สิงคโปร์ที่หลายๆ คนชื่นชมในระบบจัดการวางแผนรับมือสู้โควิด-19 นอกจากจะทำให้ประชาชนเสี่ยงติดเชื้อน้อยลงแล้ว ยังทำให้แพทย์ไม่ต้องเสี่ยงมากในการรักษาคนไข้ ไม่ต้องทุกข์หนักเหมือนหลายประเทศที่กำลังวุ่นวายกับการรับมือโควิด-19 อย่างสับสน การที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ การขาดแคลนเครื่องมือป้องกันทางการแพทย์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนป่วยเพิ่มขึ้น
ในมาเลเซีย หญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลว่าพ่อของเธอตรวจเจอเชื้อโควิดเป็นผลบวก หลังจากเธอคลอดแล้ว โรงพยาบาลต้องปิดดำเนินการเพื่อทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อ ในฟิลิปปินส์ มีแพทย์เสียชีวิต 9 คน มีจำนวน 2 คนที่โกหกประวัติการเดินทาง
ในสเปน บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 5,400 คนติดเชื้อโควิด ขณะนี้ในประเทศมีคนป่วยราว 14% จำนวนแพทย์มีไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ในอิตาลี มีคนไข้กว่า 69,000 คน โควิดคร่าชีวิตแพทย์หลายคนเพราะไม่มีทางเลือกในการรักษา ต้องรักษาคนไข้แบบปราศจากถุงมือป้องกันตนเอง
ในสหรัฐอเมริกา คนติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกแทนจีนแล้ว มีคนติดเชื้อกว่า 80,000 คน ในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์และคนป่วยในประเทศเสี่ยงติดเชื้อและอาการแย่ลงเพราะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัว อาทิ เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย ถุงมือ
ปัจจุบัน คนติดเชื้อในสิงคโปร์ราว 879 ราย ทั้งหมดได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อราว 41 ราย พวกเขาต้องสอดท่อเข้าไปทางหลอดลมของคนไข้ ซึ่งง่ายต่อการมีอาการไอ ที่ทำให้เกิดฝอยละอองที่แพร่เชื้อได้ ในขณะนั้นแพทย์ยังไม่ทราบผลว่าเขาติดเชื้อไวรัส เพียงแต่อยู่ในช่วงกักกันตัวหลังพบว่ามีผลตรวจเป็นบวก หลังจากนั้นสองสัปดาห์จึงไม่พบเชื้อ แพทย์ที่ใช้หน้ากาก N95 สามารถกรองได้ 95%
ทั้งนี้ อุปกรณ์ป้องกันตนเองส่วนบุคคล หรือ PPE นี้ จีนบริจาคให้หลายแห่ง อาทิ ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ยุโรป ขณะเดียวกัน มหาเศรษฐี Jack Ma ก็บริจาคมาให้ 10 ประเทศในเอเชีย ทั้งหน้ากาก 1.8 ล้านชิ้น ชุดตรวจโควิด-19 และชุดป้องกันตัวเองกว่า 36,000 ชิ้น ซึ่ง Leong Hoe Nam ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระบุว่าเอเชียมีประสบการณ์เคยรับมือโรคระบาดอย่างซาร์ส (SARS) มาแล้ว ไม่เหมือนประเทศตะวันตกที่ขาดความเตรียมพร้อมและขาดแคลนเครื่องมือด้วย
Jack Ma บริจาคหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติงาน หน้ากากป้องกันละออง (face shield) ผ่านเที่ยวบินพิเศษที่ขนอุปกรณ์น้ำหนักรวม 17 ตัน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา
กรณีศึกษาจากสิงคโปร์
เกิดจากความเตรียมพร้อมที่เคยรับมือซาร์สระบาดมาก่อน ช่วงนั้นแพทย์ติดเชื้อซารส์ราว 41% หรือประมาณ 238 ราย การรับมือกับโรคโควิด-19 สิงคโปร์ก็รับมือตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าโควิด-19 คือโรคระบาด การรับมือจึงราบรื่นขึ้น ช่วงที่มีคนติดเชื้อคนแรก โรงพยาบาลเริ่มแจ้งให้บุคลากรเลื่อนเวลาการเดินางท่องเที่ยวหรือลาพักออกไปก่อน เพื่อรับมือกับโควิด-19 โรงพยาบาลเตรียมแผนรับมือกรณีที่อาจเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดทันที
- สิงคโปร์มีแพทย์ทั้งหมด 13,766 คน หรือประมาณ 2.4 คน ต่อประชาชน 1,000 คน
- สหรัฐอเมริกามีแพทย์ 2.59 คน ต่อประชาชน 1,000 คน
- จีนมีแพทย์ 1.78 คน ต่อประชาชน 1,000 คน
- เยอรมนีมีแพทย์ 4.2 คน ต่อประชาชน 1,000 คน
- เมียนมาและไทยมีแพทย์น้อยกว่า 1 คน ต่อประชาชน 1,000 คน
Chia Shi-Lu ศัลยแพทย์กระดูกและกล้ามเนื้อกล่าวว่า ต้องทำให้มั่นใจว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีเพียงพอต่อการรองรับคนป่วยที่อาการหนัก แพทย์และพยาบาลต้องมีเพียงพอที่จะรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น รู้วิธีใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตอ๊อกซิเจนให้แก่คนป่วย
Jade Kua เล่าว่า การแบ่งทีมแพทย์ แบ่งออกเป็น 4 ทีม ทีมละ 21 คน แต่ละทีมทำงานกะละ 12 ชั่วโมง แต่ละทีมจะต้องไม่ปฏิสัมพันธ์กัน ทีมแพทย์สามารถแยกการทำงานออกจากกันได้ แต่ละกะแยกออกจากกัน ไม่เอากะเช้ามารวมกับกะดึก
Chia เสริมว่า แพทย์จะไม่พยายามพบปะกันกับแพทย์นอกทีมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งที่พวกเขาทำคือการทักทายอยู่แถวประตูทางเข้าเท่านั้น ไม่ว่าจะในโรงอาหาร หรือจะเป็นที่ใดก็ตาม จะใช้มาตรการ social distancing เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งตัวเองแพร่เชื้อ (กรณีที่อาจติดเชื้อ) หรือรับเชื้อ กรณีที่อีกฝ่ายติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีการวางแผนด้านการแพทย์เช่นนี้ หลายประเทศก็ล้มเหลว ในอินเดียมีประชากร 1.3 พันล้านคนแต่มีแพทย์ราว 20,000 คนที่ได้รับการฝึกกรณีที่เจอเคสป่วยหนัก เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ
การวางแผนในที่นี้ ยังรวมถึงการสต็อกอุปกรณ์ป้องกันตัวเองกรณีที่อาจจะเกิดความขาดแคลนได้ ซึ่งตอนนี้หลายแห่งทั่วโลกประสบภาวะขาดแคลน บทเรียนจากซาร์สสอนให้สิงค์โปร์รู้ว่า จะเกิดเหตุการณ์ขาดหน้ากากอนามัย ถุงมือ เสื้อคลุม ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด สิงคโปร์บอกให้พลเมืองของตัวเองไม่ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์มีเหลือใช้
ไม่ใช่แค่คนป่วยที่แพทย์ต้องรับมือ ต้องรับมือกับคนที่เหยียดแพทย์ด้วย
ในสิงคโปร์ บุคลากรทางการแพทย์กำลังประสบปัญหาคนเหยียดคน ประชาชนบางส่วนเหยียดแพทย์ ในฝรั่งเศส ในอิตาลี หรืออังกฤษ ผู้คนต่างให้กำลังใจแทย์จากหน้าต่างบ้านตัวเอง แต่ในสิงคโปร์กลับเจอสิ่งที่ตรงกันข้าม
พยาบาลคนหนึ่งเล่าว่า เธอไม่สามารถสวมชุดพยาบาลออกจากบ้านได้ เพราะคนอื่นไม่รู้ว่าเธอทำงานแล้วต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง พยาบาลบางคนพยายามจะเรียกรถให้มารับเพื่อมาส่งไปทำงานที่โรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่เธอถูกปฏิเสธจากคนขับถึง 5 ครั้งเพราะหวาดกลัว ในอินเดียยิ่งหนัก บุคลากรทางการแพทย์หลายคนถูกบังคับให้ไม่อยู่บ้านเพราะหวาดกลัวโรคโควิด-19
อ่านเพิ่ม ผู้นำสิงคโปร์เก่งยังไง..ที่นี่
- กลัวได้แต่อย่าวิตก เรียนรู้วิธีรับมือโควิด-19 ของสิงคโปร์ที่ WHO ออกปากชม
- ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลี เซียนลุง เปิดแผนรับมือ COVID-19 การแพทย์ เศรษฐกิจ จิตวิทยา
- ผู้นำตัวจริง สิงคโปร์เตรียมทุ่มเงิน 1.5 ล้านล้านบาท อุ้มคนทั้งประเทศสู้โควิด-19
- ต้องรอด ลี เซียน ลุง ย้ำจะทำทุกวิถีทางให้ชาวสิงคโปร์รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ให้ได้
ที่มา – South China Morning Post, The Star
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา