อวสานงานในฝัน พอแล้วชีวิต เลิก Burnout คนรุ่นใหม่พร้อมใจ Quiet Quitting

อวสานงานในฝัน พอแล้วชีวิตเลิก Burnout คนรุ่นใหม่พร้อมใจกัน Quiet Quitting หมดยุค “ใช่ครับผม เหมาะสมครับนาย”

Burnout

ความ “ไม่ง่าย” รอบตัว ส่งผลให้คนเหนื่อยล้าสะสม

มันไม่ง่ายเลยที่ชีวิตจะสามารถคว้างานในฝันมาทำได้ มันไม่ง่ายเลยที่คนทำงานจะได้อยู่ในบรรยากาศการทำงานที่มีเพื่อนร่วมงานดีๆ ขยันทำงาน อดทนและช่วยกันผลักดันสร้างสรรค์ผลงานเต็มที่

มันไม่ง่ายเลยที่จะเจอหัวหน้าที่ดี ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทำงานได้ทำในสิ่งที่ถนัดและคว้าถ้วยรางวัลจากความสำเร็จไปด้วยกัน และมันไม่ง่ายเลยที่เวลาในการทำงานจะไม่เบียดเบียนชีวิตส่วนตัว ด้วยเหตุผลของความไม่ง่ายเหล่านี้นี่แหละ ที่นอกจากจะหาไม่ได้ง่ายๆ แล้ว แต่มันยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนจนนำไปสู่ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ได้ง่ายๆ

กว่าจะหายจากอาการภาวะหมดไฟได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ได้มีแค่ปัจจัยภายในที่เป็นเรื่องปัจเจกที่แต่ละคนต้องเผชิญและรับมือกับมันให้ได้เท่านั้น แต่มันยังมีปัจจัยภายนอกภายใต้ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าแพง สินค้า-อาหารขาดแคลน กำลังซื้อลดลง

วิกฤตโรคระบาดก็ยังไม่จางหาย ไหนจะภาวะสงครามจากประเทศยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก ไหนจะภาวะลองโควิดในผู้คนที่ติดเชื้อจนทำให้ร่างกายไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม เหล่านี้ล้วนนำไปสู่การสะสมความเหนื่อยล้า (fatigue) ยาวนาน เหนื่อยกับการต่อสู้สารพัดสิ่งจนไม่อยากจะทำอะไร ด้วยเหตุผลมากมายเหล่านี้จึงนำไปสู่เทรนด์ Quiet Quitting หรือการลาออกเงียบๆ

Quit, Resign
Photo by Elisa Ventur on Unsplash

คนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Y หรือรุ่น Millennials, Gen Z กำลังลาออกเงียบๆ จากความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป

นี่คือเทรนด์ใหม่ที่กำลังพูดถึงกันเสียงดังกระหึ่มอยู่ใน TikTok เป็นเทรนด์ที่พูดกันได้ไม่กี่วันแต่มันเริ่มดึงความสนใจให้สื่อใหญ่ระดับโลกก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน ผู้คนกำลังสนับสนุนให้หลีกเลี่ยงการทำงานที่มันมากเกินไป เยอะเกินไป นานเกินไป มันคือภาวะที่คนทำงานพยายามจะหลีกเลี่ยงความเหนื่อยล้าสะสมที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องแบกรับภาวะหมดไฟที่มันกัดกินพวกเขาเอง

จึงนำไปสู่แนวคิดที่ว่า หางานที่มันทำง่ายๆ ให้มากขึ้น และเรียนรู้ที่จะไม่พูดคำว่า “ค่ะ/ครับ” หรือเออออห่อหมกไปกับคำสั่งการทั้งหลาย หรือเรียกว่ามันเป็นฟิลเดียวกับ การลุกขึ้นมาปฏิเสธที่จะเป็นคน “ใช่ครับผม เหมาะสมครับพี่” รู้จักที่จะฝึกตัวเองให้ลุกขึ้นมาพูดคำว่า “ไม่” ได้เต็มปากเสียที เพราะเวลาที่พนักงานหมดไฟ ก็มีแต่พนักงานเท่านั้นที่แบกรับความล้มเหลวนี้

แน่นอน มีไม่กี่บริษัทที่รับได้และพร้อมโอบอุ้ม รอให้คนทำงานลุกขึ้นได้ด้วยตัวเองมากกว่าจะเหยียบซ้ำย่ำยี ถ้าหากว่าคุณหาองค์กรที่โอบรับคุณไว้ได้ในวันที่คุณเหนื่อยล้าจนลุกไม่ขึ้น ก็จงรักษางานนั้นเอาไว้ให้ดีๆ เพราะมันไม่ง่ายที่เขาจะโอบอุ้มคุณได้ตลอดไป

รายงานจาก Gallup ระบุว่า มีพนักงานราว 21% เท่านั้นที่รู้สึกเกี่ยวพันกับงาน ความเศร้าจากเรื่องนี้ก็คือ รายงานพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่างานที่เขาทำอยู่ มีคุณค่า มีความหมาย มันจึงไม่แปลกที่เราจะพบว่า ทำไมจึงมีคนที่ไม่ทุ่มเทในการทำงานมากพอ ก็เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่สร้างคุณค่ายังไงล่ะ

หลายคนพร่ำบ่นผ่าน TikTok ว่า “รางวัลตอบแทนของการทำงานหนัก อุทิศตน ก็คืองานที่หนักขึ้นยังไงล่ะ” บ้างก็บอกว่า “นี่มันยุคขององค์กรที่ชั่วร้าย” “ถึงเวลาที่พวกเขาต้องเยียวยาตัวเอง รักษาตัวเองจากงานที่ส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่” บ้างก็ว่า “งานในฝันตายแล้ว” บ้างก็ว่า “ฉันฝันแค่ จะได้มีเวลาพักผ่อนและมีเงินมากพอที่จะควักมันออกมาซื้อกาแฟดื่มในตอนเช้า”…อ่านแล้วช่างหดหู่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในอารมณ์เหล่านี้ และก็คงรู้สึกว่าเรามีเพื่อนแล้วล่ะ ถ้าอยู่ในอารมณ์เดียวกัน

burnout

รายงานจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า อาการหมดไฟและความเครียดนี้มีระดับที่พุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่มีโรคระบาด (แน่นอน ตอนนี้โรคระบาดก็ยังไม่หมดไป)

Ben Granger ผู้อยู่ในตำแหน่ง Head of Employee จากองค์กรนักจิตวิทยา ระบุว่า ประสบการณ์จากการให้คำปรึกษานั้น ทำให้พบว่า Quiet Quitting หรือการลาออกเงียบๆ นี้ เป็นวิถีทางที่จะช่วยปกป้องผู้คนในด้านสุขภาพจิตได้โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษได้

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ว่า “สถานการณ์ที่มันไม่ง่าย” ทั้งหมดทั้งมวลตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญและรับมือนั้น มันเป็นผลสืบเนื่องกันและกันและยังส่งผลให้คนไม่มีแก่ใจจะทำงาน หมดใจจะทำงาน แน่นอนว่ามันจะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ในเร็ววันหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ความรู้สึกลบและเป็นพิษมักส่งผลกระทบต่อกันได้ง่ายกว่าผลบวก แต่ในขณะที่พนักงานกำลัง suffer และ struggle อยู่ภายในจิตใจของตัวเองเช่นนี้ ในขณะที่คนทำงานกำลังบอบช้ำและหมดแรงเช่นนี้ มันจะยุติธรรมต่อนายจ้างหรือเจ้าของกิจการผู้ที่ต้องจ่ายเงินควักค่าแรงจ่ายพนักงานต่อไปได้อย่างไร

ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาข้างต้น อาจจะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนายจ้างและพนักงานอาจจะต้องหาทางสร้างสมดุลของชีวิตตัวเองให้เจอให้ได้ รู้จักพัก รู้จักวางมือเมื่อเหนื่อยล้า รู้จักปฏิเสธเมื่อไม่สามารถ handle สิ่งที่ทำอยู่ต่อไปได้ รู้จักเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาทั้งจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า

ขณะเดียวกัน หัวหน้า นายจ้าง องค์กรก็ควรเรียนรู้พนักงานในมิติต่างๆ ด้วย เรียนรู้การบริหารคน เรียนรู้การมอบหมายงาน เรียนรู้ที่จะปล่อยและวางให้กลไกทำงานตามระบบ เรียนรู้ที่จะมีเรดาร์ สังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อจะหาทางป้องกันปัญหา แต่ถ้าเกิดปัญหาแล้วก็เรียนรู้ที่จะแก้ไขไปพร้อมๆ กับคนทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าระบบของการทำงานในองค์กรที่โปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้และมีการ feedback กันและกันตลอดเวลาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาได้ดีเลยล่ะ

ที่มา – Entrepreneur, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา