ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันฆ่าตัวตายคาด โควิด-19 ทำคนฆ่าตัวตายสูง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการฆ่าตัวตาย ออกมาเตือน โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักตอนนี้ ส่งผลกระทบหนักต่อสุขภาพจิตของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงมากๆ คือ กลุ่มคนว่างงาน คนยากจน และคนสูงวัย

โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักขณะนี้ ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจไม่พอ ยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย และอาจจะทำให้คนฆ่าตัวตายสูงกว่าตอนโรคซาร์สระบาดด้วยซ้ำ การสูญเสียงาน ความเครียดทางการเงิน ล้วนเป็นปัญหาใหญ่และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนตัดสินใจจบชีวิต

ภาพจาก Shutterstock

ในฮ่องกง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตออกมาเตือนว่าโรคระบาดโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบให้คนฆ่าตัวตายสูง โดยศาสตราจารย์ Paul Yip Siu-fai ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฮ่องกง ศูนย์วิจัยและป้องกันการฆ่าตัวตาย (Center for Suicide Research and Prevention) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตระหว่างประเทศที่เห็นตรงกันว่าโรคระบาดส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาไปทั่วโลก

คนที่มีรายได้ทางเดียว มีปัญหาทางการเงิน เกิดความเครียดทางจิตใจแน่นอน

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนทำงานและต้องตกงาน ว่างงาน เพราะจะต้องประสบปัญหาหนักด้านการเงิน รวมถึงคนสูงวัยที่ต้องถูกให้อยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น การอยู่บ้าน เพราะคำสั่งจำกัดการเคลื่อนไหวในช่วงวิกฤต ในเรื่องนี้ Yip กล่าวว่า การยืดเวลาบังคับใช้มาตรการ Social Distancing และข้อจำกัดต่างๆ อาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายลดลง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนด้วย

ในบทความที่เผยแพร่เมื่อ 21 เมษายน ใน Lancent Psychiatry วารสารด้านการแพทย์ กลุ่มที่สูญเสียหน้าที่การงานและต้องประสบภาวะความเครียดด้านการเงิน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลทำโครงข่ายรองรับทางการเงิน สำหรับคนที่ต้องการความสนับสนุน รวมทั้งอาหาร บ้าน และความช่วยเหลือสำหรับผู้คนที่ว่างงานด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้ อัตราการฆ่าตัวตายในฮ่องกงช่วงที่เกิดโรคระบาดซาร์สในปี 2003 มีการฆ่าตัวตายสูงราว 18.6 คนต่อ 100,000 คน มีคนเสียชีวิตราว 1,264 คน มีคนที่อายุมากกว่า 60 กว่าปีได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตอย่างหนักหน่วง การกักบริเวณตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ทำให้คนสูงวัยรู้สึกโดดเดี่ยวและทำให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตายมากขึ้น ขณะเดียวกันโรคซาร์สก็ทำให้คนติดเชื้อมากถึง 1,755 คน เสียชีวิต 299 คน ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัส อัตราการว่างงานสูงถึง 8.5%

คนว่างงาน คนขาดรายได้ คนสูงวัยที่รู้สึกโดดเดี่ยว ล้วนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตหนักกว่าคนทั่วไป

ขณะนี้อาจยังไม่เห็นผลกระทบจากโรคระบาดในทางจิตวิทยาชัดเจนนัก แต่เริ่มมีสัญญเตือนว่าฮ่องกงจะต้องเผชิญปัญหานี้แน่นอน ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยในจีนระบุว่า 67.5% จากจำนวน 807 คน ยอมรับว่า พวกเขานอนหลับยากมากขึ้นในรอบกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เดือนที่ผ่านมา องค์กรชุมชนเพื่อสังคมยังพูดถึงบทสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า กว่า 70% ของเด็กนักเรียนราว 582 ราย มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย พวกเขาไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือหากมีก็เป็นคอมพิวเตอร์ที่เก่าเกินกว่าจะนำมาใช้เรียนออนไลน์ขณะอยู่บ้านได้

Factory shutdown due to outbreak of Coronavirus Disease 2019 or COVID-19. Concept of economic crisis, people unemployment and production ภาพจาก Getty Images

บทความจาก JAMA Psychiatry พูดถึงประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ผ่านบทความ Suicide Mortality and Coronavirus Disease 2019-A Perfect Storm? ไว้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

การให้คนแยกตัวลำพัง ออกห่างจากสังคมเป็นเวลานานไม่มีกำหนดคือความเสี่ยง

การใช้มาตรการ Social Distancing การลดการติดต่อของผู้คน เป็นมาตรการที่คนคิดว่าจะช่วยลดการติดเชื้อ อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการปลิดชีวิตทิ้งของผู้คนมากขึ้น ซึ่งก็มีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

ความเครียดทางด้านเศรษฐกิจซึ่งก็มีความกลัวอยู่ในนั้นด้วย ทั้งการยกเลิกอีเวนท์ต่างๆ การปิดตัวของธุรกิจ ไปจนถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความเดือดร้อนจากการถูกปลดจากงาน การปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด การแยกให้คนออกจากสังคม เพื่อให้อยู่ลำพัง สิ่งนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ง่ายๆ เพราะการมีส่วนร่วมกับสังคม มีกิจกรรมทางสังคม ช่วยป้องกันไม่ให้คนคิดสั้นได้

ภาพจาก Pixabay

การลดการเข้าถึงสังคม การร่วมกิจกรรมทางศาสนา เหล่านี้ก็สร้างความโดดเดี่ยวให้ผู้คน คนอเมริกันจำนวนมากใช้ชีวิตแบบมีกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลายมาก ซึ่งมันช่วยให้มีการฆ่าตัวตายต่ำลงถึง 5 เท่า หากเปรียบเทียบกับผู้คนที่ไม่ได้เข้าสังคม

อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยในช่วงโควิด-19 สูงเพราะผู้คนหมดหนทางทำมาหากิน

ทางออกที่จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย หรือป้องกันไม่ให้จำนวนเพิ่มขึ้นคือลดมาตรการ Lockdown เปิดทางให้คนทำมาหากิน

ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown กระจายเงินช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด สองปัจจัยสำคัญเบื้องต้นนี้จะช่วยลดจำนวนการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ เพราะมันช่วยให้คนที่มีรายได้ทางเดียว ได้ทำมาหากิน เลี้ยงชีพ เลี้ยงชีวิต แบบที่ลดการพึ่งพาจากรัฐน้อยลงได้ด้วย และยังทำให้มนุษย์มีชีวิตชีวาในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยลดความห่อเหี่ยว ลดความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในจิตใจ

หลายประเทศที่ประสบปัญหาการติดเชื้ออย่างหนักหน่วง เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลีก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แล้ว ในสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ก็ยังมีรัฐจอร์เจีย เริ่มเปิดทางให้คนเริ่มกลับมาดำเนินกิจการต่อ

แม้เกาหลีใต้ในช่วงที่เจอ super spreader ใหม่ๆ ที่เจอการติดเชื้ออย่างหนัก ก็ยังไม่สั่ง Lockdown ประเทศ แต่ตรวจโรค กักกันโรคจริงจัง ก็สามารถจัดการควบคุมโควิด-19 ได้ หรือกระทั่งสวีเดนที่มีคนติดเชื้อสูงจนมีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก็ยังไม่สั่ง lockdown ประเทศ และในที่สุดก็ควบคุมโรคได้

ที่มา – South China Morning PostJAMA Psychiatry

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์