Saizeriya เชนร้านอาหาร 1,000 สาขาในญี่ปุ่น ขึ้นราคาทุกเมนู 1 เยน ช่วง COVID-19

การขึ้นราคาสินค้า และบริการในช่วง COVID-19 อาจเป็นเรื่องรับไม่ได้ในมุมผู้บริโภค เพราะแค่ประคองตัวเองให้รอดจากวิกฤตนี้ยังยาก ต้องเจอร้านค้าเอาเปรียบอีก แต่คงไม่ใช่กรณี Saizeriya ที่มีเหตุผลการขึ้นราคาที่น่าสนใจ

saizeriya
ภาพ shutterstock

เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19

Saizeriya เป็นร้านอาหารยอดนิยมของคนหาเช้ากินค่ำ, เหล่าฟรีแลนซ์ และนักเรียนนักศึกษา เพราะราคาถูก แต่ยังมากับปริมาณที่อิ่มแน่นอน เช่นเมนูข้าวราคา 299 เยน กับพิซซ่า และพาสต้าราคา 399 เยน ซึ่งกลยุทธ์นี้เองทำให้ Saizeriya ที่เปิดมาเกือบ 50 ปี เติบโตจนมีสาขากว่า 1,000 แห่ง และยอดขาย 1.56 แสนล้านเยน

อย่างไรก็ตามด้วยการระบาดของโรค COVID-19 ตัวธุรกิจร้านอาหารย่อมประสบปัญหาอัตโนมัติ เพราะการรับประทานอาหารนอกบ้านต้องระมัดระวังตัว และทางร้านก็ต้องออกมาตรการต่างๆ มาเฝ้าระวัง แต่ทาง Saizeriya กลับมีการประกาศขึ้นราคา 1 เยน ใน 140 เมนูที่จำหน่ายด้วย

เหตุที่ Saizeriya ขึ้นราคา เพราะเมนูของร้านส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยเลข 9 เช่น 299 หรือ 399 (ตั้งขึ้นด้วยหลักการจิตวิทยาที่ทำให้เหมือนราคาถูก) แต่ประเทศญี่ปุ่นนิยมใช้เงินสด ทำให้ทางร้านต้องทอนเหรียญ 1 เยนบ่อยครั้ง ดังนั้นเมื่อขึ้นราคา 1 เยน การทอนเหรียญจะไม่เกิดขึ้น และลดการระบาดโรค COVID-19 ผ่านการสัมผัสได้ทันที

ลดการใช้เหรียญ 80%-โปรโมท Cashless

ทั้งนี้ Saizeriya แจ้งว่า จากการขึ้นราคา 1 เยน ทำให้เมนูต่างๆ ของร้านจะลงท้ายด้วย 00 หรือ 50 ทำให้ลดการทอนเหรียญไปได้มาก โดยทางร้านตั้งเป้าลดการทอนเหรียญลง 80% ถือเป็นอีกก้าวในการลดใช้เหรียญในธุรกิจอย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามขับเคลื่อน

เงินเยน
ภาพจาก Shutterstock

ขณะเดียวกัน Saizeriya ยังเตรียมทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการชำระเงินผ่าน Cashless ในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างพนักงานกับลูกค้า ที่สำคัญถึงเมนูเกือบทั้งหมดจะขึ้นราคา 1 เยน แต่บางเมนูมีการลดราคาให้ตัวราคาลงท้ายด้วย 0 ด้วย เช่นข้าวเปล่าลดราคาลงมา 19 เยน เป็นต้น

ถึงเพิ่มราคา แต่ก็ยังเป็นร้านที่ถูกที่สุดอยู่ดี

แม้จะเพิ่มราคา 1 เยน แต่ร้าน Saizeriya ยังเป็นหนึ่งในร้านอาหารราคาถูกสหรับคนญี่ปุ่นอยู่ดี และน่าจะจูงใจผู้บริโภคเอาไว้ได้ แต่ในช่วง COVID-19 ระบาดหนักในญี่ปุ่น หรือเดือนเม.ย.-มิ.ย. ยอดขายของร้านร่วงหนัก และมันท้าทายอย่างมากในการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สรุป

1 เยนเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ในแง่จิตวิทยา ราคา 499 กับ 500 เยนนั้นต่างกันมาก อย่างไรก็ตามผู้บริโภคน่าจะเข้าใจเหตุผลของการขึ้นราคาครั้งนี้ และน่าจะมองมาที่ร้านค้าในประเทศไทยบ้างว่าจะมีการปรับกลยุทธ์ในลักษณะเดียวกับ Saizeriya หรือไม่

อ้างอิง // Soranews24, Saizeriya

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา