ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มหาเศรษฐี จะจ่ายภาษีในอัตราที่ ‘เท่าเทียม’ กับคนทั่วไป | TAX THE RICH ep.1

TAX THE RICH

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า มหาเศรษฐีระดับโลก ที่มีทรัพย์สินในระดับหมื่นล้านดอลลาร์ เขาเสียภาษีกันปีละเท่าไหร่ จะเสียมากเหมือนเงินที่มี หรือจะเสียน้อยกว่าที่คนทั่วไปคิด

บทความชุด TAX THE RICH ของ Brand Inside จะพาไปหาคำตอบกัน

เป็นประจำทุกปีที่นิตยสาร Forbes จะทำการจัดอันดับมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก โดยในปี 2020 มหาเศรษฐี เบอร์ 1 ของโลกไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon นั่นเอง เขามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนมหาเศรษฐีระดับโลกคนอื่นๆ ที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก มีดังต่อไปนี้

ร่ำรวยระดับนี้ แต่จ่ายภาษีน้อยกว่าคนทั่วไปอย่างเราๆ

 มหาเศรษฐีระดับโลก ที่มีทรัพย์สินมหาศาลจนเรียกได้ว่าใช้กันแทบไม่หมด จ่ายภาษีกันเท่าไหร่ จะจ่ายมากเหมือนเงินที่มี หรือจะจ่ายน้อยจนคนทั่วไปแบบเราๆ ตกใจกันแน่

ProPublica สำนักข่าวไม่แสวงหากำไรของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษีของมหาเศรษฐี 25 อันดับแรกของโลก พบว่ามีการจ่ายภาษีในอัตราที่น้อยจนน่าตกใจ แม้จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลระหว่างปี 2014-2018 ก็ตาม

แม้จะไม่มีข้อมูลการจ่ายภาษีครบทั้ง 25 คน แต่ ProPublica ก็คัดมหาเศรษฐีเด่นๆ ที่เรารู้จักมาให้แล้ว

เริ่มด้วย Jeff Bezos มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2014-2018 แต่จ่ายภาษีเพียง 23.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น

มหาเศรษฐีคนที่ 2 คือ Elon Musk มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2014-2018 แต่กลับจ่ายภาษีเพียง 455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.27% ของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น

ส่วนมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ที่จ่ายภาษีน้อยเช่นเดียวกัน ได้แก่ Warren Buffett คุณปู่นักลงทุนเจ้าของ Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2014-2018 แต่จ่ายภาษี 23.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น

และคนสุดท้าย Michael Bloomberg ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014-2018 แต่จ่ายภาษีเพียง  292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.3% ของจำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น

นอกจากมหาเศรษฐีชื่อดังจำนวน 4 คน ข้างต้น มหาเศรษฐีที่อยู่ใน 25 อันดับแรกคนอื่นๆ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีมากเท่าไหร่นัก

คนรวยจ่ายภาษีเฉลี่ย 3.4% ในขณะที่คนทั่วไปจ่าย 14%

จากค่าเฉลี่ยพบว่า มหาเศรษฐี 25 อันดับแรกของโลก มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกัน 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลา 5 ปี แต่มีการจ่ายภาษีรวมกันเพียง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการจ่ายภาษีที่ 3.4% ของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น

ตัวเลข  3.4% เป็นอัตราการจ่ายภาษีที่น้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนทำงาน พนักงานทั่วไปที่ต้องจ่ายภาษีกันอย่างเต็มจำนวน

ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กำหนดภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 10% สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 9,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และการจ่ายภาษีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นบันไดตามเงินได้ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 37% สำหรับผู้ที่มีเงินได้เกิน 518,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนกรณีคู่สมรสก็จะมีฐานภาษีที่ต่างกันเล็กน้อย (ข้อมูลจาก – Tax Policy Center)

ในภาพรวม เฉลี่ยแล้วคนอเมริกันทั่วไป ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้เฉลี่ย 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะจ่ายภาษีเงินได้ราว 14% ต่อปี ฟังดูเหมือนไม่เยอะ แต่เมื่อเทียบกับมหาเศรษฐี 25 อันดับแรก ที่จ่ายภาษีกันเฉลี่ยเพียง 3.4% เมื่อนำอัตราการจ่ายภาษีมาเทียบกับ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าคนธรรมดาๆ จ่ายภาษีกันแบบเต็มจำนวน จะหาทางลดหย่อนก็ยาก แต่มหาเศรษฐีที่รวยจนใช้ไม่หมด กลับจ่ายภาษีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

มหาเศรษฐีรวยล้นฟ้า แต่ทำไมจ่ายภาษีแค่นิดเดียว?

คำตอบของคำถามนี้ง่ายนิดเดียว(เหมือนกัน)

เพราะปริมาณทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐี “ไม่ใช่เงินได้” จึงไม่ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกับคนทั่วๆ ไป

พูดง่ายๆ คือแม้ทรัพย์สินของหาเศรษฐีจะเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่อาจมีรายได้ไม่มาก จึงไม่ต้องจ่ายภาษีมากๆ เท่ากับคนทั่วไปอย่างเราๆ

ยกตัวอย่างการจ่ายภาษีของ Jeff Bezos ที่ไม่จ่ายภาษีเลยสักดอลลาร์เดียวในปี 2007 เพราะปริมาณทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาจากดอกเบี้ย เงินปันผลที่ได้จากการลงทุน แถมยังมีรายการลดหย่อนต่างๆ ทั้งการลงทุนที่ขาดทุน รวมถึงค่าใช้จ่าย เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการลดหย่อนภาษีจากบุตรในแต่ละปี จนสุดท้าย Jeff Bezos จึงไม่ต้องจ่ายภาษีเลย

เช่นเดียวกับ Elon Musk ที่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานเป็นหุ้น Tesla จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษีจนกว่า Elon Musk จะขายหุ้นนั้นทิ้งไป

CEO ไม่รับเงินเดือน ไม่ใช่ทำงานด้วย Passion แต่เป็นเพราะ “ภาษี”

ส่วน CEO หรือมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ก็มีเทคนิคที่ทำให้เสียภาษีน้อยลงด้วยการรับเงินค่าตอบแทนรายปีจากบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของในจำนวนอันน้อยนิด ฟังแล้วอาจดูเท่ห์ ว่า CEO เหล่านี้ทำงานกันด้วย Passion ไม่ได้ทำงานเพราะเงิน แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของภาษีล้วนๆ

ตัวอย่างของ CEO ที่รับเงินค่าตอบแทนอันน้อยนิดจากบริษัท ที่ Business Insider ได้รวบรวมไว้ มีดังนี้

  • Mark Zuckerberg ได้รับค่าตอบแทน 1 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2013
  • Elon Musk ควรได้รับค่าตอบแทนที่สะท้อนค่าแรงขั้นต่ำของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่เขาก็ปฏิเสธไม่รับค่าตอบแทน
  • Larry Ellison CEO ของ Oracle ได้รับค่าตอบแทน 1 ดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2011
  • Jack Dorsey CEO ของ Twitter รับค่าตอบแทน 1.4 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงปฏิเสธไม่ขอรับเงินอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อีกในปี 2018

สาเหตุที่ CEO เหล่านี้เลือกที่จะรับเงินค่าตอบแทนเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องของ Passion ในการทำงาน แต่เป็นเพราะหากได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแบบพนักงานทั่วไป CEO เหล่านี้อาจต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราสูงสุดที่ 37% เพราะพวกเขาคงไม่มีทางได้เงินค่าตอบแทนน้อยกว่า 518,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีอย่างแน่นอน

ในขณะที่หากรับเงินค่าตอบแทนในรูปแบบอื่นอาจต้องจ่ายภาษีในอัตราเพียง 20% เท่านั้น แถมหากนำทรัพย์สินที่มีแบ่งไปทำบุญ ทำโครงการการกุศล ก่อตั้งมูลนิธิ ทั้งหมดสามารถนำไปลดหย่อนภาษี จนในท้ายที่สุดจึงเป็นคำตอบว่าทำไมมหาเศรษฐีรวยมาก แต่จ่ายภาษีนิดเดียว

พนักงานธรรมดาๆ ทำงานหนัก ค่าแรงน้อย แต่จ่ายภาษีเต็มจำนวน

ในทางกลับกันเมื่อหันมามองพนักงานธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทที่มหาเศรษฐีจ่ายภาษีน้อยเป็นเจ้าของ จะพบกับความจริงอันน่าเจ็บปวด ต้องทำงานหนักแทบตาย ได้ค่าแรงน้อย แถมต้องจ่ายภาษีแบบเต็มๆ

ตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำงานของพนักงานบริษัท Amazon ของ Jeff Bezos ที่ถูกกดดันกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานในออฟฟิศ หรือพนักงานในโกดังสินค้า ต่างต้องพบกับความกดดันในการทำงานอย่างสูง

พนักงานในออฟฟิศ โดยกดดันให้ลาออกด้วยระบบการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ที่ตั้งเป้าปลดพนักงานออกปีละ 6% แถมถ้าทำไม่ได้ ต้องทบยอดการปลดไปปีหน้าด้วย ทำให้พนักงานระดับผู้จัดการของ Amazon หลายคนยอมรับว่าหลายครั้ง พวกเขาต้องรับพนักงานใหม่เข้ามาแล้วปลดคนออกให้ได้ตามเป้าการปลดพนักงานในแต่ละปี

ส่วนพนักงานในโกดังสินค้า ถูกกดดันในการทำงานอย่างหนัก ถึงขนาดที่ Jeff Bezos คิดนำหุ่นยนต์มาใช้ในการตรวจสอบการทำงานของพนักงาน เพราะเชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์ “ขี้เกียจ”

ส่วนพนักงานขนส่งสินค้า ก็โดนหนักไม่แพ้กัน ต้องทำงานหนักถึงขนาดไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ต้องยอมปัสสาวะใส่ขวด เพราะถูกกดดันด้วยเวลา โดนบังคับเรื่องการแต่งกาย ห้ามมีกลิ่นตัว เล็บ ผม ต้องสะอาด ห้ามฉีดน้ำหอมกลิ่นแรงๆ

พนักงานธรรมดาๆ เหล่านี้ คือคนที่ทำงานอย่างหนัก แต่อาจได้รับค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก แถมยังต้องจ่ายภาษีเต็มจำนวนโดยไม่มีเทคนิคในการหลีกเลี่ยงแบบมหาเศรษฐี ในขณะที่มหาเศรษฐีมีเงินมหาศาล แต่กลับจ่ายภาษีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลอ้างอิง – ProPublica (1), (2), (3), CBS, Tax Policy Center, IRS.Gov, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา