กลัวได้แต่อย่าวิตก เรียนรู้วิธีรับมือโควิด-19 ของสิงคโปร์ที่ WHO ออกปากชม

ในช่วงเดือนที่ผ่านมากระแสของโรค COVID-19 สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกคนอย่างมาก ทั้งตัวเลขผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก บางคนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับ ไม่มีจิตใจทำงาน หรือทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าเดิม

ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนี้ต้องอาศัยความความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหา ลดความกลัว คลายความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกปากชมในทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการขององค์การฯ

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ใช้มาตรการขั้นสูงสุด เพื่อคัดกรองผู้ป่วยทั้งที่เข้าข่าย และไม่เข้าข่ายของโรค คือ แม้จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ก็ต้องได้รับการตรวจว่าเป็นโรค COVID-19 หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจไปแล้วกว่า 400 เคส รวมถึงออกมาตรการให้ผู้ที่เพิ่งกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ต้องสังเกตอาการอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน แต่มีข้อยกเว้นสามารถออกมาซื้ออาหาร และของใช้ได้บ้างตามความจำเป็น

Lee Hsien Loong, ภาพจาก Shutterstock

ไม่ใช่แค่การคัดกรองผู้ป่วยเท่านั้น แต่การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ดังนี้

ใช้ AI เพื่อแปลภาษา เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ ดังนั้นจึงมีการใช้ AI ช่วยแปลภาษาข้อความภาษาอังกฤษ เป็นภาษาจีน มาเลย์ และทมิฬ เพื่อความรวดเร็วในการกระจายข่าวสาร

ประชาชนสมัครรับข่าวสารได้ง่าย สามารถเลือกภาษาของข้อความที่ต้องการได้เอง และรัฐบาลสามารถจัดทำ Mailing list ได้ในเวลาเพียง 30 นาที เพราะข้อมูลของหน่วยงานรัฐสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด

มีระบบส่งข้อความที่รวดเร็ว สามารถส่งข้อความหาประชาชนได้ 500 ข้อความในระยะเวลาเพียง 1 วินาที ทำให้ผู้สมัครรับข้อความจำนวน 5 แสนคน ได้รับข้อความในระยะเวลา 30 นาทีเท่านั้น

มีระบบรายงานตำแหน่งสำหรับประชาชนที่ต้องสังเกตอาการ โดยจะมีข้อความ SMS ส่งหาประชาชนที่ต้องสังเกตอาการสุ่มตามระยะเวลาในแต่ละวัน และจะรายงานตำแหน่งปัจจุบันกลับไปโดยอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาอยู่บ้านจริงๆ

นอกจากนี้ยังมีระบบ Chatbot ที่คอยตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องการระบาดเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ อธิบายข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

WUHAN, CHINA – FEBRUARY 12: (CHINA OUT) Residents wear protective masks as they line up in the supermarket
on February 12, 2020 in Wuhan, Hubei province, China. Flights, trains and public transport including buses, subway and ferry services have been closed for 21 days. The number of those who have died from the Wuhan coronavirus, known as 2019-nCoV, in China climbed to 1117. (Photo by Stringer/Getty Images)

ความวิตกกังวลนี้เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสนใจกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เราจึงเกิดความวิตกกังวลกับเรื่องร้ายๆ มากกว่าสนใจเรื่องดีในอีกแง่มุมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน รวมถึงสื่อเองต่างช่วยนำเสนอข่าวประเภทนี้ทุกช่องทาง ไม่ใช่แค่เรื่องสถานการณ์โรค COVID-19 เท่านั้น แต่รวมไปถึงข่าวอื่นๆ เช่นภัยธรรมชาติ ไฟป่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และภาวะโลกร้อน ทำให้เราซึ่งเป็นผู้เสพข่าวสารเกิดความกลัว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาทางควบคุมจิตใจ ไม่ให้วิตกกังวลมากเกินไป จะได้ใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างปกติที่สุด ซึ่งทำได้ง่ายๆ ดังนี้

ความกลัวเป็นแค่สิ่งที่จิตใจสมมติขึ้น ความกลัวก็เป็นเหมือนภาพลวงตาที่ใจของเราสมมติขึ้นมา เราต้องรู้จักควบคุมความกลัวของเรา อย่าปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ

ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน อย่าคิดไปไกล นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ค้นพบว่ามนุษย์ใช้เวลากว่า 47% ในแต่ละวันไปกับความสับสนในจิตใจ คิดถึงเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวลไปก่อน ดังนั้นทางแก้ง่ายๆ คือต้องรู้จักอยู่กับปัจจุบัน อย่ากังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ให้โฟกัสกับภาระงานที่อยู่ตรงหน้าจะดีกว่า

หลีกเลี่ยงการเสพสื่อบ้างก็ได้ บางครั้งการติดตามข่าวสารมากเกินไปก็ทำให้เรารู้สึกกังวลกับสถานการณ์ ลองปิดโทรศัพท์ ไม่รับข่าวสารบ้าง จะช่วยลดความกังวลทำให้จิตใจผ่อนคลายได้บ้าง

สุดท้ายต้องรู้จักยอมรับความจริงให้ได้ ในเมื่อสถานการณ์โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ตลาดหุ้นตกในหลายประเทศ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ ยอมรับความจริง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ให้ดีที่สุด มีสติ ไม่ตื่นตระหนก เตรียมร่างกายให้พร้อม ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย นอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายเรา

ที่มา – inc, govinsider, channelnewsasia, npr, south china morning post 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา