จับกลุ่ม “วัยเก๋า” เอาใจ “วัยโจ๋” กลยุทธ์ของรายเล็ก ออกซิมมือถือตามวัยผู้ใช้

การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการมือถือนั้น ดุเดือด เข้มข้น โดย 3 รายคือ AIS, dtac และ True ซึ่งทั้ง 3 รายคงไม่อยากให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแบ่งรายได้ไป ดังนั้นการกีดกันรายใหม่โดยวิธีการทางการตลาด เช่น ค่าบริการต่ำ, เล่นอินเทอร์เน็ตเร็วๆ มากๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้มีแววว่า จะเกิดผู้เล่นรายที่ 4 จากการประมูล แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นให้บริการได้

ตามสภาพตลาดโทรคมนาคม การมีผู้เล่น 3 ราย ถือว่าการแข่งขันเพื่อผู้บริโภคยังไม่สมบูรณ์ เพราะถ้ามี 2 รายที่ “ฮั้ว” กัน การแข่งขันจะหายไปทันที ดังนั้นเมื่อไม่มีผู้เล่นรายที่ 4 ความหวังเลยไปอยู่ที่ ผู้ให้บริการแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ซึ่งในตลาดเวลานี้ ที่ยังพอมีผู้ใช้อยู่ เช่น My by CAT, i-mobile และ ซิมเพนกวิน ซึ่งส่วนสำคัญคือ กลยุทธ์ที่จะใช้ต่อกรกับรายใหญ่

ซิมเพนกวิน เจาะตลาดตาม “วัย” ที่แตกต่าง

ชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด ผู้ให้บริการ ซิมเพนกวิน บอกว่า MVNO ต้องแข่งแบบที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง ดังนั้นต้องพยายามคิดกลยุทธ์ที่รายใหญ่จะไม่สนใจ ในอดีตอาจมีความคิดเกี่ยวกับ ซิมภูมิภาค แต่ดูแล้วไม่น่ามีผลกับตลาดปัจจุบัน

ซิมเพนกวิน เห็นว่า สังคมไทย มีความแตกต่างทาง “อายุ” นอกจากกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) และยังมีคน Gen Y และ Gen ใหม่ๆ ก้าวเข้าสู่สังคมมากขึ้น พฤติกรรมก็แตกต่างไปตามวัย การทำตลาดแบบตาม “วัย” จึงเกิดขึ้น

วัยแรกคือ วัยเก๋า หรือผู้สูงวัย ที่มีการใช้งาน Social เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อติดต่อสื่อสารกับลูกหลานและเพื่อนสูงที่ห่างหายจากกันไปนาน นัดเลี้ยงรุ่น สนุกสนานเฮฮากันได้มากขึ้นแต่ก็กังวลใจเกี่ยวกับ ค่าอินเทอร์เน็ตที่อาจจะสูง หรือการตั้งค่าที่อาจจะยาก

อีกวัยคือ วัยโจ๋ นี่คือกลุ่มที่บริโภคอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แทบจะไม่ใช้บริการโทรอีกแล้ว (โทรก็โทรด้วย LINE หรือ Facebook) แต่ก็จะเน้นเปรียบเทียบราคาที่คุ้มค่าบนคุณภาพที่ดี

ซิมวัยเก๋า ซิมวัยโจ๋ กระจายต่างจังหวัด

ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ซิมเพนกวิน บอกว่า เมื่อได้พฤติกรรมที่แตกต่างของ 2 วัย ก็จัดออกมาเป็น…

ซิมวัยเก๋า ที่ให้ค่าโทร 1 วิ 1 สตางค์ ตั้งแต่วิแรกทุกเครือข่าย ค่าอินเทอร์เน็ต 1 MB 0.25 บาท แต่ไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน สบายใจ ไม่มีโปรเสริม ใช้ยังไงก็ไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน และแถมประกันอุบัติเหตุกรณีเสียชีวิต วงเงิน 10,000 บาทให้ด้วย

ซิมวัยโจ๋ โทร 1 วิ 1 สตางค์ (นาทีแรก 99 สตางค์) ทุกเครือข่าย ค่าอินเทอร์เน็ต 1 MB 0.50 บาท (ความเร็ว 1 Mbps) แต่มีโปรเสริมคือ

  • โปรกวิ้น เน็ตโจ๋ เน็ต 1.5 GB ความเร็ว 1 Mpbs ส่วนเกินเล่นได้ 384 Kbps ราคา 199 บาท
  • โปรกวิ้น เน็ตโจ๋ เน็ต 3 GB ความเร็ว 1 Mpbs ส่วนเกินเล่นได้ 384 Kbps ราคา 299 บาท
  • โปรกวิ้น เน็ตโจ๋ เน็ต 4.5 GB ความเร็ว 1 Mpbs ส่วนเกินเล่นได้ 384 Kbps ราคา 399 บาท

penguin1-sim

สำหรับภาพรวมของ ซิมเพนกวิน เปิดให้บริการมา 6 เดือน มีผู้ใช้งานแบบเติมเงินทั้งหมด (ลงทะเบียนเรียบร้อย) กว่า 3 แสนราย (เฉลี่ยเพิ่มเดือนละ 5-6 หมื่นราย) ถือว่าน่าพอใจมาก โดย 70% เป็นผู้ใช้ในต่างจังหวัด กว่า 20% เป็นผู้ใช้ใน กทม. ทำให้ซิมเพนกวิน มองเห็นกลุ่มลูกค้าตัวเองว่าอยู่ที่ไหน และจะมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อเป็นฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นต่อไป

penguin2-sim

สร้างแบรนด์มากขึ้น พร้อมขยายลูกค้า

จากแผนการตลาดของซิมเพนกวิน อีกประมาณ 3 เดือนที่เหลือ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มลูกค้าให้ได้ 2 แสนราย รวมเป็น 5 แสนราย โดยปัจจุบันการใช้งานซิมเพนกวิน เฉลี่ยเดือนละ 140 บาทต่อเลขหมาย และคิดว่าจะคงที่ในระดับนี้ไม่เพิ่มหรือไม่ลดลง เพราะเป็นพฤติกรรมของคนใช้งานในต่างจังหวัด โดยพบว่า 85% คือการใช้อินเทอร์เน็ต 15% คือใช้โทร เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

สำหรับการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ นอกจากจะเน้นตลาดต่างจังหวัดต่อไป ซิมเพนกวิน จะเริ่มจับตลาดผู้ใช้ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะด้วยแพ็คเกจราคาถือว่าสอดคล้องกับพฤติกรรม แต่ทุกวันนี้ยังใช้งานน้อยอยู่ โดยจะขยายร้านขายซิมให้มากขึ้น โดยในไทยมีร้านขายซิมกระจายประมาณ 20,000 ร้านทั่วประเทศ ซิมเพนกวิน มีขายแล้วประมาณ 10,000 แห่ง

สรุป

การทำธุรกิจ MVNO ไม่ง่ายเลย เพราะทุกตลาดที่ทำ รายใหญ่ทั้ง 3 สามารถกระโดดลงมาเล่นงานด้วยงบที่มากกว่า และพลังทางการตลาดที่สูงกว่า ข้อดีของ MVNO คือ เป็นรายเล็กที่เคลื่อนไหวเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว แต่จุดอ่อนคือ แบรนด์ ไม่เป็นที่รู้จัก เป็นอุปสรรคในการทำตลาดที่ยากกว่า ซึ่ง ซิมเพนกวิน มองเห็นจุดนี้ และจะเน้นให้มากขึ้น

ถ้ามองผู้เล่น MVNO 3 รายในตลาด My by CAT น่าจะเป็นผู้เล่นที่มีลูกค้ามากที่สุด ตามมาด้วยซิมเพนกวิน (กว่า 1 ใน 3 ของตลาด) ขณะที่ i-mobile ดูจะเงียบหายไปในช่วง 2 ปีหลังมานี้ จากเดิมที่เน้นขายซิมไปพร้อมกับเครื่องมือถือ แต่พอยอดขายมือถือสะดุด (ในงาน ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป ที่ผ่านมา ก็ไม่มีเครื่อง i-mobile) ทำให้ยอดซิมชะลอตัวไปด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา