ศึกแย่งคนเก่ง ไต้หวันสั่งห้ามบริษัทจัดหางาน ดึงดูดคนมีความสามารถในประเทศ ไปทำงานในจีน

กันไม่ให้คนเก่งออก ปกป้องอุตสาหกรรมชิปในประเทศ

กระทรวงแรงงานของไต้หวันสั่งให้บริษัทจัดหางานในประเทศ ลบโพสต์รับสมัครงานในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องการให้แรงงานทักษะสูงไหลออกนอกประเทศ

ที่หนักกว่านั้นคือ คำสั่งของทางการไต้หวันในครั้งนี้ ไม่ได้ห้ามแค่บริษัทจีนที่จะดึงดูดคนเก่งในไต้หวันเท่านั้น แต่รวมไปถึงบริษัทไต้หวันที่มีโรงงานในจีนอย่าง Foxconn และ Pegatron บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ก็ไม่สามารถโพสต์รับสมัครงานดึงดูดคนไต้หวันไปทำงานได้อีกแล้ว

การประกาศแบนของไต้หวันมีผลในทุกอุตสาหกรรม แต่ถ้าจับได้ว่าเป็นการดึงดูดคนจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อย่างการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์จะมีโทษที่หนักหนาสาหัส

ในรายงานระบุว่า 104 Job Bank หนึ่งในบริษัทแพลตฟอร์มด้านการจัดหางานในไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia บอกว่า ตั้งแต่รู้ข่าวว่าทางการไต้หวันสั่งห้าม ทางบริษัทเร่งดำเนินการทันที เพราะไม่ต้องการฝ่าฝืนกฎหมาย  และนับตั้งแต่มีคำสั่งของทางการไต้หวัน โพสต์หางานในแพลตฟอร์มของบริษัทก็ลดลงกว่าครึ่ง จากเดิมที่มีการรับสมัครงานคนไต้หวันมาทำงานในจีน 3,774 โพสต์บนแพลตฟอร์ม เหลือเพียง 1,872 โพสต์เท่านั้น

Close up Macro shooting of computer main board or circuit board’s integrated elements. Made in Taiwan, Science and Technology concept. Shallow depth of field and copy space.

จีนดึงคนในอุตสาหกรรมชิปจากไต้หวันมาเสมอ

รายงานของ Nikkei Asia อ้างอิงข้อมูลในปี 2020 ระบุว่า อดีตพนักงานของ TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวันกว่า 100 คนย้ายไปทำงานให้กับบริษัทจีน เป็นต้นว่า QXIC บริษัทผู้ผลิตชิปในจีนที่มีรัฐบาลสนับสนุน

ส่วนบริษัทผู้ผลิตมือถือจากจีนอย่าง Xiaomi และ Oppo ที่ดึงเอาคนจาก MediaTek บริษัทผู้ผลิตชิปมือถือรายใหญ่ของโลกจากไต้หวันไปจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จีนอย่าง Luxshare-ICT ก็ดึงคนจาก Foxconn บริษัทผู้ผลิตชิปของไต้หวันเข้าไปทำงาน

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

ทำไมจีนต้องดึงคนเก่งเข้าประเทศ

การที่จีนต้องเร่งเครื่องเฟ้นหาวิศวกร โดยเฉพาะคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ต้นเรื่องในปี 2018 ที่สหรัฐอเมริกาพบว่า จีนมีความพยายามต้องการขโมยเทคโนโลยีของบริษัทเอกชนในประเทศ ส่งผลให้ในท้ายที่สุดจีนได้รับผลกระทบในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการสั่งแบนหัวเว่ย

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตชิปที่เกิดวิกฤตชิปหายในช่วงหลังมานี้ แน่นอนว่า เป็นผลกระทบจากสงครามการค้า วิกฤตโควิดที่กระทบการผลิตในแทบทุกอุตสาหกรรม และความต้องการชิปของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อนแรง

แผนสำคัญของจีน จึงเป็นการหันไปดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตชิปเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น 

สรุป

ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันพุ่งสูงขึ้นมาก ไม่ใช่แค่ในด้านการดึงดูดคนเก่งคนมีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ แต่ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ ไม่นานมานี้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ระอุขึ้น เมื่อจีนได้ส่งเครื่องบินรุกน่านฟ้าไต้หวัน จนด้านของสหรัฐอเมริกาที่นำโดยโจ ไบเดนต้องออกมาปกป้อง ส่วนด้านของจีนออกมาบอกสหรัฐอเมริกาว่าอย่าเล่นกับไฟ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงในแง่ธุรกิจ ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จีนต้องการสร้างอุตสาหกรรมชิปขึ้นมาเอง ด้วยการดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้าประเทศ ในอนาคตจะได้พึ่งพาคนอื่นน้อยลง

อ้างอิง – Nikkei Asia, SCMP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา