ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามา Disrupt ของเทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรม ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่คนทำธุรกิจไม่ใช่แค่ได้เห็นคำศัพท์ใหม่ๆ ในวงการ แต่เชื่อว่าได้เรียนรู้และพยายามเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น AI, Blockchain, Cryptocurrency, IoT, AR/VR และอีกมากมาย ส่วนที่ต้องรู้และเข้าใจก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ
Brand Inside พูดคุยกับ ธีรนันท์ ศรีหงส์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และอดีตประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN BUSINESS – TECHNOLOGY GROUP) หรือ KBTG องค์กรลูกของกสิกรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านเทคโนโลยีเพื่อรับกระแส Fintech โดยเฉพาะ หลังจากที่เขาหันหลังให้กับตำแหน่งผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ของประเทศ ได้ออกมาตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ CELAR CONSULTING โดยเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจไทยที่ต้องการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค Digital Transformation
ด้านล่างนี้คือบทสัมภาษณ์ และเกร็ดความรู้จากตัวจริงของผู้ (ที่ทั้งเคยและยังคง) ยืนอยู่บนยอดสูงสุดของธุรกิจการเงินและไอทีแห่งสยามประเทศ ผู้นิยามตัวเองว่า “หน้าที่ของผมคือเป็นเพื่อน CEO คือจะเข้าไปช่วยจัดการธุรกิจในประเด็นที่เกี่ยวกับ Disruptive Technology” ตอนนี้เขาเข้าไปช่วยเป็น “เพื่อน CEO” อยู่แล้วใน 4 อุตสาหกรรมคือ ธุรกิจด้าน Oil & Gas, อสังหาริมทรัพย์, อาหารและเครื่องดื่ม, การเงิน
ไม่ใช่วิ่งตามไอทีทุกอย่าง แต่ต้องรู้และเข้าใจว่าจะเอามาทำอะไร
“ธุรกิจโดยทั่วไปจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีกันทั้งนั้น แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคือ ผู้บริหารหลายคนที่นั่งอยู่ในธุรกิจเดิมส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในดิจิทัลมากพอ”
ธีรนันท์ เล่าให้ฟังจากประสบการณ์ตรงว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา Disrupt การทำธุรกิจแบบเดิมๆ ทำให้ผู้บริหารในหลายองค์กรเกิดอาการ “ตาลาย” จนทำให้ตั้งตัวไม่ทัน ปรับตัวไม่ถูก หรือไม่รู้จะทำอย่างไร
“ผู้บริหารในองค์กรที่จะอยู่รอดในอนาคตต้องเข้าใจดิจิทัลจริงๆ อย่างแรกต้องมีประสบการณ์ด้วยตนเองก่อน ที่สำคัญต้องเป็นประสบการณ์แบบ First Hand ไม่ใช่ Second Hand เช่น ถ้าต้องการเข้าใจเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ คุณต้องไปงานสัมมนา ไปดูของจริง ต้องไปถึงเยอรมนี ต้องไปอิสราเอล ไม่ใช่มานั่งฟังคนพูดตามงานเสวนา หรือคอยอ่านจากหนังสือพิมพ์ ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะมันคนละเรื่องกันเลย พูดง่ายๆ คือจริงๆ แล้ว คุณต้องมีการรับรู้ด้วยตนเองก่อน แล้วดูว่าเทคโนโลยีที่ว่ามันมีผลต่อธุรกิจของคุณหรือเปล่า และมากน้อยแค่ไหน”
“เราไม่สามารถตอบสนองกับทุกเทคโนโลยีบนโลกได้หมด” อดีตผู้บริหารแบงค์ ย้ำเลยว่า ต้องมองให้ออกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแต่ละอย่างมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อธุรกิจของเราหรือไม่ หรือเอาเข้าจริงเป็นเพียงแค่ทางผ่านของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น เพราะบางการเปลี่ยนแปลง เราอาจไม่จำเป็นต้องปรับตัวตามไปทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการประเมินให้ออกว่าจะปรับตามแค่ไหนและอย่างไร อย่าตื่นตูมกับทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
บริษัทยุคใหม่ต้องตั้งคนไอทีขึ้นมาเป็นผู้บริหาร
ธีรนันท์ บอกว่า ลำพังเพียงตัวผู้บริหารที่ต้องรู้และเข้าใจอาจไม่เพียงพอ “แล้วคณะกรรมการของบริษัท มีใครที่เข้าใจเรื่องนี้ [Digital Transformation] อย่างลึกซึ้งหรือไม่ พอเจอเรื่องทางเทคนิคจะหันหน้าไปหาใครในบริษัทได้บ้าง คือในระดับ Management มีคนไอทีหรือไม่ คนไอทีอยู่ในตำแหน่งไหนในบริษัท”
ธีรนันท์ ฟันธงว่า ในปี 2018 ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมใดก็ตาม หากต้องการปรับตัวให้ทันกับกระแสการ Disrupt ของเทคโนโลยี บริษัทนั้นจำเป็นต้องรับเอาคนไอทีเข้าไปอยู่ในองค์กรมากขึ้น และไม่ใช่รับเข้าไปทำงานเพียงเพื่อช่วยสนับสนุนเท่านั้น แต่ต้องเป็นถึงผู้บริหารระดับบนของบริษัทด้วย
“ในปี 2018 เราจะเห็นคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ถูกดึงตัวเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริษัท ถ้าใครยังไม่ทำตรงนี้ จะถือว่ายังไม่ได้ใส่ใจมากพอกับการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในโลกดิจิทัล หรือ Digital Transformation ที่พูดๆ กันมาตลอด”
ไม่ว่าจะ Disrupt แรงแค่ไหน “คนยังสำคัญที่สุด เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเสมอ”
หัวข้อต่อมาที่สนทนาต่อเนื่องจากเรื่ององค์กรคือเรื่อง “คน” วิวาทะที่มักจะโผล่มาเสมอ ไม่ว่าองค์กรนั้นจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ก้าวเดิน หรือกำลังไปต่อ
คำตอบของ ธีรนันท์ บอกชัดว่า ต้องให้ความสำคัญกับคนก่อน “เทคโนโลยีเปลี่ยนรูปเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจมลงไปกับเทคโนโลยีอันหนึ่ง เชื่อในเทคโนโลยีนี้มากๆ ลงไปลึกๆ แต่อีก 3 ปีมันอาจจะไม่สำคัญแล้วก็ได้ ดังนั้น เราต้องมีคนในองค์กรที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง แต่ขณะเดียวกันต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่จะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเราพบว่าเทคโนโลยีนั้นได้เปลี่ยนรูปไปแล้วอย่างสิ้นเชิง”
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไว ส่วนคนในองค์กรก็ต้องตามให้ทัน ธีรนันท์ เน้นย้ำถึง 4 ข้อสำคัญในการพัฒนาคนและองค์กรให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล พร้อมระบุว่า “ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน หากต้องการปรับตัว ต้องแตะ 4 ข้อนี้”
- ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี ข้อนี้สำคัญ เพราะธุรกิจไทยส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ดีพอ จากประสบการณ์พบว่า ผู้บริหารในหลายวงการยังมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่จำกัดมาก ดังนั้นการนำเอาคนที่เข้าใจในเทคโนโลยีเข้าไปนั่งในคณะกรรมการ หรือหาบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยเร่งการปรับตัวของบริษัทได้
- กลยุทธ์และรูปแบบการจัดการองค์กร เช่น ระบบโครงสร้างการประเมินผล การติดตามผลงาน รูปแบบการวางความรับผิดชอบ การจัดทีมงาน สิ่งเหล่านี้ต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล เป็นต้นว่า ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมในการกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างไร
- คนที่มีทักษะในองค์กร แต่ละบริษัทต้องหันมาตรวจสอบตนเองว่า มีคนที่มีทักษะเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องเร่งเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกัน คนที่มีอยู่แต่ขาดทักษะในส่วนไหน บริษัทต้องเร่งเสริมให้มีทักษะที่จำเป็น เช่น ความรู้เรื่องการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี
- วัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) ข้อนี้บริษัทต้องกลับมาทบทวนว่า ในองค์กรของตนมีวัฒนธรรมที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ต้องรีบปรับเปลี่ยนโดยเร็ว
4 อุตสาหกรรมไทยที่ต้องพร้อมรับมือกับโจทย์ใหญ่ Digital Transformation
ที่พูดกันมาเสมอว่า เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ธุรกิจที่ยังคิดแบบเดิมจะไปไม่รอด แต่คำถามคือ แล้วมีธุรกิจใดบ้างที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในยุคดิจิทัล ธีรนันท์ บอกว่า ขอตอบจากประสบการณ์ตรงผ่านการเป็น “เพื่อนซีอีโอ” ใน 4 วงการธุรกิจไทย ดังต่อไปนี้
อสังหาริมทรัพย์กับโจทย์ใหญ่ในอนาคต “เรายังจำเป็นต้องเป็นเจ้าของบ้านอยู่หรือไม่?”
ธีรนันท์ บอกว่า แม้อสังหาริมทรัพย์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ถึงกับเป็นดิจิทัลมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ เทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนที่เป็นผลโดยอ้อมต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
“การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์คือเรื่องใหญ่ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล” เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ค่านิยมก็เปลี่ยน คำถามใหญ่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคนี้และยุคต่อไปคือ คนเมืองแบบเรายังจำเป็นต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง หรือเป็นเจ้าของบ้านอยู่หรือไม่ และนิยามคำว่าบ้านหรือลักษณะของที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร
การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพอย่าง Airbnb อาจจะพอบ่งชี้แนวทางต่อคำถามข้างต้นได้อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่สำหรับธีรนันท์ เขามองว่า วงการนี้จะยังไม่ถูกกระทบโดยกระแสดิจิทัลเร็วมากนัก “เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มี Hard Asset เยอะ จะมีการลงทุนสูงอยู่แล้ว ฉะนั้นโดยธรรมชาติจะค่อยเป็นค่อยไป เพราะมันมีรอบเวลาในการเปลี่ยนเทคโนโลยีอยู่ แต่พอถ้าถึงรอบแล้ว เราจะต้องหันเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างทันท่วงที”
Oil & Gas กับการผนวกเทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการผลิต
สำหรับอุตสาหกรรม Oil & Gas ธีรนันท์ มองว่า ถึงที่สุดก็ต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะในด้านกระบวนการการผลิต การควบคุมคุณภาพ และการใช้ทรัพยากรของโรงงานกลั่น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนำเอาเทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การนำเอา Industrial Internet มาใช้งานในรูปแบบของ IoT เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ในโรงงาน ทำให้เกิดความแม่นยำและประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น (เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น Brand Inside เคยคุยกับ MD ของปตท. ว่าด้วยเรื่องการที่จะนำเอา IoT, AI, Blockchain, Chatbot และ Big Data เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมภายในปี 2018 อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรืออ่านเรื่องการนำเอา Industrial Internet of Things หรือ (IIoT) เข้ามาใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท.)
ธีรนันท์ เล่าให้ฟังต่อว่า โจทย์ของวงการนี้คือการลงทุนในทางกายภาพที่สูง คล้ายกับวงการอสังริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นการ Disrupt ที่จะเกิดขึ้น จึงต้องใช้เวลานาน (กว่าธุรกิจอื่น) โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและวิจัยว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่
“ผมคิดว่ายังพอมีเวลา อุตสาหกรรม Oil & Gas มีการลงทุนในแง่กายภาพสูง และเป็นธุรกิจที่มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมาเปลี่ยนได้อย่างไร แต่เปลี่ยนแน่ๆ และคนที่ก้าวผ่านสำเร็จก่อนใครก็จะได้เปรียบมหาศาล”
ค้าปลีกกับความท้าทายในโลกอีคอมเมิร์ซ
ถ้าถามว่าวงการไหนถูก Disrupt แรง เร็ว และมากที่สุด คงหนีไม่พ้นวงการค้าปลีก คำถามง่ายๆ คือ การที่ผู้คนหันไปซื้อของออนไลน์ หมายความว่าอย่างไรกับวงการค้าปลีกแบบดั้งเดิมทั้งหลาย ยังไม่ต้องนับรวมไปถึงพื้นที่ Shopping Center ที่นับวันจะหายไป (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน วงการนี้ถือว่าเปลี่ยนเร็วที่สุดและต้องรับมือให้ไวที่สุด “ธุรกิจที่เป็นตัวกลางและธุรกิจบริการจะได้รับผลกระทบที่แรง ค้าปลีก กระแสอีคอมเมิร์ซ กระทบเร็วและแรง”
ทางออกของวงการค้าปลีกคือการรับเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเข้าใจและปรับตัวตามให้ทัน แต่ที่น่าสนใจคือในวงการนี้มี Disruptor ที่แข็งแกร่งจากต่างชาติได้เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Lazada จาก Alibaba หรือ 11 street ยังไม่นับ Amazon จากฝั่งตะวันตกที่มาลุยในเอเชียด้วยการบุกสิงคโปร์เป็นที่แรกในภูมิภาค คำถามคือ ด้วยเงินทุนที่หนาและเทคโนโลยีที่แกร่งกว่า ธุรกิจไทยจะรับมือกับการแข่งขันได้อย่างไร?
ธีรนันท์ ตอบแบบนี้ว่า “ถ้าเรามองจากมุมของเทคโนโลยี เราจะได้ความรู้สึกแบบนั้น แต่ผมคิดว่าธุรกิจไทยยังมีข้อได้เปรียบ ในหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค มันเป็น Local แต่ทีนี้จะสู้คนจีนก็ต้องใช้คนจีน จะสู้กับคนรัสเซียก็ต้องใช้คนรัสเซีย ประเด็นของผมคือ เราสู้กับเขาได้ด้วยการจับมือทำ Partnership กับเขา ผมไม่เชื่อว่าในโลกใหม่ จะมีใครที่บอกว่า ฉันมาแล้วฉันชนะทุกอย่าง (ในแง่นี้ยกเว้นธุรกิจแบบ Google หรือ Facebook ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ Unique มาก) แต่ถ้ารู้ว่าสู้ตรงๆ ไม่ได้ ทำไมเราไม่ทำอะไรที่สนับสนุนเขา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ของเขา”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นของวงการค้าปลีกที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ หัวใจสำคัญคือการเข้าใจ Insight ในพฤติกรรมของผู้คนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมที่เข้าคู่กันมากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างโลจิสติกส์ก็ต้องปร้บตัวไม่น้อย “ยกตัวอย่างเช่นโลจิสติกส์ เมื่อก่อนคนขนของ ก็ขนกันครั้งหนึ่งล็อตใหญ่ๆ ตอนนี้คนซื้อของออนไลน์ เหลือชิ้นนิดเดียว แค่นี้มันก็เปลี่ยนโมเดลของการทำงานอย่างสิ้นเชิง เมื่อก่อนส่งของใหญ่ๆ 10 ที่ ส่วนสมัยนี้ส่งของเล็กๆ 100 ที่ วิธีการบริหารจัดการเปลี่ยนหมด ระบบเทคโนโลยีที่มาจัดการ หรือวัฒนธรรมการให้บริการก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมด”
การเงินกับการแข่งขันที่ดุเดือด แบงค์ไทย VS ฟินเทคต่างชาติ ใครเร็วกว่า ชนะ
อีกหนึ่งภาคที่เจอกับการ Disrupt อย่างรุนแรงคือ ภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน แต่ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารแบงค์ มองว่า “ภาคการเงินธนาคารไทยเป็นภาคที่ค่อนข้างมีความเข้าใจใน Digital Transformation ดีอยู่แล้ว สิ่งที่จะเห็นในปี 2018 คือ การชิงตัวคนไอทีเก่งๆ และคนที่มี Technical Skill เช่น Product Manager ในสถาบันการเงิน”
ส่วน Fintech ที่เข้าจะมา Disrupt ภาคการเงินธนาคารของไทย ธีรนันท์ มองว่า จะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงกับธนาคาร แต่การแข่งขันที่ดุเดือดจะเป็นธนาคารกับธนาคารมากกว่า เพราะประชาชนคนไทยทั่วไปไม่ได้รู้สึกแย่กับธนาคารในระดับที่ทนกันไม่ได้เหมือนอย่างในหลายประเทศฝั่งตะวันตก “ต้องยอมรับว่าแบรนด์ของแบงค์ในประเทศไทยยังแข็งแรงมาก” และที่สำคัญ Regulator ของไทยสะดวกใจกว่าที่จะทำงานร่วมกับธนาคารมากกว่าสตาร์ทอัพ
“ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเห็นภาคการเงินไทยในปี 2018 คือเราน่าจะเห็นการจับมือกันระหว่างแบงค์กับฟินเทคมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะในแง่การตั้งทีมฟินเทคขึ้นมา เพราะการแข่งขันเพื่อรู้แพ้ชนะของภาคการเงินจะขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกับฟินเทค เพียงแต่ว่าในปี 2018 เราจะยังเห็นการประกาศความร่วมมือเท่านั้น ส่วน Real Partnership Deal จริงๆ จะยังไม่เยอะมาก เพราะผมเชื่อว่าแบงค์อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีในการปรับตัวเพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า Technology Partnership แบบจริงๆ จังๆ ซึ่งแบงค์ไม่คุ้นเคยมาก่อน แต่คนที่ทำได้ดีก็มีโอกาสชนะในระยะยาว”
พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะได้เห็นการต่อสู้กันของ Fintech แบบ B2B มากกว่า B2C ในประเทศไทย แต่ในศึกครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าทุกๆ แบงค์จะเป็นผู้ชนะ “ผมเชื่อว่าจะมีแบงค์หลักบางแห่งที่ไม่ได้เป็นผู้ชนะ เพราะมีพื้นฐานไม่ดีพอและแข่งขันในรูปแบบใหม่ไม่เป็น”
ถ้าพูดในระดับการแข่งขันที่ใหญ่กว่านั้น ธีรนันท์ บอกว่า ฟินเทคไม่ใช่คู่แข่งของแบงค์ไทยแน่ แต่ที่น่ากลัวคือคู่แข่งที่มาจากธุรกิจอื่น ที่แต่เดิมไม่ได้มาจากภาคการเงิน แต่กระโดดเข้ามาเล่นด้วย วิธีการที่จะสู้ได้ คือธนาคารไทยต้องเข้าไปผลักดันให้เกิด Fintech ที่ประสบความสำเร็จเพื่อมาเป็นพันธมิตรของธนาคาร ธนาคารไทยต้องมีส่วนในการสร้างนวัตกรรมและทำให้เกิด ecosystem เพื่อให้ภาคการเงินพร้อมจะแข่งขันได้กับธุรกิจที่จะเข้ามา Disrupt ภาคการเงิน “และนั่นอาจจะเป็นโอกาสเดียวที่ภาคสถาบันการเงินไทยจะยังคงอยู่รอดได้ในระยะยาว”
ส่วนเรื่อง Blockchain ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เท่านั้น แต่ยังมีระบบ Blockchain ที่อยู่เบื้องหลัง “ปี 2016 กับปี 2017 คือปีที่ Blockchain เพิ่งเข้าห้องแล็บ แต่ปี 2018 ผมเชื่อว่า Blockchain จะถูกปล่อยออกมาจากแล็บโดยสถาบันทางการเงิน อย่างน้อยๆ น่าจะมี 2-3 รายที่ซุ่มทำ Blockchain กันอยู่”
นอกจากนั้น เขายังปิดท้ายถึงเรื่องสกุลเงินดิจิทัลไว้เล็กน้อยด้วยว่า “ICO กับ Cryptocurrency จะเป็นประเด็นที่ถูกทะเลาะถกเถียงกันเต็มไปหมด แต่สุดท้ายก็อาจยังไม่มีใครรู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี และจะเดินไปยังไงต่อ อันนี้เป็นการคาดการณ์ที่จะได้เห็นในปี 2018”
ห่วงอะไรกับธุรกิจไทยในปี 2018 (และต่อจากนี้) มากที่สุด?
“ผมห่วงเรื่องที่เราไม่มี Skilled Resources ที่มากพอ”
ธีรนันท์ เน้นว่า วงการธุรกิจไทยยังขาดระบบที่ดีในการเฟ้นหาและสร้างคนมีทักษะ ยกตัวอย่างเช่น จนถึงปัจจุบันนี้สังคมไทยยังไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนในการดึงดูด Technology Player และ Technology Entrepreneur ที่เป็นคนต่างชาติ เพราะเรายังอยากสนับสนุนสตาร์ทอัพที่เป็นคนไทยมากกว่า และเรายังรู้สึกว่า เรามีทรัพยากรที่จำกัด คือถ้าเลือกได้ ขอสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยก่อนดีกว่า แต่ปัญหาที่เห็นคือ “เราไม่ได้มีฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งพอ” และ “ไม่ได้มีสตาร์ทอัพไทยที่มีความสามารถพอที่จะให้เข้าไปช่วยมากขนาดนั้น” และดังนั้นถ้าโจทย์ของไทยคือการสร้าง ecosystem ที่แข็งแกร่ง ผมว่าควรที่จะหาวิธีดึงดูดคนเก่งๆมาจากต่างประเทศและผสมสตาร์ทอัพต่างชาติเข้ามาในวงการธุรกิจไทยด้วย เพื่อให้เขามาช่วยให้เราเก่งขึ้น
นอกจากนั้น ธีรนันท์ ยังได้เล่าถึง 3 ทักษะที่สำคัญและธุรกิจไทยยังต้องการอีกจำนวนมากเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน “ผมคิดว่าถ้าเมืองไทยโฟกัสใน 3 ทักษะนี้ เราน่าจะยืนอยู่ในโลกดิจิทัลได้ในระยะยาว” อย่างแรกคือ การเขียนโปรแกรมในรูปแบบใหม่ ข้อนี้มีความสำคัญต่อธุรกิจมาก และที่สำคัญการเขียนโค้ดมีพัฒนาการ “เราอาจจะบอกว่าคนอินเดียเขียนโค้ดมานานแล้ว เราคงสู้ไม่ได้หรอก แต่ผมคิดว่า เรายังต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป การเขียนโค้ดแบบอินเดียอาจจะไม่สำคัญแล้วก็ได้ เพราะมีการเขียนโค้ดในรูปแบบใหม่” (อ่านข่าวในวงการวิศวกรไอทีอินเดียปัจจุบันเพิ่มเติมได้ที่นี่) ส่วนทักษะต่อมาคือ Analytics โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัลผ่านเครื่องมือใหม่ๆ เช่น AI เป็นต้น และอย่างสุดท้ายคือ Cyber Security ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก
ธีรนันท์ ทิ้งท้ายบทสนทนาไว้น่าสนใจว่า “องค์กรที่เปลี่ยนได้ไว กล้าตัดสินใจ กล้ารับของใหม่ กล้าทิ้งของเก่า ก็จะมีโอกาสอยู่รอดได้ และนี่เองที่คือหัวใจของ Digital Transformation”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา