ใหญ่แค่ไหนก็ต้องปรับตัว! กลุ่มปตท. วางกลยุทธ์ใหม่ ใช้เทคโนโลยีนำ ปีหน้าลงทุนดิจิทัลกว่า 500 ล้านบาท

กลุ่มปตท. ปรับกลยุทธ์องค์กร ใช้ PTT DIGITAL เป็นตัวนำทิศทางธุรกิจในโลกที่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี ปี 2018 จะลงทุน 500 ล้านบาท คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี จะลดต้นทุนของทุกองค์กรในกลุ่มปตท. ได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

กลุ่มปตท. เดินเกมเทคฯ เอา IoT-AI-Blockchain-Chatbot-BigData มาครบ

หลังจากที่ กลุ่มปตท. เริ่มชัดเจนแล้วว่าจะปรับองค์กรให้เข้ากับกระแสการ disrupt ของเทคโนโลยี กลุ่มปตท. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานใหม่ที่มาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเดิมจากบริษัท พีทีที ไอซีทีโซลูชั่น จำกัด หรือ PTT ICT มาเป็น บริษัท พีทีทีดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด หรือ PTT DIGITAL เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อเท่านั้น แต่สิ่งที่กำลังจะทำต่างหากเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

“สำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เทคโนโลยีที่ใช้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นที่ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทัน” หนึ่งในบทสนทนาของ อรวดี โพธิสาโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) ผู้บริหารหญิงที่ดูแลฝ่ายดิจิทัลของกลุ่ม ปตท. โดยตรง

ซ้าย – อรวดี โพธิสาโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) กลาง – กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ที่เธอเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจ Oil&Gas ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดิม เพราะจนถึงทุกวันนี้ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของธุรกิจยังคงเป็นของเดิมในอดีต ทำมาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น “เอาเป็นว่า ตอนนี้เราใช้กันจนคุ้มหมดแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน เพราะโลกมันไปทางนี้”

สิ่งที่กลุ่มปตท. จะทำหลังจากนี้คือการนำเอาเทคโนโลยีมานำธุรกิจ เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของบริษัทจะไม่ใช่เพียงรับคำสั่งแล้วไปทำตาม แต่ฝ่ายเทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร พูดในเชิงกลยุทธ์ก็คือการนำเอาทีมที่ทำงานหลังบ้าน คอยสนับสนุนหน่วยต่างๆ ของกลุ่มปตท. ขึ้นมาเป็นตัวนำที่จะเป็นหน่วยสำคัญในการชี้ทิศทางขององค์กร

เทคโนโลยีที่กลุ่ม ปตท. จะนำมาใช้ในองค์กรประกอบไปด้วยดังนี้

  • Big Data Analytics และ Cloud ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกยุคที่ Data มีมูลค่ามหาศาล แต่ถ้าพูดแบบนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้วคงไม่มีใครเข้าใจ กลุ่มปตท. จะใช้การเก็บข้อมูลมหาศาลนี้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าให้แม่นยำขึ้น อย่างเช่น การนำไปใช้ในปั๊มน้ำมัน มากกว่านั้นจะนำไปใช้วางแผนการตลาดระยะยาวก็ได้ ส่วนเรื่อง Cloud กลุ่มปตท. ก็มีหลายองค์กรได้แก่ PTT  PTTGC  PTTEP TOP IRPC และ GPSC หลังจากนี้ทุกองค์กรจะใช้ Cloud ร่วมกัน ดึงข้อมูลผ่านกันได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองต้นทุนอย่างที่ผ่านมา
  • Blockchain กลุ่มปตท. บอกว่า ในขั้นแรกที่ทำได้จะนำไปทำกับเรื่องเอกสารก่อน อย่างเช่น E-Bank Guarantee หรือหนังสือค้ำประกันออนไลน์ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลา เพราะรวดเร็ว แถมยังโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มปตท. มีการเปรยว่าอาจจะนำเอาตัว Blockchain ไปทำเป็นสกุลเงินของกลุ่มปตท. แล้วใช้จ่ายกันเองในองค์กร ลดการเสียค่า transaction ไปกับธนาคาร ฟังดูแล้วโมเดลก็คือจะทำ Bitcoin ในสกุลเงินของกลุ่มปตท. นั่นเอง (แต่ขอย้ำว่าอันนี้เป็นโมเดลเท่านั้น ยังไม่มีการทำจริง เพราะจะมีข้อจำกัดด้านระเบียบข้อกฎหมายด้วย)

  • IoT ไม่ว่าจะวงการไหนก็ต้องพูดเรื่องนี้ นั่นคือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต แล้วสั่งให้ทำงานแทนคนได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ของกลุ่มปตท. ที่จะเอามาใช้ก็คือ ต่อไปอาจมีอุปกรณ์หนึ่งตัวที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วติดไว้ที่ถังน้ำมันรถ แล้วพออุปกรณ์เตือนว่าน้ำมันจะหมด เมื่อเข้าไปเติมน้ำมัน อุปกรณ์ของเราจะสื่อสารกับอุปกรณ์ของสถานีจ่ายน้ำมัน แล้วรู้เลยว่าต้องเติมเท่าไหร่ถึงจะเต็ม ส่วนเราในฐานะผู้ใช้งานก็รอจ่ายเงินอย่างเดียว ที่ต้องสังเกตให้ดีคือ ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ต้องมีมนุษย์เป็นตัวกลางในการทำงานเลย เพราะระบบทำแทนให้ได้หมด และแน่นอนว่าความแม่นยำนั้นมีสูงกว่ามนุษย์หลายเท่า
  • AI และ Chatbot อันนี้ก็เป็นการต่อยอดระบบอัตโนมัติให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เป็นตัวกลางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามปัญหา โปรโมชั่น หรือคำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา กลุ่มปตท. เชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ทั้งหมด ส่วนพนักงานที่เป็นมนุษย์ก็ต้องเร่งเสริมทักษะให้สูงขึ้น แล้วไปทำงานยากๆ ที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้
โมเดลหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยของกลุ่มปตท. โดยจะมาแทนที่ รปภ. ที่เป็นมนุษย์

ส่วนในเรื่องงบประมาณกลุ่มปตท. วางแผนว่า จะใช้เงินกว่า 500 ล้านบาทในปี 2018 เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรคือ นอกจากจะต้องตามโลกที่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีให้ทันแล้ว การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรจะเป็นการ “ลดต้นทุน” อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในส่วนนี้กลุ่มปตท. มีการคาดการณ์ว่า จะช่วยลดต้นทุนได้ถึงกว่า 30,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีหลังจากนี้

เปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนยากที่สุดคือ Mindset ของคน

ผู้บริหารของ ปตท. อีกคนหนึ่งที่มาร่วมงานด้วยคือ กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี หลายระบบมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรากล้านำมาใช้หรือเปล่า จะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยน Mindset (ชุดความคิด) ของคนยากที่สุด ทุกวันนี้หลายธุรกิจถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี เราเลยต้องเปลี่ยน Mindset ของคนในองค์กรให้ได้ ก่อนที่เราจะไป disrupt ธุรกิจอื่นๆ เราต้อง disrupt ตัวเราเองและคนในองค์กรของเราก่อน”

นอกจากนั้น เขายังบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็ไม่ง่าย แต่จำเป็นต้องทำ “ทุกวันนี้เราพูดถึง Thailand 4.0 แต่ Mindset คนไทยยัง 0.4 แสดงว่าเรายังขาดอยู่ 3.6 ถามจริงๆ ทุกวันนี้ยังมีใครต้องไปชำระเงินราชการที่สำนักงานเขตอยู่บ้าง ถ้าใครยังทำคือคุณสอบตก Mindset คุณไม่ผ่าน สิ่งนี้สำคัญ”

Thailand 4.0 บอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูอย่างตอนขึ้นทางด่วน เรามีทั้งช่อง easy pass กับช่องจ่ายเงินสด ถ้าเราไม่หักดิบ ไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยน ก็จะสร้าง cost ที่ไม่จำเป็น อย่างเรื่องทางด่วนถ้าไปดูระบบวุ่นวายมาก เพราะต้องมีทีมงานดูแล 1 ระบบ อย่างน้อยก็ต้องแบ่งเป็น 2 ทีม เพราะว่าเรายังยอมให้จ่ายเงินต่างกันอยู่”

“การเปลี่ยนแปลงต้องกล้าทิ้งของเก่า บางครั้งก็ทุกข์ทรมาน แต่ผมเชื่อว่า เราจะผ่านมันไปได้”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา