คนนอนน้อยแต่นอนนะต้องระวัง: ผลวิจัยเผยนอนน้อยในวัยกลางคนเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมตอนแก่

คนนอนน้อยแต่นอนนะต้องระวัง ผลวิจัยเผยการนอนน้อยในช่วงอายุ 50-60 ปี เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมตอนแก่ ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงก็มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน

ก่อนหน้านี้ Brand Inside เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการนอนหลับของมหาเศรษฐีทั่วโลก บางคนให้ความสำคัญกับการนอนหลับมาก ต้องนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่คนทำงานบางคนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ โดยเลือกที่จะเอาเวลานอนไปทำงานแทน นอนน้อยไม่เป็นไร เพราะได้ทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการนอนหลับก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นมากเช่นกัน ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนอนหลับว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18-60 ปี ควรนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน คนที่มีอายุ 61-64 ปี ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนช่วงวัยอื่นๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ CDC

ที่ผ่านมาเราคงเคยรู้กันมาบ้างแล้วว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุในการเกิดโรคต่างๆ ทั้ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน และซึมเศร้า แต่ล่าสุดผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ Nature Communications พบว่า การนอนหลับไม่เพียงพอมีความเชื่อมโยงกับการเป็นโรคสมองเสื่อม

ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรแก้

ผลการศึกษานี้จัดทำขึ้นโดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมการนอนของชาวอังกฤษในช่วงอายุ 50-60 ปี จำนวนกว่า 8,000 คน ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนที่นอนหลับน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 30% ที่จะป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเวลาหลังจากนั้นอีก 30 ปี

จากการเก็บข้อมูลพบว่า คนที่นอนหลับไม่เพียงพอกว่า 521 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมตอนมีอายุเฉลี่ย 77 ปี โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศหญิง และเพศชาย

โดยการทดลองนี้จะแบ่งกลุ่มผู้ถูกทดลองออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจะส่งผลต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม กับกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นโรคใดๆ ก็พบว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคใดๆ หากนอนหลับไม่เพียงพอก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเช่นเดียวกัน

ทำไมคนนอนน้อยถึงเสี่ยงสมองเสื่อม

จากผลการศึกษานี้พบการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงไปในคนที่นอนหลับไม่เพียงพอ เพราะร่างกายจะผลิตโปรตีนขึ้นมาชนิดหนึ่งขึ้นมาในสมอง และสะสมทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ยิ่งนอนหลับไม่เพียงพอ ก็จะยิ่งเพิ่มการผลิตโปรตีนชนิดนี้

ดังนั้นการนอนหลับจึงกลายเป็นสิ่งที่ยับยั้ง หรือชะลอการผลิตโปรตีนในสมองชนิดนี้ และเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม

นอกจากนี้การนอนหลับไม่เพียงพอ ยังเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมอื่นๆ อีกด้วย เช่น การหาขนม อาหารกินเล่นในขณะยังไม่นอนตอนดึกๆ หรือการนอนดึกจนไม่มีเรี่ยวแรงจะทำกิจกรรมที่ต้องใช้การขยับร่างกาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่เช่นกันว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมจริงหรือไม่ เพราะในบางครั้งก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนที่คิดว่า การนอนหลับไม่เพียงพอ (นอนไม่หลับ) เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม ในกรณีนี้จึงกลายเป็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับไม่เพียงพอ กับการเป็นโรคสมองเสื่อม เหมือนกับคำถามที่ว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน”

นอนน้อยคือความเสี่ยงที่น่ากลัว แต่เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนได้

แม้ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ จะมีผลที่น่ากลัว คือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ แต่อย่าลืมว่าต้นเหตุของโรค คือการนอนหลับไม่เพียงพอเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก แต่ต้องแก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช่ว่ากินยานอนหลับแล้วจะได้ผล

เพราะช่วงเวลาการนอนหลับที่ดีที่สุดคือการนอนหลับที่เรียกว่า Deep Sleep (หลับลึก) เป็นเหมือนช่วงเวลาที่ร่างกาย และสมองได้ซ่อมแซมตัวเอง แต่การกินยานอนหลับไม่ได้ทำให้เกิด Deep Sleep ได้

ส่วนการงีบหลับในตอนกลางวันระยะเวลาสั้นๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ทางที่ดีที่สุดคือการนอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืนมากกว่า

เปลี่ยนพฤติกรรม เสริมสร้างการนอนหลับที่ดี

สำหรับวิธีในการเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างการนอนหลับที่ดีในตอนกลางคืน ผู้ที่ทำการศึกษาแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ภายในห้องนอน ก็จะเป็นการช่วยให้การนอนหลับของเราดีขึ้น

หรือจะปฎิบัติตามคำแนะนำของ CDC ก็ได้เช่นกัน ซึ่ง CDC ได้แนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้เราสามารถนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นในตอนกลางคืน ดังนี้

    • พยายามสร้างนิสัย เข้านอน และตื่นนอนในเวลาเดิมทุกๆ วัน แม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม
    • สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม ต้องเงียบ มืด มีความผ่อนคลาย ตั้งอุณภูมิห้องไว้สบายๆ
    • หลีกเลี่ยงการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ในห้องนอน เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนนอน
    • ออกกำลังกาย ขยับร่างกายอยู่ตลอดเวลาในตอนกลางวัน จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นในตอนกลางคืน

สำหรับใครที่ต้องการอ่านเทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยสร้างพฤติกรรมการนอนหลับที่ดี สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ CDC และ Sleep Education

ที่มา – Nytimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา