เหงา ซึมเศร้า หมดไฟ อาการทางใจที่คนยุคนี้เป็นกันเยอะ

สำนักวิจัย Pew Research ให้คำนิยามไว้ว่า คนวัยมิลเลนเนียลคือใครก็ตามที่มีอายุตั้งแต่ 23 – 38 ปีในปี 2019 ก็ถือว่าเป็นคนวัยมิลเลนเนียลทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีความหมายดีนัก เพราะเขาพบว่าคนวัยนี้ส่วนใหญ่มีอาการซึมเศร้าและตายจากโลกนี้ไปด้วยความสิ้นหวัง 

อาการเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเหงาและความเครียดที่มาจากเรื่องการเงินด้วย 

คนมิลเลนเนียลมักจะมีความรู้สึกว่างานที่พวกเขาทำอยู่นี้มีภาระหนักเกินไป ทำงานติดต่อกันยาวนานหลายชั่วโมงต่อวัน ทำยังไงเงินเดือนก็ไม่ขึ้นเสียที เหตุผลเหล่านี้ทำให้พบว่า คนวัยนี้มีภาวะหมดไฟมากกว่าวัยอื่นๆ เสียอีก 

ภาพจาก Shutterstock

หอสมุดแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา พูดถึงเทรนด์ของประชากรส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตในยุคนี้คือ การตายอย่างสิ้นหวัง (Death of despair) อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น มีสาเหตุสำคัญที่มาจากความเครียดทางด้านการเงิน รวมไปถึงครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวทั้งหลายที่มีรายได้ไม่พอใช้ ประเด็นเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การตายอย่างสิ้นหวังได้

การตายอย่างสิ้นหวังของคนมิลเลนเนียลนี้สัมพันธ์กับการใช้ยาเกินขนาด การดื่มสุราหนักเกินไป ตลอดจนการฆ่าตัวตาย การตายของคนวัยนี้มีอัตราสูงขึ้นมากกว่าคนวัยอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

ในปี 2017 คนมิลเลนเนียลชาวอเมริกันเสียชีวิตเพราะความเหงาเป็นจำนวนมากถึง 36,000 คน การใช้ยาเกินขนาดก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการตายด้วย

ปัญหาด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้การศึกษาที่เป็นภาระหนักมากของชาวอเมริกัน เราจะเห็นภาพการ์ตูนล้อเลียนในสหรัฐฯ บ่อยๆ ว่า นักศึกษาเหล่านี้ เมื่อทำงานไปแล้วจนกระทั่งตายแล้วยังต้องลุกจากโลงศพเพื่อมาใช้หนี้การศึกษา 

ใครยังนึกภาพไม่ออก ลองฟังเพลง Stressed Out จากวง Twenty One Pilots วงสัญชาติอเมริกัน ก็เคยสะท้อนปัญหานี้ของวัยรุ่นว่าเป็นวัยสับสน วัยที่หาตัวเองไม่เจอ คิดถึงแต่วันเก่าๆ ที่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในวัยเด็ก 

โตขึ้นมาก็ต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้านทั้งสังคม ทั้งครอบครัว การงาน การเงินและความสิ้นหวัง และแม้จะตายแล้วยังต้องลุกจากโลงมาจ่ายเงิน ในมิวสิควิดีโอเขาก็ใช้คนในครอบครัวของทั้งไทเลอร์ โจเซฟ (Tyler Joseph) และจอช ดัน (Josh Dun) มาร่วมแสดงด้วย โดยปลุกให้เขาลุกจากโลงเพื่อที่จะมาหาเงินต่อ มิวสิควิดีโอนี้สะท้อนภาพคนมิลเลนเนียลโดยแท้ เพลงนี้คนดูในยูทูปไปแล้ว 1,800 ล้านวิว

นอกจากนี้ Business Insider ร่วมกับ Morning Consult ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำผลสำรวจและงานวิจัย ก็พบว่า คนมิลเลนเนียล 1,207 ราย เกินครึ่งหนึ่งมีหนี้การศึกษาและคิดว่าการเรียนไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ถ้าต้องมาเสียค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้กองโตขนาดนี้ 

ในปี 2017 หนี้การศึกษาต่อหัวอยู่ที่ 17,126 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 518,091 บาทต่อราย

ปี 2018 สหรัฐอเมริกามีหนี้การศึกษาสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 45,377,670,000,000 (45 ล้านล้านบาท) ชาวอเมริกันกว่า 45 ล้านรายเป็นหนี้การศึกษา

ในประเด็นเรื่องความเหงานี้ เขาก็มีการสำรวจผู้คนราว 1,254 ราย ก็พบว่า คนวัยมิลเลนเนียลเป็นช่วงวัยที่มีอาการเหงามากกว่าวัยอื่นๆ อยู่ที่ 30% มากกว่า Gen X 10% และมากกว่า Gen Boomers อีก 15%

ขณะที่ภาวะหมดไฟนี้ องค์การอนามัยโลกเพิ่งจะจำแนกประเภทว่า burnout เป็น syndrome หรือเป็นอาการของโรคด้วย ซึ่งมีปัจจัยประกอบ ดังนี้ สภาพแวดล้อม สภาวะที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กจนโต โซเชียลมีเดีย ความกังวลง่าย เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักให้คนเกิดอาการหมดไฟ

ภาพจาก Trust for America’s Health and Well Being

ทั้งนี้ รายงานจาก Trust for America’s Health เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรื่อง Pain in the Nation: Building a National Resilience Strategy ก็ได้พูดถึงการดื่มสุราที่มากไป การใช้ยาเกินขนาด และการฆ่าตัวตายในวัยมิลเลนเนียลกำลังเป็นหายนะของประเทศ

ในปี 2007 – 2017 (คนวัยมิลเลนเนียลในรายงานนี้เขานิยามช่วงวัยที่ 18 – 34 ปี จากการศึกษางานในการแยก generation หลายๆ ชิ้นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าคนวัยมิลเลนเนียลก็คือคนที่อยู่ในช่วงวัย 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 40 ปี) เขาพบว่า

  • มีการใช้สารเสพติด เพิ่มขึ้น 108%
  • มีการดื่มสุราหนักเกินไป เพิ่มขึ้น 69%
  • มีการฆ่าตัวตายสูงขึ้น 35%

โดยรวมแล้ว สิ่งที่เขาต้องการเสนอก็คือ ช่วงวัยมิลเลนเนียลนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างที่เราได้เคยพูดถึงไปแล้วว่าประชากรเกิดต่ำลง คนสูงอายุอยู่นานขึ้น แล้วคนวัยทำงานก็ยังมีชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวังอีก 

รายงานของ Trust for America’s Health เขาก็สะท้อนให้เห็นว่า คนวัยนี้กำลังประสบปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามหลีกหนีต้นทุนทางการศึกษาที่มีราคาแพงทำให้คนมิลเลนเนียลต้องแบกหนี้ก่อนจะได้งานทำในจำนวนมากกว่าครึ่งล้านบาท ศักยภาพในการจัดหาซื้อบ้านเป็นของตัวเองก็ต่ำ

มีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของเด็กอเมริกันมีต้นทุนที่พ่อแม่ต้องจ่ายในการเลี้ยงดูสูงถึง 14,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.2 แสนบาทต่อปี

กว่าจะโตจนอายุ 17 ปีนี้ ต้องเสียเงินอย่างน้อยๆ ราว 240,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7.2 ล้านบาท

บ้าน การดูแลลูก การศึกษา อาหาร เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นต้นทุนในการเกิดและการใช้ชีวิตก็แพง ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินจำนวนมาก 

ภาพจาก Shutterstock

รายงานฉบับนี้เขาก็เสนอว่า ให้สนับสนุนบทบาทของโรงเรียนหรือสถานที่ให้การศึกษาตั้งแต่ที่พวกเขายังเด็กๆ เลย รวมทั้งพ่อแม่ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ให้ลูกๆ อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เขาจะได้เติบโตมาอย่างแข็งแกร่ง

รวมถึงควรจะมีการทำระบบการประกันสุขภาพที่ดี ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียม ควรเพิ่มภาษีสุรา ควรเพิ่มมาตรการดูแลสอดส่องเรื่องยาเสพติดให้ดีขึ้นกว่าเก่า ตลอดจนทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ต้องพัฒนาขึ้นพร้อมๆ กันอย่างรอบด้าน เพื่อบรรเทาปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ที่มา – Business Insider, Morning Consult, TIME, U.S. National Library of Medicine, Trust for America’s Health

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา