หมดยุคหนังสือพัฒนาตัวเองสุดโต่ง คนยุคนี้เหนื่อยก็พัก เทรนด์ปล่อยวางมาแรง รู้จักช่างแ-่งบ้างก็ได้

10 ปีที่แล้ว หนังสือขายดี มักเป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เช่น “เครื่องบอกทิศนำทางชีวิต” “บิดารวยสอนลูก” “ใช้ชีวิตให้ยิ่งใหญ่เหมือนผู้นำระดับโลก” “เก่งขึ้นได้ด้วย 10 วิธีง่ายๆ เปลี่ยนชีวิต” ชื่อบนปกแสนล่อตาล่อใจ ยิ่งชวนให้สงสัยว่าการพลิกหน้ากระดาษ 100-200 แผ่นนั้น จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราเปลี่ยนไปได้อย่างคำเชื้อเชิญบนปกบอกไว้จริงหรือไม่

หนังสือพัฒนาตัวเองอาจไม่ได้หายไป แต่ตั้งชื่อปกที่เข้าถึงอารมณ์คนยุคนี้มากกว่า

จนมาถึงปัจจุบัน หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ก็ยังไม่ได้จางหายไปจากชั้นหนังสือขายดี แต่มุมมองต่อการพัฒนาตนเองนั้น ไม่ได้เหมือนกับในสิบปีที่แล้วอีกต่อไปแล้ว หากกวาดสายตาไล่เรียงบนชั้นหนังสือหมวดพัฒนาตนเองในตอนนี้ อาจจะต้องกลั้นขำให้กับชื่อหนังสือปั่นประสาท เช่น “ศาสตร์แห่งการช่างแม่ง” “วิธีรับมือคนเฮงซวย” “คิดมากไปทำไมเดี๋ยวก็ตายกันหมดแล้ว” เป็นต้น 

แม้เนื้อหาด้านในจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เหมือนเดิมตามที่หนังสือหมวดนี้ควรจะเป็น แต่ทว่า มุมมองต่อการใช้ชีวิตนั้นดูเหมือนจะเปลี่ยนไป ไม่ต่างกับเทรนด์ต่างๆ บนโลกใบนี้ จากการปั้นตัวเองที่แสนธรรมดา ให้กลายเป็นคนเก่ง คนพิเศษ ได้พลิกโฉมไปอีกฝั่ง สู่การปล่อยวาง เปิดโอกาสให้เราได้เอ่ยคำว่า “ช่างมัน” กับชีวิตบ้างก็ได้ กลายเป็นว่า ในเจเนอเรชั่นที่ต่างกันทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวิต ต่อความสำเร็จในชีวิตแตกต่างกันไปด้วย ค่านิยมในการอ่านเลยผันเปลี่ยนไปตามเวลา

หรือว่านี่จะไม่ใช่ยุคของ หนังสือพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นตลอดเวลา อีกต่อไปแล้ว?

เพราะชีวิตนั้นมันช่างปัจเจก

ในหนังสือพัฒนาตัวเอง มักจะมีแพทเทิร์นที่เราคุ้นเคยกันดี บอกเล่าปัญหา ความล้มเหลวที่เจอ สร้างบรรยากาศกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนเรารู้สึกอินไปกับปัญหานั้นไปด้วย 

ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไรดีนะ? 

แต่แล้วก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์สาดส่องเข้ามา ผู้เขียนใส่ทางออกที่จากประสบการณ์ของตัวเองเอาไว้ จนคนอ่านแล้วแทบตบเข่าฉาด เขาผ่านมาได้ด้วยวิธีเช่นนี้เองหรอ พอเราได้ลองเอามาทำตามแล้ว มันกลายเป็นว่า เราได้ก้าวตามทางเดินที่ถูกต้องตามที่หนังสือบอกไว้ มันช่างเติมเต็มความเว้าแหว่งในใจได้ดีจริงๆ 

แต่หนังสือสิบเล่ม สิบผู้เขียน ก็มีวิธีต่างกันออกไป Dr. Tim Carey นักจิตวิทยาจาก Curtin University ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความบนเว็บไซต์ psychologytoday.com ไว้ โดยแนะนำว่า การหยิบยืมความคิด วิธีการ ของผู้อื่นมาใช้กับเรานั้นเหมือนกับการหยิบยืมสูตรทำอาหารของเขามา อาจจะเหมาะกับเราหรือไม่เหมาะก็ได้ เพราะการใช้ชีวิตของแต่ละคน เจอประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในรายละเอียดเล็กน้อย ที่เราไม่อาจยึดถือเอาวิธีของใครคนใดคนหนึ่งมายึดถือไว้ทั้งหมดได้ จึงแนะนำให้มองหาวิธีที่เป็นไปได้สำหรับตัวเอง ด้วยตัวเองจะดีกว่า

ประเด็นนี้สอดคล้องกับบทความจาก Forbes โดย Jeroen Kraaijenbrink ในเรื่อง ‘Why Self-Help Books Don’t Work (And How To Nevertheless Benefit From Them)’ ได้แบ่งประเภทของหนังสือแนวพัฒนาตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ ว่าหนังสือประเภทนี้มักจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Bad effect เป็นหนังสือประเภทที่ให้ความหวังและคำแนะนำแบบผิดๆ จนผู้อ่านไม่คิดจะแสวงหาคำแนะนำที่น่าเชื่อถือจากผู้เชี่ยวชาญ (อย่างน้อยก็มากกว่าผู้เขียน)
  • Placebo effect อ่านแล้วยังไงก็ใช่ ยังไงก็ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ผู้เขียนบอกมานั้น เป็นข้อเท็จจริงธรรมดาทั่วไปนี่แหละ แต่เราอาจจะมองข้ามมันมาตลอด จนมีคนหยิบยกสิ่งนี้ขึ้นมา เราถึงได้รับรู้ว่ามันมีข้อเท็จจริงนี้อยู่ด้วยนี่นะ
  • No effect อ่านแล้วไม่เกิดผลอันใด เพราะที่ใส่มามีแต่เรื่องสามัญสำนึกทั่วไปล้วนๆ 

หนังสือพัฒนาตนเองจึงอาจไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่ Gen Y และ Gen Z กลายมาเป็นลูกค้ารายใหญ่ในตลาดหนังสือ ทั้ง 2 เจเนอเรอชั่นต่างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ถ้าเทียบกับเจเนอเรชั่นก่อนหน้า 

The Me Generation กับมุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป 

“เด็กยุคใหม่นี่มันช่างขี้เกียจ ยอมแพ้ง่าย มั่นใจในตัวเองสูง” คำสบประมาทที่ทั้ง Gen Y และ Gen Z มักจะถูกคนรุ่นเก๋าแปะป้ายให้เหมือนๆ กัน อาจเพราะคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ของเจเนอเรชั่นก่อนหน้าอย่าง Baby Boomers ที่ใช้ชีวิตด้วยการไล่ล่าความสำเร็จ ความมั่นคงในชีวิต ทำงานให้หนักวันนี้แล้วจะสบายในวันหน้า 

แต่ในทางกลับกัน เหล่าคนรุ่นใหม่ มีมุมมองต่อการใช้ชีวิตต่างออกไป 

Gen Y กับปัญหาการตั้งตัว ที่พ่อแม่วาดฝันไว้ให้ ว่าความสำเร็จในชีวิตนั้นจะเริ่มจากการมีงานที่มั่นคง สร้างครอบครัว ลงหลักปักฐาน มีบ้าน มีรถ แต่ทุกอย่างมันไม่ง่ายขนาดนั้น งานวิจัย ‘The Life Patterns’ จาก University of Melbourne พบว่า เหล่า Gen Y รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ แบกรับค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่อยู่สูงลิ่ว ในขณะที่ตัวเองก็ไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ 

คน Gen Z ที่กำลังเริ่มต้นทำงาน ก็ต้องเผชิญกับช่วงโรคระบาด ที่มีทั้งปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ผลสำรวจจาก Cigna International Health สอบถามเหล่าคนทำงานกว่า 12,000 รอบโลก พบว่ากว่า 91% ของกลุ่มอายุ 18-24 ปี เผชิญกับความเครียดในการทำงาน 

แม้ทั้งสองรุ่นจะเกิดมาด้วยความพรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่คอยมอบความสะดวกสบาย แต่ในทางกลับกัน เศรษฐกิจกลับไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาตั้งตัวหรือเริ่มต้นเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานได้อย่างราบรื่น แค่การใช้ชีวิตก็ยากแล้ว จะต้องเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น จึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับวันเหนื่อยล้าของพวกเขา 

กระแสโต้กลับของความโปรดักทีฟจึงยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ใครๆ ก็ต่างก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตนี้มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นอีกต่อไป ความสำเร็จในชีวิตที่คนรุ่นก่อนเคยคิดไว้ จึงอาจไม่ใช่ความสำเร็จที่คนรุ่นใหม่อยากได้มาครอบครอง 

อาจเป็นแค่การอนุญาตให้ตัวเองได้เอนหลังในวันเหนื่อยล้า ได้หยิบงานอดิเรกที่หลงลืมไปขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ปล่อยผ่านแจ้งเตือนงานในวันหยุด อาจเป็นแค่อะไรเหล่านี้ที่คนรุ่นใหม่ไขว่คว้าให้ตัวเอง

 

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-control/202012/why-are-self-help-books-not-so-helpful-after-all 

https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2019/07/05/why-self-help-books-dont-work-and-how-to-nevertheless-benefit-from-them/?sh=4e866f6b5f91 

https://www.bbc.com/worklife/article/20230215-are-gen-z-the-most-stressed-generation-in-the-workplace

https://pursuit.unimelb.edu.au/articles/a-generation-dislodged-why-things-are-tough-for-gen-y 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา