ปัจจุบันบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ กำลังแข่งขันกันในอุตสาหกรรม Social Commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่อาศัยความสามารถของผู้ใช้ในการค้นหาและเลือกซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย
“ผู้คนเคยชินกับการซื้อของออนไลน์ไปแล้ว และคนไม่น่าจะกลับไปซื้อของจากหน้าร้านในระดับเดิมอย่างที่เคยเป็นมา” Dave Heger นักวิเคราะห์จาก Edward Jones บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนได้กล่าวไว้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้
Social Commerce ในไทยโตได้เท่าตัว
การค้าขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียในไทยเป็นที่นิยมมานานแล้วและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเติบโตของ LINE SHOPPING ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 200% และจำนวนร้านค้าเติบโตเพิ่มขึ้น 7 เท่า
ตามข้อมูลของ Facebook ประเทศไทย จากการวิจัยผู้บริโภคชาวไทยยังพบว่าผู้บริโภครู้สึกใกล้ชิดกับร้านค้ามากขึ้นผ่านการแชท ซึ่งถือเป็นข้อดีของการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดียที่ลูกค้าสามารถพูดคุยสอบถาม และต่อรองราคากับผู้ขายได้โดยตรงซึ่งให้ประสบการณ์ทดแทนความรู้สึกของการซื้อจากหน้าร้านได้
นอกจากนี้ยังเห็นความเข้มแข็งของ Social Commerce ในไทยจากการที่กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูหันมาเปิดใช้งาน Line Official Account เพิ่มขึ้นถึง 60% เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แบรนด์หรูเลือกใช้เพื่อติดต่อกับลูกค้าได้โดยตรงเหมือนกับการขายหน้าร้าน
การซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียเป็นที่นิยมมากขึ้นในภาพรวม
บริษัทวิจัยการตลาด eMarketer คาดการณ์ว่ายอดขายต่อปีผ่านช่องทาง Social Commerce จะเพิ่มขึ้นอย่างในกรณีสหรัฐยอดขายจะเพิ่มจาก 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.18 ล้านล้านบาทต่อปี เป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2023
Facebook ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำใน Social Commerce และ Google ที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีกทำยอดขายได้ในไตรมาสที่แล้ว กับบริษัทอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างร้านค้าออนไลน์อย่าง Shopify บอกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทเทคอย่าง Facebook และ Google ทำได้ดีกว่าการขายผ่านเว็บไซต์ของผู้ขายโดยตรง
Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook ยังได้ออกมาบอกอีกด้วยว่า การเปิดพื้นสำหรับขายสินค้าและการทำให้ธุรกิจสามารถติดต่อกับลูกค้าง่ายขึ้นผ่านแอพ Messenger และ WhatsApp ของทางบริษัทเป็นการเดิมพันในระยะยาวที่เหมาะสม
อนาคต Social Commerce กับช่องทางซื้อขายที่มากขึ้น
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Youtube, Snapchat และ Twitter ก็กำลังเร่งลงทุนในฟีเจอร์ช้อปปิ้งเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดในขึ้นช่วงเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2
ทางบริษัทแม่ของ Snapchat กำลังลงทุนในเทคโนโลยี AR เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถลองสินค้าอย่างนาฬิกา เครื่องประดับและเสื้อผ้า เพื่อลดการคืนสินค้าซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องเจอ
Twitter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รู้จักในฐานะช่องทางติดตามข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันก็กำลังทดลองทำฟีเจอร์สำหรับร้านค้าออนไลน์ เว็บไซต์วิดีโอสตรีมมิ่งอย่าง Youtube ที่มีคอนเทนต์รีวิวสินค้ามากมายก็มีแพลนที่จะเปิดช่องทางให้สามารถซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มได้โดยตรง
สรุป
การเติบโตของ Social Commerce เป็นที่น่าจับตามองในยุคที่การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็นเพราะการระบาดของโควิด และยังสะดวกกับผู้ซื้อ อีกทั้งการติดต่อกับผู้ขายโดยตรงผ่านทางโซเชียลมีเดียสามารถทดแทนความรู้สึกของการซื้อหน้าร้านซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้การค้าช่องทางนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา