วิจัยจาก Meta & Bain Company: สิงคโปร์ อินโดโดดเด่น ดึงดูดนักลงทุน Fintech ดี สวนทางไทย

งานวิจัยเผย สิงคโปร์-อินโดฯ โดดเด่น ดึงดูดนักลงทุนได้มาก ขณะที่ไทยยังทำได้ในระดับต่ำ ผู้บริโภคชอปออนไลน์มากขึ้นแต่ก็มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเทอร์สำคัญ ยังถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการจับจ่ายใช้สอย

e-commerce, online shopping

Meta จับมือกับเบนคอมพานี สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 16,000 คนและข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทต่างๆ กว่า 20 คนจาก 6 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม พบว่า ภูมิภาคนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตในทิศทางบวกกว่าภูมิภาคอื่นๆ แม้เผชิญผลกระทบลบหลายด้าน มีการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นและผู้บริโภคเปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ

อาเซียนได้รับผลกระทบเงินเฟ้อและสงครามรัสเซีย-ยูเครนน้อย ยังมีทิศทางเติบโตดีกว่าภูมิภาคอื่น

asean growth

โดยดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์ บริษัท เบนแอนด์ คอมพานี พูดถึงภาพรวมในระดับมหภาค สถานการณ์ปัจจุบันถึงอนาคตหลังจากเกิดโควิดระบาดจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน พบว่าสำหรับในอาเซียนทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อและจีดีพีมีทิศทางที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น (เทียบกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย) ในอาเซียนมีปัจจัยบวกหลายด้าน หลังจากที่หลายประเทศเริ่มหาทางกระจายซัพพลายเชนหลากหลายมากขึ้น ครัวเรือนเราจะเพิ่มมากขึ้น อัตราการเติบโตด้านการลงทุนในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้น

Continued investment in asean

Long-term prospects in the region

ธุรกิจด้าน E-Commerce หลังจากศึกษาร่วมกับ Meta มา 5 ปีแล้ว พบว่า อัตราการเติบโตโดยรวมยังแข็งแกร่ง แต่ช่วงปี 2021-2022 เติบโตช้าลงเนื่องจากปัจจัยหลัก 3 เรื่อง คือแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซัพพลายเชนคือมีกำลังซื้อแต่การล็อคดาวน์ยาวนานของจีน ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดล่าช้า ไม่ทันความต้องการของผู้บริโภค และการล็อคดาวน์ยาวนานภายในประเทศทำให้ผู้บริโภคอยากกลับมาใช้จ่ายในเชิงกายภาพมากขึ้น ไปห้างมากขึ้น ก็ส่งผลให้ใช้จ่ายออนไลน์ลดลง

Digital Consumers คือบุคคลที่มีการใช้จ่ายออนไลน์ไม่ว่าจะสินค้าหรือบริการอย่างน้อย 1 ครั้ง จากประชากรอายุมากกว่า 15 ปี มีการเพิ่มจำนวนขึ้นมาก สำหรับในไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Digital Consumers in asean

ส่วนเรื่องการใช้จ่ายออนไลน์ของผู้บริโภคในไทยแบ่งออกเป็นอาหาร เครื่องดื่ม การดูแลส่วนบุคคล การบริโภคในครัวเรือน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว บางหมวดหมู่มีการขยับลดลง เช่น เสื้อผ้า โดยรวมค่าใช้จ่ายออนไลน์ต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 44 USD หรือประมาณ 1,675 บาทในปี 2021 และลดลงเล็กน้อยในปี 2022 โดยรวมประมาณ 43 USD หรือประมาณ 1,637 บาท นี่คือค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อปี ทุกหมวดหมู่ แต่บางรายก็ใช้จ่ายมากกว่านี้

อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเทอร์ ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค

แพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทยจาก Meta ระบุว่า ผู้บริโภคมีการใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น ถ้าเทียบจากปี 2021 มี 7.9 แพลตฟอร์ม ส่วนปี 2022 เพิ่มเป็น 15.3 แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่วนไทยมีการใช้ 8.6 แพลตฟอร์ม เพิ่มเป็น 16.4 แพลตฟอร์ม สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยเยอะขึ้น ซื้อของหลากหลายมากขึ้น มีทั้งชอปปิงหรือพูดคุยกับแบรนด์โดยตรง มีทั้งทำความเข้าใจสินค้านั้นๆ

Thai consumers shopping more platforms

ความคาดหวังของผู้บริโภคคืออยากได้ทุกอย่าง (Omni-channel) มีทั้งไปเทสต์การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือน้ำหอมจากหน้าร้าน แต่อาจจะกลับมาซื้อออนไลน์เพราะมีแรงหนุนจากโปรโมชั่นต่างๆ นอกจากออฟไลน์และออนไลน์แล้ว ยังมีช่องทางอื่นที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ เพิ่ม เรียกว่าเป็น Alternative channels เช่น พูดคุยกับแบรนด์ต่างๆ หรือ Live Buying คือซื้อจากไลฟ์สด หรือ Group buy รวมกลุ่มเพื่อซื้อของได้มากขึ้น

Consumers journey

สำหรับเส้นทางการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าคือ เริ่มจากการค้นพบ (Discovery) ลูกค้าจะใช้โซเชียลมีเดียค้นพบสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ๆ กว่า 48% และค้นพบสินค้าต่างๆ ผ่านช่องทางวิดีโอด้วย

จากนั้น จึงเริ่มประเมิน (Evaluation) พบว่า 49% ใช้โซเชียลมีเดียในการเปรียบเทียบข้อมูลสินค้า จากนั้นก็ดูคอมเมนท์ ดูการรีวิวเพื่อช่วยการตัดสินใจ และดูการรีวิวของ Influencer เป็นพิเศษเพื่อช่วยตัดสินใจ ซึ่งวิดีโอคือสื่อที่ผู้บริโภคนิยมค่อนข้างสูง 40% ผู้บริโภคกล่าวว่าใช้สำหรับค้นพบสินค้าและประเมินสินค้า เทรนด์ที่กำลังมาแรงคือ Content Creator ราว 34% มีการซื้อของต่างๆ มากขึ้นจากครีเอเตอร์ จากนั้นจึงนำไปสู่การซื้อ

Singapore & Malaysia dominate fintech investment

Fintech มาแรง สิงคโปร์และอินโดนีเซียครองพื้นที่นี้

ดิเรกพูดถึงเทรนด์ในอนาคตว่า ประชากรในไทยหรืออาเซียนเป็น Digital Consumers มากขึ้น เปิดรับเทคโนโลยีและวิธีการซื้อขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เทรนด์ในอนาคต ทั้ง Fintech หรือ Web 3.0 ไม่ว่าจะคริปโต NFTs หรือ DeFi อาเซียนถือเป็นแถวหน้าสำหรับมิตินี้

เราจะเห็นว่าการลงทุนทั้ง Private Equity (การลงทุนในหุ้นนอกตลาดหรือหุ้นที่ยังไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) หรือ Venture Capital (การร่วมทุน) ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว จะเห็นการลงทุนในเทคโนโลยีและพื้นที่ใหม่ๆ ต่อเนื่องมากขึ้น สำหรับในอาเซียนนั้น สิงคโปร์ยังดึงดูดการลงทุนอย่างมาก รองลงมาคืออินโดนีเซีย สำหรับไทยยังมีสัดส่วนที่ต่ำอยู่ แต่ถ้าเราสามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ มากขึ้น ก็จะดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

PE & VC

อันดับแรกที่คนลงทุนอย่างมากคือ Fintech ถือว่าสิงคโปร์และอินโดนีเซียครองตลาดทั้งภูมิภาค มีการเติบโตด้าน fintech อย่างมาก แบ่งเป็นสัดส่วนได้ดังนี้ สิงคโปร์ 60% อินโดนีเซีย 19% มาเลเซีย 10% เวียดนาม 4% ฟิลิปปินส์ 4% ส่วนไทยรั้งท้ายอยู่ที่ 2% นอกจาก Fintech ก็ตามด้วย eCommerce, Edtech, Healthtech และอื่นๆ

ปัจจุบันประสบการณ์ Metaverse ยังเป็น 2D อยู่ทั้งในแง่ซื้อขาย สื่อสาร เกม NFTs แต่ 2-3 ปีข้างหน้าจะดีขึ้น ส่วนอีก 10-15 ปีข้างหน้าก็จะพัฒนาไปอีก เรียกว่าไม่ได้เร็วไปหรือช้าไป

โดยสรุป 6 ธีมหลักที่ธุรกิจต้องรู้

  1. อาเซียนยังดึงดูดนักลงทุนอยู่ แม้จะยังมีปัจจัยลบอยู่บ้าง
  2. อัตราเงินเฟ้อยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา จะทำอย่างไรให้ควบคุมได้และอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
  3. ซัพพลายเชน เป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้หลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดสินค้าขาดตลาด
  4. การมอง Customer Journey แบบบูรณาการคือ ต้องทำให้เป็น Omni-channel และไร้รอยต่อ
  5. นอกจาก e-commerce ก็มีเทรนด์อื่นๆ ที่เป็นโอกาสในการลงทุนและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ
  6. ต่อจากนี้ เตรียมทีม เตรียมบุคลากรอย่างไรให้ทำธุรกิจปัจจุบันไปต่อได้ และสามารถไปลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตได้ด้วย

ที่มา – SYNC Southeast Asia 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา