3.4% จากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมถึงค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่
ส่วนความพยายามของการบินไทยก็ยังเดินหน้าขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นในการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น หุ้นในโรงแรมรอยัลออคิด, อสังหาริมทรัพย์ที่แม่ฮ่องสอน โคเปนเฮเกน และซิดนีย์
ที่มา – การบินไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา