คุยกับ “ปรีดี ดาวฉาย” เรื่องของธนาคารไทยและเรื่องร้อนๆ อย่างการยกเลิกค่าธรรมเนียม

วันนี้ทาง Brand Inside ได้เป็นเกียรติที่ได้เข้าฟังมุมมองของประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งคุยถึงเรื่องมุมมองและบทบาทของธนาคารไทย และรวมไปถึงเรื่องร้อนๆ ล่าสุดอย่างการลดค่าธรรมเนียมด้วย

มุมมองของ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยได้เล่าถึงมุมมองทางด้านเศรษฐกิจของไทย ที่ยังมองว่าปีนี้มีตัวเร่งในหลายๆ เรื่อง และรวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธนาคารไทย หลายๆ ด้าน ซึ่งรวมไปถึงการปรับตัวของธนาคารไทย และสนับสนุนเรื่องของสังคมไร้เงินสด

มุมมองเรื่องของเศรษฐกิจไทย

ปรีดี ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ในระดับดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลดีหลักๆ จากเรื่องของการส่งออกและรวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยมากขึ้น

สำหรับในปีนี้นั้นทางสมาคมธนาคารคาดหวังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะได้แรงผลักดันจากเรื่องของรัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่เรื่องของ EEC โดยคาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ในกรอบ 3.5-4.5% ส่วนเรื่องของการเลือกตั้งจะช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย

ความเสี่ยงในเรื่องของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ปรีดี กล่าวว่ามีเรื่องการกีดกันทางการค้า ปัญหาหนี้ในครัวเรือน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และรวมไปถึงความไม่แน่นอนของเรื่องราคาสินค้าเกษตร

ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของไทยยังทำให้การจับจ่ายใช้สอยยังไม่ค่อยดี (ภาพจาก Shutterstock)

ภาพรวมของภาคธนาคารไทยในปีที่ผ่านมา

ผลกระทบของเศรษฐกิจในปีที่แล้วส่งผลต่อมาตรวัดของธนาคารพาณิชย์ในไทยเช่นกัน เช่นเรื่องของ NPL โดยสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.08% ส่วนเรื่องของการตั้งสำรองหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้กำไรสุทธิลดลง ขณะที่เรื่องของค่าธรรมเนียมเติบโตชะลอตัวลง

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปีที่ผ่านมาคืออัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อ โดยปีที่แล้วมีอัตราเจริญเติบโตที่ 4.6% ซึ่งทางสมาคมคาดว่าปีนี้จะโตได้ถึง 4.8%

คนไทยใช้ Mobile Banking สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทยเผยว่า 6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2553-2559 ธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ของคนไทยเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 82% ส่วนทางด้าน Internet Banking เติบโตเฉลี่ยปีละ 13% ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตของการใช้บริการผ่านสาขานั้นลดลงเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเทรนด์ที่แน่นอนแล้วว่าการใช้ Mobile Banking ของไทยในอนาคตนั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เราอาจได้เห็นภาพการรอที่สาขาของธนาคารเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว (ภาพจาก Shutterstock)

ความท้าทายในอนาคต

ประธานสมาคมธนาคารไทยมองว่าในอนาคตมีหลายๆ เรื่องที่เป็นความท้าทายที่รออยู่ เช่น

  • เรื่องของ National e-Payment ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมมากขึ้น
  • เทคโนโลยีและการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีรูปแบบในการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป
  • คู่แข่งที่มาจากต่างธุรกิจกัน ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น
  • เรื่องของมาตรฐานทางบัญชี ทำให้ต้องมีการสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มมากขึ้น

โดยเรื่องอื่นๆ ที่ประธานสมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยี เช่น การทำให้ระบบ PromptPay มีเสถียรภาพมากกว่านี้ ซึ่งต้องทำให้ทุกคนมีความมั่นใจกับเรื่องนี้มากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องของ Blockchain ในเรื่องของการทำหนังสือค้ำประกัน เป็นต้น

ประเด็นร้อนเรื่องการลดค่าธรรมเนียม

หลังจากหลายๆ ธนาคารในช่วงวันที่ผ่านมาเริ่มมีการประกาศลดค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นประเด็นร้อนว่าทำไมธนาคารถึงต้องทำแบบนี้ ทางประธานสมาคมธนาคารไทยได้มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน

ปัจจุบันปัญหาของธนาคารคือการบริหารต้นทุนเรื่องของเงินสด ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับเรื่องของค่าธรรมเนียมของธนาคาร แต่หากเป็นเรื่องดีแก่กับทุกคนแล้วก็สมควรที่จะทำ ส่วนรายได้ที่หายไป ธนาคารจะต้องหารายได้อื่นๆ มาบริหารเพิ่มเติม

ปรีดี ยังได้กล่าวเสริมว่า แต่ในเรื่องของการที่แข่งกันไม่เก็บค่าธรรมเนียมนั้นเป็นเรื่องระหว่างธนาคาร ทางสมาคมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • เรื่องของการขาดทรัพยากรคนโดยเฉพาะเรื่องของสายไอที ซึ่งปรีดีมองว่าความต้องการยังไงก็ไม่มีทางพอ และทุกคนอยากได้
  • การรองรับการเปลี่ยนแปลงของธนาคารในอนาคตคือเรื่องของการฝึกอบรมพนักงาน
  • เรื่องของ Banking Agent ที่เคยเป็นประเด็นนั้น อาจเห็นแล้วว่าการลดค่าธรรมเนียมจะช่วยมาก และ Banking Agent จะช่วยให้พื้นที่ห่างไกลเข้าถึงธนาคารมากขึ้น
  • Private Bank คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยธนาคารได้ในอนาคต
  • เรื่องของการเก็บภาษี 15% ของการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ คิดว่าธนาคารไม่ได้รับผลกระทบ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ