ไม่อยู่แล้วจีน หนีไปสิงคโปร์ดีกว่า: จีนปั่นป่วนเกินคาดการณ์ ทำนักธุรกิจและเศรษฐีจีนเริ่มอยู่ไม่ไหว

ไม่อยู่แล้วจีน เหล่ามหาเศรษฐีขอลา ไปใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ดีกว่า

ก่อนหน้านี้นักธุรกิจ นักลงทุน เศรษฐีส่วนใหญ่อาจมองสิงคโปร์เป็นฮับทางเศรษฐกิจ เป็นทางผ่านสำหรับทำธุรกิจ ไม่ได้คิดจะไปใช้ชีวิตอยู่จริงจัง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่เศรษฐีจีนทั้งหลายกำลังจะมุ่งไปอยู่อาศัย ไปตั้งรกราก ไปเป็นพลเมืองของที่นั่น

migration, travel, business

คำบอกเล่าจากครอบครัวชาวจีนเล่าว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาให้ลูกเรียนที่สิงคโปร์ ส่วนสามีที่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างชาติก็หันมาทำธุรกิจในกว่างตง จีน แต่หลังจากจีนมีการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโควิดเข้มข้น เงินหยวนอ่อนค่า แถมมีเรื่องภาษีเข้ามาอีก ยิ่งทำให้พวกเขาไม่แน่ใจว่าสถานการณ์เช่นนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร เขาจึงวางแผนที่จะขายทรัพย์สินมูลค่า 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้าและเตรียมย้ายออกจากจีนไปใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ ไปเป็นพลเมืองของที่นั่นเต็มตัวและเริ่มทำธุรกิจใหม่

สิงคโปร์กลายเป็นแหล่งดึงดูดเศรษฐีชาวจีนให้อพยพไปลงทุนในประเทศมากขึ้น ความต้องการนี้เพิ่มสูงขึ้นหลังจีนเริ่มมีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับ 5 ประเทศแรกที่มีคนรวยอยากย้ายเข้าไปอยู่อาศัย

10 ประเทศแรกที่คนรวยอยากย้ายไปอยู่อาศัย ดังนี้

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อิสราเอล สวิตสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส กรีซ แคนาดา และนิวซีแลนด์

10 ประเทศแรกที่คนรวยทั้งหลายอยากย้ายออก
.
รัสเซีย จีน อินเดีย ฮ่องกง ยูเครน บราซิล อังกฤษ เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย

คนรวยไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้น คลับ VIP ก็เพิ่มจำนวนตาม

การไหลเข้าสิงคโปร์ของเหล่าเศรษฐีจีนส่งผลให้ปัจจุบันมีคลับสำหรับคนรวยระดับ VIP ผุดขึ้นเต็มประเทศไปหมด บรรดาเศรษฐีที่เป็นสมาชิกของคลับต้องจ่ายเงินมหาศาลราว 50,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.7 ล้านบาทสำหรับค่าไวน์ ค่าซิการ์ที่มีราคาแพงระยับเพื่อชาร์จสมาชิก ไม่ใช่แค่ดื่มวิสกี้หรือไวน์เท่านั้น แต่เหล้าเหมาไถสัญชาติจีนก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในคลับเหล่านี้

จำนวนประชากรในสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้น นับรวมถึงผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือพวก non-residents ก็ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3.4% เทียบกับปีก่อนหน้า รวมเป็น 5.64 ล้านคนในปี 2022 จำนวนพลเมืองชาวสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 1.6% เป็น 3.55 ล้านคน

Mei Lingchuan ผู้ที่เคยทำงานด้านไอทีอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันเรียนด้าน MBA ที่สิงคโปร์ ระบุว่า นักเรียนชาวจีนที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ก็มองหาที่อยู่อาศัยในประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพ รายได้ที่แข่งขันได้และมีการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม ขณะที่ Alfred Wu รองศาสตราจารย์จาก Lee Kuan Yew School พูดถึงการย้ายออกของผู้คนในจีนนั้นมีแรงจูงใจโดยตรงมาจากความต้องการที่อยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการควบคุมโควิดระบาดเข้มข้นของจีน เพราะมันกระทบต่อหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

ความต้องการดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานจาก Henley & Partners ที่เคยระบุว่าเศรษฐีในแต่ละประเทศมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นและลดลง โดยมี Top 3 เมืองที่เศรษฐีอาศัยอยู่มากที่สุดคือนิวยอร์ก โตเกียว และซานฟรานซิสโก

การเก็บข้อมูลของ Henley นี้เก็บจาก 62 ประเทศทั่วโลกมีทั้งยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนียและกลุ่มประเทศ CIS

Henley ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากการเคลื่อนย้าย พฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินของเหล่าเศรษฐีกว่า 1.5 แสนคน โดยแบ่งกลุ่มคนรวยออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม HNWI มีสินทรัพย์ในครอบครองมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 35 ล้านบาทขึ้นไป, กลุ่ม Multi-millionaires รวยระดับ 10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 360 ล้านบาทขึ้นไป, กลุ่ม Centi-millionaires ระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3,600 ล้านบาทขึ้นไป, กลุ่ม Billionaires ระดับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 36,000 ล้านบาทขึ้นไป

ที่มา – SCMP, Henley & Report (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา