ต้องสิ้นหวังขนาดไหน คนไทยถึงฆ่าตัวตายมากมายขนาดนี้และยังมากติดอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ปีที่ผ่านมา ผลจากโควิดระบาดทำให้คนตกงานนับล้านราย อัญกาญจน์ บู๊ประเสริฐ หญิงวัย 59 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอก ไร้เพื่อนและญาติมิตรที่จะให้ความช่วยเหลือเธอได้ เธอเล่าว่า เธอต้องแบ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองให้สามารถกินได้ 3 มื้อเพื่อประทังชีวิต
อัญกาญจน์หมดหวังจากการรอเงินเยียวยาของรัฐบาล 5,000 บาทต่อเดือนซึ่งมีระยะเวลาจ่าย 3 เดือนรวมเป็น 15,000 บาท เธอบอกว่า เธอก็เป็น 1 ใน 15 ล้านคนที่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่คุณสมบัติเธอไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้น เธอไปกระทรวงการคลัง เธอพบว่าพวกเขาไม่ฟังคำเรียกร้องจากเธอเลย พวกเขาทำราวกับว่าคนจนเหมือนกับหมูหรือไม่ก็หมาขี้เรื้อน
เธอพยายามฆ่าตัวตายด้วยยาเบื่อหนูหน้ากระทรวงการคลัง เธอบอกว่าเธอต้องการประท้วง “มันไม่ได้เกิดขึ้นกับฉันแค่คนเดียว คนอื่นก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน”
เธอคิดว่ารัฐบาลน่าจะต้องการกำจัดความยากจนในประเทศ แต่สิ่งที่พวกเขาทำน่าจะเป็นจริง พวกเขากำลังกำจัดชีวิตคนทีละคน ทีละคน หลังจากที่เธอพยายามฆ่าตัวตาย ภาครัฐก็เข้ามาทบทวนกรณีของเธออีกครั้งและตัดสินใจให้เธอคุณสมบัติผ่านได้รับความช่วยเหลือ
การฆ่าตัวตายในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่เกิดโควิดระบาด ยอดรวมอยู่ที่ 2,551 ภายในระยะเวลาครึ่งปีแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 22% เทียบจากช่วงเดียวกันปี 2019
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดหนักมีทั้งพนักงานธุรกิจการท่องเที่ยว พนักงานให้บริการทางเพศและแรงงานอพยพ ซึ่งสองกลุ่มหลังนี้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของรัฐได้ ในส่วนของการท่องเที่ยวมีรายได้เป็น 12% ของ GDP การไม่เปิดให้ประเทศสามารถเดินทางได้สะดวกอย่างก่อนหน้านี้ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลปี 2019 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การฆ่าตัวตายของไทยรายปีอยู่ที่ 14.4 ต่อ 100,000 คน ขณะที่เฉลี่ยแล้วในระดับโลกอยู่ที่ 10.5 ต่อ 100,000 คน ถ้าเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียนในฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3.2 และสิงคโปร์อยู่ที่ 11.2 ต่อ 100,000 คน
ทุกๆ 10 นาที มีการพยายามฆ่าตัวตายในไทย
เรื่องนี้ Antonio L Rappo รองศาสตราจารย์สังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองไทยกว่า 20 ปี ระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในไทยสัมพันธ์กับเหตุผลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ถ้าแยกเรื่องเศรษฐกิจออกไป คนไทยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางจิตใจมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยเรื่องความตาย
ประเทศที่มีวัฒนธรรมการประท้วง หมายความว่า ประชาชนอาจจะยินดีที่จะตาย
ในช่วงที่มีโควิดระบาด ก็มีการให้ความช่วยเหลือผู้ที่จะฆ่าตัวตาย เช่น หน่วยงานที่เรียกว่าสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เป็นสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยมีอาสาสมัครจากหลายอาชีพ ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่นี้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
นอกจากนี้ นายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ที่เป็นทั้งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต ก็ยังต้องเพิ่มคู่สายเป็น 20 สายให้คนสามารถโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาได้ เนื่องจาก ผู้โทรเข้ามาต้องรอสายยาวนาน 10-12 นาที ก่อนจะมีใครสักคนมารับสาย นพ. วรตม์ ระบุว่า ไม่มีใครต้องการรอจนกว่าคนจะมารับสาย เขาต้องการรอสายแค่ภายใน 5 นาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาครัฐก็มีสิ่งที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตให้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคสามารถครอบคลุมเรื่องนี้ได้ด้วย เรื่องนี้ อมรเทพ สัจจะมุณีวงศ์ก็เคยเจอปัญหา ผ่านประสบการณ์เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
เขาพูดถึงช่องว่างของเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานด้านสุขภาพจิตขาดแคลน ระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนานถ้าต้องการรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐ ไปจนถึงหากคิดจะรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็มีราคาค่อนข้างแพงอีก เขายังได้สร้างแอปพลิเคชันที่เรียกว่า Sati เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้งานที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตไว้คุยกับคนที่ได้รับการฝึกฟังมาบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจที่เรียกว่า Hope Task Force โดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, TikTok และ Line เพื่อสื่อสารกับคนที่ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งก็จะมีการจัดเตรียมช่องทางให้อาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตให้สามารถพูดคุยกันได้ นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่ผู้ใช้งานสามารถตอบคำถามเช็คสุขภาพจิตทั้งเรื่องหมดไฟในการทำงาน ความเครียด รวมถึงอาการซึมเศร้าด้วย
นพ.วรตม์ ระบุว่า เรื่องการฆ่าตัวตายและประเด็นเรื่องสุขภาพจิตควรจะเป็นปัญหาของทุกคนด้วย เขาบอกว่าปัจจุบัน เราขาดทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตในไทย เพราะโควิด-19 ระบาด แต่เราสามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการเชิญภาคีหลายฝ่ายและพูดคุยกับผู้คนจำนวนมากเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหา สำหรับคนที่มีปัญหาต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต สามารถโทรสายด่วนที่กรมสุขภาพจิตเบอร์ 1323 หรือเบอร์สมาคมสมาริตันส์เบอร์ 02-713-6793
ที่มา – CNA
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา