รมต. คมนาคม ติงการบินไทยมีพนักงานต้อนรับมากเกิน ขณะที่พนักงานภายในมองว่าคนขาด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวถึงเรื่องของการบินไทยมีพนักงานต้อนรับมากเกินไปเนื่องจากสาเหตุเครื่องบินของสายการบินไทยนั้นมีหลากหลายรุ่น แนะนำให้อบรมพนักงานต้อนรับให้ปฏิบัติหน้าที่กับเครื่องบินทุกประเภทได้

Thai Airways
ภาพจาก Shutterstock

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงข้อสังเกตที่ บมจ. การบินไทย มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 6,000 กว่าคน แต่มีเครื่องบินใช้งานได้ 80 กว่าลำ จากเครื่องบินที่มีทั้งหมด 100 ลำ ซึ่งหากสามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ หรือแม้แต่การยกระดับความรู้ของพนักงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่กับเครื่องบินทุกประเภท จะสามารถลดอัตรากำลังลงได้ หรือถ้าหากไม่ลดอัตรากำลังลง ก็จะต้องให้พนักงานไปทำงานด้านอื่นได้

โดยปัจจุบันการบินไทยนั้นมีเครื่องบินจาก 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ในการให้บริการ เช่น Airbus รุ่น A380 รุ่น A350 รวมไปถึงของ Boeing เช่นรุ่น 777 เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมองว่าต้องใช้พนักงานต้อนรับแยกกัน และเสนอให้พนักงานต้อนรับมีความรู้ประเภทเครื่องบินมากกว่า 1 รุ่น และจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานออกอย่างแน่นอน

ล่าสุด บอร์ดบริหารของการบินไทยยังได้เลื่อนการรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินออกไปแล้ว โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 10-31 ตุลาคมที่ผ่านมาสายการบินแห่งชาติรายนี้ได้ประกาศรับสมัครพนักงานต้อนรับเพิ่มเติมอีก 200 คนโดยพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่รับสมัครจะเป็นพนักงานประเภทสัญญาจ้างมีระยะเวลา 3 ปี และถ้าหากมีผลการปฏิบัติงานผ่านตามหลักเกณฑ์การประเมินที่การบินไทยกำหนด การบินไทยอาจจะพิจารณาต่ออายุสัญญาอีก 1 ครั้ง โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้กล่าวให้กำลังใจว่า “การบินไทยสามารถกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่ขอเวลาหน่อย ถ้าทุกคนมีความตั้งใจเชื่อว่าจะต้องสำเร็จได้” และได้กล่าเสริมในเรื่องของการยุบการบินไทยไปเลยเหมือนกับสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นนั้น “คงทำแบบนั้นไม่ได้เพราะการบินไทยเป็นสมบัติของชาติ”

ขณะที่ กฤษณรัตน์ บูรณะสัมฤทธิ Senior Supervisor ของการบินไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จจริงว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในวันนี้มี 6,000 กว่าคน และ 1 คนบินได้ไม่เกิน 3 แบบเครื่องบินนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะว่ากรมการบินพลเรือนกำหนดไว้ เพราะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน ลูกเรือต้องพาผู้โดยสารออกจากเครื่องและการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินที่แตกต่างกันในแต่ละแบบเครื่องบิน ซึ่งแม้จะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่หน้าที่หลักของลูกเรือคือ หน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินบนเครื่อง เพื่อให้เกิดความชำนาญ จึงกำหนดให้ไม่เกิน 3 แบบเครื่องบิน แต่ลูกค้ามักเข้าใจว่าลูกเรือมีหน้าทีคือเสริฟอาหารเท่านั้น

นอกจากนี้ Senior Supervisor ของการบินไทยยังมองว่า ปัจจุบันชั่วโมงบินเฉลี่ยของลูกเรือการบินไทยอยู่ที่ 80 ชั่วโมง ทำให้การจัดตารางบินแน่นมาก เช่น บินยุโรปเที่ยวหนึ่ง ไปกลับ ประมาณ 20-22 ชั่วโมงบนฟ้า ไปแล้วได้พักเพียง 24 ชั่วโมงต้องบินกลับเลย กลับมาต้องมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่าที่ กฏการบินกำหนดไว้ เพื่อให้พักผ่อนเพียงพอ ที่จะดูแลความปลอดภัยในเที่ยวบินต่อไปได้ แล้ววันนี้ลูกเรือขาดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ให้รับเพิ่ม ทำให้เราต้องลดคนลงในแต่ละไฟลท์ลง แต่เราไม่ลดการบริการลง ทำให้ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ลองถามลูกเรือซิครับ เห็นเดินหน้ายิ้มๆ แต่ภายในเค้าเหนื่อยกันแค่ไหน

Note: เพิ่มเติมความคิดเห็นจาก กฤษณรัตน์ บูรณะสัมฤทธิ Senior Supervisor ของการบินไทย

ที่มา – โพสต์ทูเดย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ