ผลสำรวจเผย โควิดลดลงแต่ภาวะหมดไฟกลับเพิ่มขึ้น หรือต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการหมดไฟแทนที่จะพยายามกำจัดออกไปให้ได้

โควิดลดลง ใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น แต่คนกลับหมดไฟเพิ่มขึ้น แถมการทำงานแบบยืดหยุ่นก็ทำให้งานหนักขึ้นอีก หรือภาวะหมดไฟจะไม่มีทางแก้ไขได้

เรารู้จักภาวะหมดไฟในการทำงานหรือ Burnout Syndrome กันเป็นอย่างดีตั้งแต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางมาตรการกักตัวและความกังวลว่าจะติดโรคตัวเองและคนรอบข้าง ก็เป็นเรื่องไม่แปลกที่จะทำให้รู้สึกเครียดและนำไปสู่อาการหมดไฟในที่สุด

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือหลังจากผ่านช่วงโควิด-19 มา 3 ปีแล้ว ผลสำรวจจาก Future Forum องค์กรที่ปรึกษาด้านสังคมและเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 กลับพบว่าพนักงานกลับมีอาการหมดไฟเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิด

Future Forum ได้สำรวจความคิดเห็นของพนักงานทั่วโลกจำนวน 10,243 คน พบว่าพนักงาน 42% เผยว่าตนเองมีภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2021

โควิด-19 บรรเทาลงแล้ว แต่ทำไมอาการหมดไฟไม่ได้ลดลงด้วย หรือนี่เป็นสัญญาณว่าอาการหมดไฟอาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการหมดไฟแทนที่จะพยายามกำจัดมันทิ้งไป…

ภาะวะหมดไฟอยู่กับเรามานานแล้ว

หากจะบอกว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานหมดไฟในการทำงานก็คงจะไม่ถูกซะทีเดียว หากเรียกว่าเป็น ‘ตัวเร่ง’ หรือ ‘ตัวกระตุ้น’ อาการหมดไฟก็อาจจะดีกว่า เพราะ Burnout Syndrome มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว

ในปี 2018 การศึกษาจากสถาบันวิจัย Gallup ที่ศึกษาพนักงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 7,500 คนพบว่า พนักงาน 67% มีอาการหมดไฟ 

ในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดภาวะหมดไฟเป็น “ปรากฎการณ์ด้านการทำงาน” (Occupational Phenomenon) แทนที่จะเป็นอาการทางสุขภาพ

อาการหมดไฟในช่วงก่อนโควิด-19 เกิดจากวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมที่เชื่อมั่นในการทำงานหนักต่อเนื่อง ภาวะงานที่มากเกินไป และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี เพราะบริษัทมักจะคาดหวังให้พนักงานทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Alex Soojung-Kim Pang ผู้เขียนหนังสือชื่อ Rest: Why You Get More Done When You Work Less มองว่า องค์กรคาดหวังให้พนักงานทำงานหนักเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ปัดปัญหาอาการหมดไฟไว้ให้เป็นความรับผิดชอบของพนักงานที่จะต้องพยายามแก้ไขให้ได้ เขากล่าวว่า “อาการหมดไฟเป็นปัญหาในระดับองค์กรที่ถูกทิ้งไว้ให้พนักงานเป็นคนจัดการ”

ทำไมพนักงานมีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้น

ข้อแรก สภาพการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้พนักงานหาสมดุลไม่ได้

Sean Gallagher ผู้อำนวยการของศูนย์การศึกษาด้านแรงงาน (Centre for the New Workforce) ที่ Swinburne University of Technology ในประเทศออสเตรเลียเผยว่า ในช่วงที่โรคระบาดรุนแรงสูงสุด นอกจากพนักงานจะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตจากการกักตัวและความกังวลว่าจะตกงานหรือไม่แล้ว ยังต้องรับผิดชอบงานภายใต้วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปด้วย ทำให้คนจำนวนมากยังไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้เลย

ข้อที่ 2 การทำงานในสภาพที่ยืดหยุ่นมากขึ้นอาจหมายถึงการที่ต้องทำงานตลอดเวลา

ในขณะที่การทำงานที่บ้านสร้างความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็อาจจะแลกมาด้วยการทำงานหนักขึ้น ในเดือนเมษายนปี 2022 สถาบันวิจัย ADP Reserch Institute สำรวจพนักงาน 32,924 คนทั่วโลกพบว่า ในแต่ละสัปดาห์ พนักงานทำงานเกินไป 8.5 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เทียบกับช่วงก่อนโรคระบาดที่อยู่ที่ 7.3 ชั่วโมง

นอกจากนี้ การทำงานในช่วงกักตัว ยังทำให้พนักงานต้องเสียเวลาในการประชุมกันเพิ่มขึ้นในขณะที่ภาระงานก็ไม่ได้น้อยลง ทำให้เวลาที่จะทำงานลดลงอีก

ข้อที่ 3 บริษัทอาจใส่ใจในความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน แต่ให้สวัสดิการไม่ถูกจุด

Alex Soojung-Kim Pang มองว่าบริษัทอาจจะใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน แต่สวัสดิการที่บริษัทจัดหาให้กลับไม่ได้ช่วยลดภาวะหมดไฟลง แต่กลายเป็นเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้น่าทำงานมากขึ้นและส่งผลให้พนักงานทำงานหนักมากขึ้นอีก เช่น การให้สวัสดิการด้านอาหาร 

Sean Gallagher ยังมองว่าบริษัทมักไม่พยายามจัดการกับปัญหาพื้นฐานอย่างการลดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ภาระงานที่หนักเกินไป และการจัดการกับความไม่แน่นอนที่มาพร้อมกับการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่บริษัทกลับเลือกใช้วิธีที่แก้ปัญหาได้ชั่วคราวและผิวเผิน อย่างการแนะนำให้อออกกำลังกายหรือทำสมาธิ

การทำให้ภาวะหมดไฟหายไป ทำได้จริงหรือไม่?

นอกจากการทำงานเป็นกิจวัตรวนไปซ้ำ ๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมองว่ามีความเป็นไปได้ว่าภาวะหมดไฟจะยังคงเป็นปัญหาอยู่เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เพราะพนักงานยังต้องรับความกดดันจากงานเพื่อที่จะหาเงินมาตอบสนองค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความกังวลจากการปลดพนักงานที่เห็นได้จากบริษัทใหญ่ ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกถ้าภาวะหมดไฟในการทำงานจะเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม Alex Soojung-Kim Pang มองว่าปัจจุบันมีหลายยบริษัทที่ยอมรับว่าการจัดการกับภาวะหมดไฟไม่ใช่ปัญหาของพนักงานอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่บริษัทจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข อีกทั้งภาวะหมดไฟเองก็จะกระทบกับธุรกิจได้ในอนาคต

นอกจากการตระหนักรู้ของบริษัทเอง ในบางประเทศก็มีการใช้กฎหมายเข้าช่วย อย่างกรณีออสเตรเลีย ที่กฎหมายใหม่กำหนดให้ภาวะหมดไฟเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงาน ทำให้นายจ้างจะต้องหาวิธีลดความเครียดให้กับพนักงานทั้งจากการลดภาระงานและลดชั่วโมงการทำงานลง

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจากทั้งบริษัทและจากการบังคับใช้กฎหมายก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาและไม่สามารถการันตีได้ว่าบริษัททุกแห่งจะตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ Gallagher ก็ยังมองว่าการทำงานด้วยชั่วโมงที่ยืดหยุ่นก็สามารถช่วยได้หากลดภาระงานและชั่วโมงการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างได้จริง เพราะจะทำให้พนักงานไม่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา

ส่วน Pang มองว่า เราควรเปลี่ยนมุมมองความคิดที่จะกำจัดภาวะหมดไฟออกไป เป็นการคิดถึงความคุ้มค่าว่าความเหนื่อยหน่ายจากการทำงานที่ทำให้เสี่ยงต่อการหมดไฟจะคุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้ในเส้นทางการทำงานหรือไม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงยืนยันว่าเป้าหมายคือการแก้ปัญหาอาการหมดไฟให้ได้อยู่แม้ว่าจะฟังดูเป็นไปไม่ได้เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพนักงาน 

ที่มา – BBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา