เตรียมพบกับ Fintech ในตลาดนัดจตุจักร หลัง SCB จับมือรถไฟไทย ส่งแอพฯ รองรับไทย-จีน-อังกฤษ

ปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งของจตุจักรคือ “เดินหลง หาร้านไม่เจอ” ส่วนปัญหาในแง่เศรษฐกิจตอนนี้คือ “คนยังเดินอยู่ แต่ไม่ซื้อ” SCB มองว่าเทรนด์การซื้อของเปลี่ยนไป เลยพัฒนาแพลตฟอร์มฟินเทคขึ้นมา 2 แอพฯ ลูกค้าก็ใช้แผนที่นำทาง ร้านค้าก็ใช้จัดการการขาย ตลาดนัดไร้เงินสดจะเกิดขึ้นที่สวนจตุจักรได้จริงไหม? ต้องติดตาม

Photo: Flickr.com by Ben Tilley

หลังจากที่ได้เห็นการขยับของ SCB เมื่อไม่กี่วันมานี้กับการส่ง SCB EASY APP ออกมา รวมถึงอีกหลายธนาคารก็ไม่ยอมเหมือนกัน ส่งลงมาเล่นในเกม Digital Money กันอย่างสนุกสนาน

ล่าสุด SCB ขยับต่อกับการไปจับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จะส่งแอพพลิเคชั่น 2 ตัวลงไปสร้างแพลตฟอร์มให้ตลาดนัดจตุจักรกลายเป็นตลาดนัดดิจิทัล ในด้านลูกค้าการค้นหาร้านต้องไม่หลง เพราะได้ส่งแอพพลิเคชั่นแผนที่มาโดยเฉพาะ หรือถ้าติดต่อกับผู้ขายก็ต้องสะดวก ในขณะที่ด้านร้านค้าก็จะมีแพลตฟอร์มจัดการสินค้าหลังร้าน และจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล

SCB จับมือรถไฟไทยลุยจตุจักร แต่หัวหอกหลักคือ “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” บริษัทลูก

การพยายามเปลี่ยนจตุจักรให้เป็นตลาดนัดจตุจักรดิจิทัล ของ SCB เริ่มต้นมาจาก Pain Point จากจุดลูกค้าคือ “มาเดินแล้ว หาร้านไม่เจอ” และ SCB ก็มองว่า จตุจักรคือแลนด์มาร์กที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาในกรุงเทพ

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า “นอกจากเรื่องการจำร้านค้าไม่ได้แล้ว การซื้อของก็ต้องเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เราจึงสร้างแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่เป็นระบบ จ่ายเงินกันผ่านออนไลน์ได้”

ผศ. ดร. ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน ประธานกรรมการบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้ความเห็นถึงการจับมือกับ SCB ในครั้งนี้ว่า “ทุกวันนี้ การซื้อขายทุกอย่างมันอยู่บนมือถือ ถ้าไม่ปรับตัว ในอนาคตเราจะขายของไม่ได้”

ซ้าย-อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ขวา-ผศ. ดร. ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน ประธานกรรมการบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ทั้ง SCB กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ต่างมีความสำคัญ แต่ในแง่ระบบ บริษัทลูกของ SCB ต้องได้เครดิตไปเต็มๆ เพราะคือหัวหอกสำคัญในการพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มนี้

นั่นคือ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาฟินเทคในเครือ SCB เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลตัวนี้ขึ้นมา อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ระบุว่า “ต้องยอมรับว่าในอนาคตคนจะเดินจตุจักรน้อยลง หรือถ้าต่อให้เดินมาก ก็จะจับจ่ายน้อยลง ถ้าไม่มีการปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์มที่รองรับกับโลกออนไลน์ นั่นคืออนาคต”

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด

SCB เห็นตรงนี้ จึงเลยส่ง 2 แอพพลิเคชั่นนี้ออกมา

1. แอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้า Chatuchak Guide

แอพฯ ตัวนี้คือแผนที่ของตลาดนัดสวนจตุจักร ง่ายๆ เลยคือ เอามาแก้ปัญหา “เดินทีไร ก็หลงทุกที”

แอพฯ ตัวนี้ไม่ได้ใช้ GPS เพราะในตรอกซอกซอยเล็กในสวนจตุจักร ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เพราะงานละเอียดมาก” และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ยังบอกว่า “ถ้าเราทำที่จตุจักรได้ เราจะไปทำที่ไหนในโลกก็ได้” งานนี้ดิจิทัล เวนเจอร์ส เลยไปร่วมกับผู้พัฒนาระบบจากฟินแลนด์ชื่อ “IndoorAtlas” ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้การวัดคลื่นแม่เหล็กโลกได้ (Geomagnetic) เพราะฉะนั้นการค้นหาร้านค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรผ่านแอพฯ นี้ก็จะเป็นระบบนี้ทั้งหมด

ที่สำคัญคือ แอพฯ นี้รองรับทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ เพราะชาติที่มาเดินตลาดนัดนี้มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น เรียกได้ว่าตลาดนี้กว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ

2. แอพพลิเคชั่นสำหรับร้านค้า Merchant POS

แน่นอนว่าการพัฒนาต้องทำทั้งระบบ SCB ส่งแอพฯ นี้มาให้สำหรับร้านค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรเพื่อช่วยในการจัดการระบบการขาย ในแอพฯ นี้ พ่อค้าแม่ค้าจะสามารถจัดการสต๊อกสินค้า เช็ครายการขายในแต่ละวัน และรับชำระเงินด้วยพร้อมเพย์ได้

ร้านค้าที่เข้าร่วมกับ SCB ก็จะได้รับการช่วยโปรโมทในแอพฯ ทั้งในส่วนของภาพ วิดีโอแนะนำร้านค้า และระบบหลังบ้านผ่านการจัดการแพลตฟอร์มบนออนไลน์ทั้งหมด แต่สิ่งที่ SCB ขอกับพ่อค้าแม่ค้าคือ ต้องเปิดบัญชี เปิดพร้อมเพย์ และใช้ SCB EASY APP ถ้าทำครบ 3 ข้อนี้ก็มาเข้าร่วมกับ SCB ได้

ในท้ายที่สุด ตลาดนัดจตุจักรจะก้าวไปสู่อีคอมเมิร์ซเต็มตัวหรือไม่?

แผนของ SCB ต่อจากนี้คือจะขยายการบริการให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาร่วมเป็นจำนวนกว่า 1,000 ร้านค้า หลังจากนั้นจะขยายให้เป็น 8,000 ร้านค้า และหาจะครอบคลุมทั้งหมดต้องไปในสเกลใหญ่คือครอบคลุมทั้งหมดที่กว่า 10,000 ร้านค้าในตลาดนัด เพียงแต่ตอนนี้ยังคัดเลือกร้านค้ามาจากได้จากโครงการต่างๆ เพียง 50 ร้านค้า

ส่วนด้านงบประมาณนั้น เฟสแรกที่ทำไปนี้ที่ลงไปกับตัวแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นอย่างเดียว ได้ใช้ไปถึง 97 ล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้านร้านค้าที่จะเข้าโครงการ ต้องบอกว่า “ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ” แต่อย่างที่บอกต้องมีบัญชีไทยพาณิชย์ ใช้พร้อมเพย์(เพื่อที่จะได้ใช้ QR Code ได้) และต้องมีแอพฯ SCB easy แถมด้วยในช่วงแรก SCB จะมีมือถือให้กับร้านค้าที่อยากใช้บริการนี้ให้ฟรีด้วย

นอกจากนั้น SCB ยังแอบเปรยไว้ว่า ถ้ามีโอกาสก็จะจับมือกับ WeChat และ Alipay อีกด้วย เพราะชาวจีนมาตลาดนัดแห่งนี้กันมากเหลือเกิน

ถึงที่สุดแล้ว การเข้าไปสู่อีคอมเมิร์ซเต็มตัวคือเป้าหมายของ SCB เพราะต่อไปเราก็จะสั่งของจากจตุจักรที่ไหนหรือเวลาใดก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจตุจักรก็มีเสน่ห์ของตัวเอง หน้าร้านคงยังจำเป็น(อย่างน้อยก็ในช่วงนี้อย่างน้อยไปอีก 1 ปี) เพราะการเดินทางมาท่องเที่ยวในสถานที่จริงยังจำเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในตลาดนัดแห่งนี้ แต่ในครั้งนี้เป็นเสมือนการขยายหน้าร้านให้เข้าไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะการก้าวให้ทันโลกดิจิทัลก็สำคัญและจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำก็ตามโลกไม่ทัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา