ผลการศึกษาชี้ ตื่นเช้าขึ้น ลดความเสี่ยงอาการซึมเศร้า หดหู่ มีความสุขในชีวิตมากขึ้น 

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Colorado Boulder และ Broad Institute of MIT and Harvard พบว่า ถ้าคุณตื่นนอนให้เช้าขึ้นกว่าปกติสัก 1 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้คุณมีอาการซึมเศร้า หดหู่ได้ ก่อนหน้านี้ผลการวิจัยในอดีตยังพบว่า มันมีความเชื่อมโยงกับเวลาจำเพาะของแต่ละบุคคลด้วย (chronotype: คือช่วงเวลาที่คนคนหนึ่งตื่นตัวมากที่สุดหรือง่วงนอนมากที่สุด แต่ละคนจะมีเวลาแตกต่างกันไป)

Social Jetlag

โดยงานวิจัยนี้เขาแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภทคือ night owls (นกฮูกกลางคืน) กับ morning people (คนที่ตื่นตัว กระตือรือร้นในช่วงเช้า) พบว่า night owls คือคนที่มีแนวโน้มพัฒนาไปในแนวหดหู่ ซึมเศร้าได้มากกว่า morning people เรื่องนี้ Celine Vetter นักเขียนที่ศึกษาเรื่องนี้และเป็นรองศาสตราจารย์ด้าน Integrative Physiology หรือด้านบูรณาการความรู้หลักการทางสรีรวิทยาและการควบคุมระบบต่างๆ จาก University of Colorado Boulder กล่าวว่า มันมีคำอธิบายที่เป็นไปได้เล็กน้อยถึงความเชื่อมโยงระหว่างเวลา (chronotype) และอารมณ์

คนตื่นเช้ามักจะมีแนวโน้มที่จะจัดการช่วงเวลาสำหรับการทำงานและพักผ่อนได้เป็นเวลามากกว่า ขณะที่คนประเภทนกฮูกอาจจะปรับแต่งเวลาได้ยากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าการตื่นเช้าขึ้นจะช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า หดหู่และพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ นาฬิกาชีวภาพในสมองจะต้องสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน คนที่นอนดึกหรือชอบใช้ชีวิตช่วงกลางคืนมีแนวโน้มที่จะจัดการเวลาได้คลาดเคลื่อนกว่า

Vetter ยังบอกด้วยว่า ในทางจิตวิทยา ผู้คนที่ตื่นเช้ากว่า จะมีความสุขมากกว่าเพราะได้สัมผัสแสงแดดยามเช้าก่อน ซึ่งอาจจะกระทบความเป็นอยู่ที่ดีของพวกขาด้วยเช่นกัน เรื่อง chronotype คือเรื่องพันธุกรรม แต่เราสามารถปลดล็อคมันได้ด้วยการตื่นให้เช้าขึ้นแทน แสงสว่างคือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสนใจ จงพยายามรักษาช่วงเวลากลางวันที่สดใสไว้ และพอถึงเวลากลางคืนก็จะต้องทำให้บรรยากาศช่วงนั้นมืดลงด้วย เช่น ลดการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย อาทิ ลดการดูหน้าจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลาก่อนจะนอน

Breakfast in bed
Photo by Toa Heftiba on Unsplash

แค่การสร้างบรรยากาศก่อนนอนและระหว่างวันยังไม่มากพอ แต่ยังต้องเลี่ยงการทานขนมหรืออาหารว่างยามดึกลงด้วยเพราะมันกระทบต่อความสามารถในการย่อยอาหารของคุณได้ และต้องจำไว้ว่า ไม่มีเวลาอุดมคติช่วงไหนที่ควรจะต้องตื่นหรือหลับ เพราะมันมีความจำเพาะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่ช่วงเวลาสำหรับการนอนหลับพักผ่อนของวัยผู้ใหญ่ควรอยู่ในระหว่าง 7-9 ชั่วโมงต่อคืน

งานศึกษาของ Vetter นี้ เขาต้องดูข้อมูลของผู้คนราว 8.4 แสนคนจากการตรวจสอบ DNA ด้วย งานศึกษานั้นให้ความสำคัญกับประเด็น “Social Jetlag” หรืออาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงในขณะดำเนินชีวิตปฏิสัมพันธ์กับสังคมซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตและยังถือเป็นอีกแรงกดดันทางสังคมประเภทหนึ่ง เช่น คนประเภทตื่นเช้าอาจจะรู้สึกอ่อนเพลียถ้าต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมในยามดึก ขณะที่คนที่ชอบใช้เวลายามค่ำคืนก็จะเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เมื่อถูกบังคับให้ต้องตื่นเช้าเพื่อมานั่งทำงาน Social Jetlag สามารถแยกให้เห็นชัดเจนได้มากขึ้นจากชั่วโมงของการนอนหลับในวันทำงานกับวันที่เป็นวันว่างจากการทำงาน

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา