ในโลกนี้ ประเทศส่วนใหญ่มักมีจำนวนประชากรน้อยลง แต่ไม่ใช่สำหรับสิงคโปร์
ในยุคที่จำนวนประชากรถดถอย คนเกิดน้อยลงทุกวัน ทำให้แรงงานลดลง ผลิตภาพในประเทศลดลง เศรษฐกิจเริ่มเสื่อมถอยเพราะนี่คือกลไกสำคัญ เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้
โดยเฉพาะประเทศที่เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้ามากนัก คนก็ยังเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าอยู่ บางประเทศที่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ นอกจากสิงคโปร์ก็คือญี่ปุ่นที่มีอัตราการเกิดต่ำอันดับต้นๆ ของโลก
จำนวนประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต
ล่าสุด มีการรายงานว่าประชากรสิงคโปร์เพิ่มมากที่สุดเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์แล้ว
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีอัตราประชากรเพิ่มขึ้น 2.0% เทียบจากปีก่อนหน้า จำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 6.04 ล้านคน มีอัตราเติบโต 1.1% ถ้าเทียบจาก 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2024) สูงกว่า 5 ปีก่อนหน้าเล็กน้อย (ปี 2014-2019)
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์จำนวน 4.18 ล้านราย ส่วนอีก 1.8 ล้านรายไม่ได้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์
เดือนมิถุนายน 2024 ประชากรที่มีถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพลเมืองชาวสิงคโปร์ มีจำนวน 3.64 ล้านราย เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบจากมิถุนายน 2023 จากจำนวนก่อนหน้าอยู่ที่ 3.61 ล้านราย
ผู้ที่มีที่อยู่อาศัยถาวร (Permanent Resident: PRs) เพิ่มขึ้น 1.2% จาก 538,600 ราย ในเดือนมิถุนายน เพิ่มเป็น 544,900 รายในเดือนมิถุนายน 2024 กลุ่ม PRs นี้มีจำนวน 5.4 แสนราย
มีคนเกือบ 2 ล้านรายที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ (non-residents) พวกเขาเป็นใครกัน?
พวกเขาก็คือ แรงงานต่างชาติ แรงงานอพยพที่เข้ามาทำงานในสิงคโปร์ นักเรียนต่างชาติและผู้ติดตาม จากการรายงานจำนวนประชากร พบว่า กลุ่ม non-residents มีอัตราเพิ่มขึ้น 5% เทียบจากปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้ถือใบอนุญาตทำงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากที่สุด ตามด้วยแรงงานอพยพ
ในจำนวนเกือบ 2 ล้านรายนี้ สามารถจำแนกได้ ดังนี้
- 11% คือผู้ถือใบอนุญาตทำงานระดับวิชาชีพและระดับบริหาร
- 10% คือผู้ถือใบอนุญาตทำงานระดับ S Pass แรงงานต่างชาติมีทักษะ เป็นผู้เชี่ยวชาญ
- 21% คือผู้ถือใบอนุญาตทำงานระดับ Non-CMP แรงงานภาคงานบริการ การผลิต
- 23% คือผู้ถือใบอนุญาตทำงานระดับ CMP แรงงานภาคก่อสร้าง อู่ต่อเรือ ฯลฯ
- 15% คือแรงงานอพยพ
- 16% คือผู้ถือใบอนุญาต Visit Pass และผู้ถือบัตรผู้ติดตามระยะยาว
- 5% คือนักเรียน
การจ้างงานแรงงานต่างชาติเติบโตขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงปี 2014-2015 อยู่ที่ระดับ 23,000 ราย ลดลงอย่างมากในช่วงโควิดระบาด ปี 2019 ลดลง 47,000 รายและลดจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1.47 แสนรายในปี 2020-2021 ซึ่งก็เป็นช่วงที่โควิดระบาดหนัก
จากนั้น จำนวนแรงงานต่างชาติกลับมาดีดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2021-2022 เป็น 9.8 หมื่นราย ซึ่งก็เป็นช่วงหลังโควิดระบาดกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว จำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 1.62 แสนรายในปี 2022-2023 และปัจจุบัน ปี 2023-2024 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39,000 ราย
การแต่งงานของพลเมืองสิงคโปร์ มีจำนวนลดลง
ในปี 2023 มีพลเมืองที่แต่งงาน 24,355 ครั้ง มีอัตราที่น้อยกว่าปี 2022 ที่ 1.7% ซึ่งมีการแต่งงาน 24,767 ครั้ง แต่ก็ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งมีการแต่งงาน 22,165 ครั้ง
จำนวนการแต่งงานเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 22,800 ครั้ง ต่ำกว่า 5 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 24,000 ครั้ง
อัตราการเกิด: เกิดน้อยลง คนสูงวัยเพิ่มขึ้น อายุกลางเพิ่มขึ้น
มีพลเมืองเกิดใหม่ 28,877 รายในปี 2023 น้อยกว่าปี 2022 อยู่ที่ 5.1% ที่มีประชากรเกิด 30,429 ราย โดยจำนวนพลเมืองที่เกิดใหม่โดยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33,000 คน อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของประชากรในปี 2023 อยู่ที่ 0.97
อายุกลางหรืออายุมัธยฐาน (Median age) ของชาวสิงคโปร์ จากเดิมอยู่ที่ 43.0 ปี เป็น 43.4 ปี แต่ถ้าเทียบตั้งแต่ปี 2014 หรือ 10 ปีที่แล้ว อายุกลางอยู่ที่ 40.4 ปี
พลเมืองชาวสิงคโปร์ที่มีอายุระหว่าง 20-64 ปี มีอัตรา 60.4% ถือว่ามีอัตราที่ลดลงจากปี 2014 ที่มีอัตรา 64.8% โดยสัดส่วนของพลเมืองสิงคโปร์ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 12.4% ในปี 2014 เป็น 19.9% ในปี 2024 หมายความว่าชาวสิงคโปร์จำนวน 4 คนจะมี 1 คนที่เป็นผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นอัตรา 24.1%
ขณะที่ผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เทียบจากปี 2014 มีอัตรา 2.5% เพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2024 โดยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- แม้ประชากรไม่เพิ่มขึ้น แต่ญี่ปุ่นแก้ปัญหาแรงงานขาดเคลนได้ ทำให้คนต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
- ไม่อยู่แล้วจีน หนีไปสิงคโปร์ดีกว่า: จีนปั่นป่วนเกิดคาดการณ์ ทำนักธุรกิจและเศรษฐีจีนเริ่มอยู่ไม่ไหว
- วิจัยจาก Meta & Bain Company: สิงคโปร์ อินโดโดดเด่น ดึงดูดนักลงทุน Finteh ดี สวนทางไทย
ที่มา – CNA, National Population and Talent Division, Singapore (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา