บทวิเคราะห์เกม Digital Money ธนาคารไทยเร่งปรับตัว ครอบครองพื้นที่ก่อนพายุจะมา

ต้องบอกว่าสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งวงการ Digital Money ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะบรรดาธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงิน ต่างก็จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับบริการด้านการเงินดิจิทัลของตัวเอง และส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่าจะมุ่งผลักดันการจ่ายเงินที่อยู่รอบๆ ตัวคนไทยทั่วไป ให้ไปอยู่ในฟอร์แมตดิจิทัลมากขึ้นผ่านแอพมือถือของแต่ละค่าย

SCB ขอใกล้ชิดผู้บริโภคด้วยแอพมือถือ ตามวิสัยทัศน์ Lifestyle Banking

พระเอกของสัปดาห์นี้หนีไม่พ้นแบงค์ม่วง ไทยพาณิชย์ ที่จัดงานเปิดตัวแอพ SCB Easy เวอร์ชันใหม่ 3.0 อย่างยิ่งใหญ่ที่สำนักงานใหญ่ของตัวเอง มีแขกเหรื่อมาร่วมงานอย่างคับคั่ง และเป็น ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการแม่ทัพใหญ่สายงานการตลาด (Chief Marketing Officer) ที่ขึ้นเวทีประกาศวิสัยทัศน์ Lifestyle Banking หรือการเปลี่ยนผ่านบริการทางการเงินแบบเดิมๆ ที่น่าเบื่อ มาสู่ไลฟ์สไตล์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านรายละเอียด SCB EASY พลิกโฉมแอปพลิเคชั่นแบบเดิม สู่ Lifestyle Banking ที่กดเข้าใช้งานได้ทุกเวลา 

ธนา ขึ้นเวทีมาด้วยการเล่าถึงปัญหาในมุมของลูกค้าว่า “ธนาคารเป็นเรื่องน่าเบื่อ” (Banking is boring) การทำธุรกรรมกับธนาคารเป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากรีบทำให้จบๆ ไป ไม่ว่าจะไปสาขาหรือทำผ่านเว็บ-แอพก็ตาม โจทย์ของธนาคารจึงต้องมองในมุมกลับว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ลูกค้าหันมาชื่นชอบในตัวธนาคารมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ายังอยู่กับธนาคารต่อไป ไม่ตีจากไปอยู่กับแพลตฟอร์มไอทีใหม่ๆ ที่จะกลายมาเป็นภัยคุกคามของธนาคารในอนาคต

ไทยพาณิชย์ตีโจทย์ว่า ลูกค้าธนาคารเกือบทุกคนตอนนี้มีสมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว ดังนั้นถ้าพัฒนาแอพให้ดีพอจนลูกค้าอยากใช้งาน ก็จะช่วยให้ธนาคารกลับมาใกล้ชิดกับลูกค้าได้มากขึ้น แอพ SCB Easy ตัวใหม่จึงเป็นแกนกลางสำคัญของวิสัยทัศน์นี้ และมันถูกออกแบบให้นำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกค้าของธนาคารสามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน เฉกเช่นเดียวกับบริการ privilege ของค่ายมือถือที่แข่งกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

ธนา ยังระบุว่าไทยพาณิชย์ยังจะ “ปรนเปรอ” ลูกค้ากลุ่มเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ไม่เคยมีใครเหลียวแลมาก่อน เพราะไม่ทำรายได้ให้กับแบงค์เฉกเช่นลูกค้าบัตรเครดิตหรือสินเชื่อ แต่เขาจะชิงหัวใจของลูกค้ากลุ่มนี้มาผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเริ่มจากการแจกโดนัทฟรี-ตั๋วหนังฟรีให้กับลูกค้าแอพ SCB Easy รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ไทยพาณิชย์จะทยอยยิงออกมาอย่างต่อเนื่องผ่านแอพตัวใหม่นี้

กสิกรไทย เร่งชิงตลาดร้านค้า เน้นการจ่ายเงินด้วย QR Code

ข้ามมาค่ายสีเขียว ธนาคารกสิกรไทย ที่กวาดลูกค้า mobile banking มาแล้วก่อนหน้านี้นับปีด้วยแอพ K Plus กับฐานลูกค้า 6 ล้านคน ในแง่ของการโอนเงินส่วนบุคคล (personal transfer) ผ่านแอพต้องบอกว่ากสิกรไทยนำหน้าธนาคารอื่นๆ ไปไกล และกำลังจะขยายมาสู่บริการจ่ายเงิน (payment) ด้วยโทรศัพท์มือถือ

อ่านรายละเอียดในบทความ KBank จัด K PLUS SHOP รับ-จ่ายเงินด้วย QR Code ไม่ต้องง้อเงินสด

ร้านค้าในไทยเองเริ่มรองรับการจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟนผ่านการสแกน QR code กับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวจีนแล้ว เริ่มมีความคุ้นเคยกับกระบวนการจ่ายเงินแบบใหม่นี้ แต่ตลาดยังมีช่องว่างที่ Alipay / WeChat Pay ยังไม่เข้ามาทำตลาดกับผู้บริโภคชาวไทย ส่งผลให้ธนาคารอย่างกสิกรไทย พยายามรุกเข้ามาเติมเต็มให้ฝั่งร้านค้าสร้าง QR code สำหรับลูกค้าชาวไทยด้วย

แนวทางของกสิกรในรอบนี้จึงเป็นการบุกตลาดร้านค้าด้วยแอพ K Plus Shop ที่ช่วยให้ร้านค้าสามารถรับการจ่ายเงินผ่าน QR ได้ (ในขณะที่ฝั่งผู้บริโภคมีฐานลูกค้า K Plus ที่มีแอพใช้งานกันอยู่แล้ว) และเราจะเห็นร้านค้าเริ่มแปะ QR code ไว้หน้าร้านเพื่อรองรับการจ่ายเงินของลูกค้าชาวไทยกันในอีกไม่ช้า เบื้องต้น กสิกรไทยยังเน้นเฉพาะพื้นที่สำคัญอย่างสยามสแควร์, ตลาดนัดจตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ ก่อน แล้วจะขยายไปยังพื้นที่อื่นในภายหลัง

ยุทธศาสตร์ของกสิกรไทยคือเข้าไปกวาดตลาดร้านค้า SME (ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของกสิกรอยู่แล้ว) เพื่อชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด บริการ K Plus Shop สามารถรองรับการจ่ายเงินได้ทุกธนาคาร รวมถึง Alipay / WeChat Pay ในอนาคตด้วย ถ้าหากทำได้สำเร็จ ไม่ว่าลูกค้าจะเลือกใช้จ่ายผ่านแอพตัวใด ธุรกรรมในฝั่งของร้านค้าก็จะยังวิ่งผ่านระบบของกสิกรอยู่ดี ช่วยให้เป็นความได้เปรียบอย่างสูงของโลก digital money ในอนาคต

True Money ประกาศวิสัยทัศน์ Fin Life เป็นมากกว่าการจ่ายเงิน

ผู้ให้บริการสายนอนแบงค์อย่าง True Money ที่มาจากบริการจ่ายเงิน (mobile payment) ก็ใจตรงกันกับ SCB เพราะประกาศวิสัยทัศน์ Fin Life (Financial Life) ที่มองยุทธศาสตร์ตลาดแบบเดียวกันว่า ไม่ใช่แค่การจ่ายเงิน แต่ต้องครอบคลุมชีวิตและไลฟ์สไตล์การเงินของผู้บริโภค

คนไทยมักรู้จัก True Money ในฐานะแอพกระเป๋าเงินบนสมาร์ทโฟน ที่ใช้จ่ายค่ามือถือ-ค่าเน็ต-เกมออนไลน์ แต่ True Money ที่ตอนนี้ได้ Alibaba เป็นผู้ถือหุ้นและมี Alipay เป็นต้นแบบ ก็ประกาศว่าจะขยายไปยังบริการด้านการเงินอื่นๆ แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นประกัน การลงทุน หรือแม้กระทั่งการกู้ยืมเงิน

ในด้านของไลฟ์สไตล์ True Money ก็มองตลาดเดียวกันกับ KBank และ SCB ว่าต้องช่วงชิงตลาดการจ่ายเงินรอบตัวผู้บริโภค ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด รูปแบบบริการจึงออกมาคล้ายๆ กันอย่างการจ่ายเงินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จ่ายค่าอาหารในฟู้ดคอร์ท และยังไม่รวมจุดแข็งอย่างการจ่ายเงินในร้าน 7-Eleven ที่เริ่มใช้มาสักระยะหนึ่งแล้ว ในขั้นถัดไปจะมีร้านค้า ร้านอาหาร การซื้อตั๋วเครื่องบิน การจองโรงแรมตามมาอีก

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ระบุว่าต้องการให้แอพ True Money Wallet กลายเป็น Super App ตอบสนองการใช้งานทุกรูปแบบของลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย โดยลูกค้าสามารถทำบริการการเงินต่างๆ ได้ผ่านแอพนี้ทั้งหมด

Krungsri ไม่ตกกระแส เตรียมเปิดบริการจ่ายเงิน QR Code และ Digital Lending

ปิดท้ายด้วยธนาคารสีเหลือง Krungsri ที่ถึงแม้จะเป็นธนาคารขนาดกลาง แต่ก็หันมาเน้นหนักด้านดิจิทัลจนมีผลงานโดดเด่นไม่แพ้รายใหญ่ๆ โดยเฉพาะหน้าตาของเว็บและแอพที่ได้รับคำชมว่าสวยงาม-ทันสมัย

สัปดาห์นี้ Krungsri ก็ถือโอกาสเปิดตัวแอพ Krungsri Mobile Application หรือ KMA เวอร์ชันใหม่ที่ใช้ง่ายขึ้น มีการทำเทคโนโลยี chatbot และ AI เข้ามาช่วยสนับสนุนการใช้งานของลูกค้า

แต่สิ่งที่เห็นตรงกันกับธนาคารอื่นๆ คือบริการจ่ายเงินแบบ QR code ที่จะเปิดให้ร้านค้าใช้งานเช่นเดียวกัน รวมถึงบริการกู้เงิน-สินเชื่อผ่านแอพที่จะตามมาในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ด้วย

บทสรุป: เกมชิงพื้นที่-ชิงลูกค้า ก่อนที่ยักษ์ต่างชาติจะเข้ามากวาดตลาด

ความตื่นตัวของธนาคาร-ผู้ให้บริการทางการเงินในไทยตลอดสัปดาห์นี้ มีจุดร่วมที่มองเห็นได้ชัดเจน 2 อย่าง อย่างแรกคือบริการจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟนผ่าน QR code ส่วนประเด็นที่สองคือการขยายจากบริการการเงินแบบเดิมๆ (โอน/จ่าย) ให้ครอบคลุมมาสู่ชีวิตประจำวัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโมเดลการจ่ายเงินด้วยมือถือผ่าน QR code และบริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การซื้อกองทุน-ประกัน ล้วนแต่เป็นโมเดลที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Alipay ของ Alibaba หรือ WeChat Pay ของค่าย Tencent ทั้งคู่ถือเป็นต้นแบบของ mobile money ที่ทั่วโลกต้องการเดินตามรอย

นี่ยังไม่รวมบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เล่นในโลกตะวันตก เช่น Apple Pay หรือ Android Pay รวมไปถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook/Amazon ที่อาจยังไม่ขยับตัวในเรื่องนี้มากนัก และ LINE ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในบ้านเราแล้วผ่าน Rabbit LINE Pay

บรรดาผู้ให้บริการทางการเงินในเมืองไทย ต่างก็ตื่นกลัวว่าถ้ายักษ์ใหญ่จากนอกประเทศบุกเข้ามา จะกวาดฐานลูกค้าชาวไทยไปหมด จากขนาดของ “แพลตฟอร์ม” ที่มีฐานผู้ใช้ระดับร้อยล้านหรือพันล้านคนทั่วโลก

ดังนั้นในระหว่างที่ยักษ์ต่างชาติยังไม่บุกเข้ามาอย่างเต็มตัว บริษัทไทยจึงต้องรีบชิงพื้นที่ กวาดฐานลูกค้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเกมของ KBank ที่ต้องการเข้าไปชิงตลาดร้านค้าก่อนใครเพื่อน เกมของ SCB ที่มุ่งเป้าสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและธนาคารไม่ให้หนีไปไหน รวมถึงเกมของ True Money และ Krungsri ที่พยายามเชื่อมโยงลูกค้ากับบริการทางการเงินที่อยู่รอบตัว

เดิมพันนี้ช่างสูงนัก ถ้ายึดโยงกับลูกค้าได้ทันก่อนหมดเวลาก็อยู่รอด แต่ถ้าปรับตัวไม่ทัน เราก็อาจได้เห็นธนาคารหรือสถาบันการเงินไทยบางราย อาจต้องหายไปจากตลาดรีเทลอย่างถาวร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา