ทำงานหนักจนเสียชีวิตคาโต๊ะ ลูกจ้างอย่างเราจะฟ้องได้ไหม? ถ้าฟ้องไม่ได้ จะได้สิทธิอะไรกลับไปบ้าง?

แรงงานย่อมต้องได้รับสิทธิและการคุ้มครองในการทำงาน ทำงานหนักจนเสียชีวิต พนักงานจะฟ้องร้องบริษัทได้ไหม

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจจอดับได้เปิดเผยว่า มีพนักงานในบริษัทโทรทัศน์ย่านพระราม 6 เสียชีวิตในขณะฟุบบนโต๊ะทำงานหลังจากทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยในโพสต์ระบุว่าบางครั้งผู้เสียชีวิตต้องทำงานควบ 2 ช่อง บางสัปดาห์ทำงานเกิน 5 วัน ไปจนถึง 7 วันเลยก็มี

ก่อนหน้ามีผู้พบเห็นว่าผู้เสียชีวิตฟุบบนโต๊ะทำงานและคิดว่าหลับจึงไม่ได้ปลุก จนแม่บ้านเป็นผู้พบว่าพนักงานรายนี้เสียชีวิตแล้วในช่วงเช้าวันถัดมา

เรื่องแบบนี้ทำให้หลายคนกังวลและเกิดการตั้งคำถามว่าฝ่ายลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองอย่างไรบ้างจากตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทนายพิพัชร์สร เสนาธรรมรักษ์ ทนายความด้านกฎหมายแรงงานและที่ปรึกษาอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและการพัฒนาองค์กรได้ให้ข้อมูลกับ Brand Inside ในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

การชดเชยค่าทำศพ

ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2564 กำหนดให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือทำงานปกป้องรักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างในอัตรา 50,000 บาท

ดังนั้น ไม่ว่านายจ้างจะมีการละเมิดสิทธิของลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ก็ตาม หากลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงาน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 50,000 บาทในทุกกรณี

นอกจากนี้ พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2561 ยังกำหนดไว้ว่ากรณีลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหายจากการปฏิบัติงาน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย 70% ของค่าจ้างรายเดือนให้ผู้มีสิทธิเป็นเวลา 10 ปี  เช่น ถ้าหากผู้เสียชีวิตมีรายได้ตามปกติ 15,000 บาทต่อเดือน จะได้ค่าชดเชยเดือนละ 12,300 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมมูลค่าทั้งหมด 1,476,000 บาท

การชดเชยตามสวัสดิการและการฟ้องร้อง

สำหรับการชดเชยเพิ่มเติมหรือกรณีฝ่ายลูกจ้างฟ้องร้องหากเข้าข่ายว่านายจ้างละเมิดสิทธิของลูกจ้างจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการทำงาน แบ่งได้เป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1: หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตในภาวะการทำงานปกติที่ชอบด้วยกฎหมายแรงงาน

จะไม่ถือว่านายจ้างละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น นอกจากค่าทำศพแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสวัสดิการตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทอย่างประกันสังคม ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือค่าชดเชยอื่น ๆ ตามที่บริษัทจัดหาให้ตามปกติ

กรณีที่ 2: หากเป็นกรณีที่ฝ่ายลูกจ้างเสียชีวิตจากการที่นายจ้างให้ลูกจ้างปฏิบัติงานผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

จะเข้าข่ายว่านายจ้างประมาทจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต ฝ่ายลูกจ้างสามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมายอาญามาตรา 291 ที่กำหนดว่าผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ 2 ฝ่ายลูกจ้างมีสิทธิฟ้องร้องได้ตั้งแต่กรณีโดนบังคับให้ทำงานหรือถูกข่มขู่ว่าจะเลิกจ้างและไม่เต็มใจจะทำ อย่างเช่นการที่ลูกจ้างขอลางานแล้วนายจ้างไม่อนุมัติให้ลา หรือบังคับให้ทำงานที่เสี่ยงต่อชีวิต กรณีแบบนี้จึงจะถือว่านายจ้างละเมิดกฎหมาย

หากพิสูจน์ได้จริงว่าลูกจ้างยินยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดด้วยเจตนาของตัวลูกจ้างเองโดยความสมัครใจและได้รับค่าตอบแทนตามที่กฎหมายกำหนดไม่ว่าเหตุผลใด ๆ ก็ตามแล้วเสียชีวิต จะถือว่านายจ้างไม่ได้กระทำความผิดและละเมิดสิทธิของลูกจ้างแต่อย่างใด 

กรณีตัวอย่าง

กรณีแรงงานทำงานหนักจนเสียชีวิตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 1638/2539 โจทก์ฝ่ายลูกจ้างฟ้องร้องสำนักงานประกันสังคมเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพราะอ้างว่าเสียชีวิตจากการทำงาน

“ลูกจ้างเสียชีวิตด้วยโรคจากการทำงาน ทายาทมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 60% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี”

ลูกจ้างทำงานก่อสร้างและดูแลงานเมื่อมีเหตุขัดข้อง ซึ่งการทำงานก่อให้เกิดความเครียดจนเกิดโรคความดันโลหิตสูง ขณะผู้เสียชีวิตไปดูการติดตั้งประตูม้วนที่มีปัญหาและต้องเดินไกล 200 เมตรเมื่อแดดร้อนจัด ก่อให้เกิดความเครียดจนความดันโลหิตสูงมากเป็นเหตุให้ก้านสมองแตกและถึงแก่ความตาย

กรณีนี้นายจ้างไม่ได้บังคับให้ลูกจ้างทำงานหรือละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ถือว่าลูกจ้างเสียชีวิตด้วยโรคจากการทำงาน ทำให้ทายาทมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 60% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่บังคับใช้อยู่ในปี 2539

ดังนั้น การที่จะตัดสินว่านายจ้างมีความผิดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานและการไต่สวนบนชั้นศาลเป็นกรณีไป โดยเฉพาะการเสียชีวิตขณะทำงาน ที่ต้องไต่สวนอย่างละเอียดว่าการทำงานส่งผลให้เสียชีวิตจริงแค่ไหน ทั้งนี้ นายจ้างควรจะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามที่สมควรได้

ที่มา – เพจจอดับ, พ.ร.บ.เงินทดแทน 2537, สรุป พ.ร.บ. เงินทดแทน 2561, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, คดีตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา