ผลวิจัยชี้ นี่คือยุคแห่งการหมดไฟของคนทำงานด้านการตลาดและการสื่อสารโดยแท้

ในโลกแห่งยุคที่มีการสื่อสารและข้อมูลท่วมท้นท่ามกลางวิกฤตโควิดระบาด ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญภาวะหมดไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด Forbes รายงานโดยอ้างอิงจากงานวิจัยโดย Blind พบว่า ยุคนี้เป็นยุคที่นักการตลาดและนักสื่อสารเหนื่อยล้าและหมดไฟสุดๆ

burnout

สารพัดช่องทางสื่อสารที่ท่วมท้น จนทำให้คนหมดไฟในการทำงาน

หลายปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การดิสรัปจากเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงบทบาทของการตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงง่ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บ่อยครั้งที่นักการตลาดต้องถูกบีบให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทรัพยากรและทีมงานอันน้อยนิด สาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ทั้งนักการตลาดและนักสื่อสารต้องประสบกับภาวะหมดไฟสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ

จากข้อมูลสถิติที่รวบรวมโดย blind ระบุว่าอาชีพด้านการตลาดและการสื่อสารมีภาวะหมดไฟหรือ burnout สูงที่สุดอยู่ที่ 83.3% รองลงมาคือด้านการเงินและบัญชีอยู่ที่ 82.6% ตามด้วยสายกลยุทธ์ธุรกิจอยู่ที่ 78.7% ฝ่ายขาย 78.0% ฝ่ายบุคคล 77.3% ฝ่ายวิศวกรรมและเทคโนโลยีอยู่ที่ 73.8% ตัวเลขทั้งหมดที่ว่ามาจริงๆ ก็ถือว่าอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงทั้งสิ้น

รายงานจาก Forbes ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นนักการตลาดที่ทำงาน productive สุดๆ หรือว่ามี passion ต่อการทำงานมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็สามารถตกเป็นเหยื่อจากอาการ burnout ได้อย่างไม่ยากเย็น ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ใครต่อใครพากันหมดไฟนั้น ก็มาจาก micro-habits หรือพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่สั่งสมในแต่ละวันนี่แหละ ทำให้กลายเป็นคนหมดไฟ

Forbes ยกตัวอย่างสารพัดแพลตฟอร์มที่ทำลายความสร้างสรรค์และไฟในใจของผู้คนก็คือ ช่องทางการสื่อสารทั้งหลายที่ออฟฟิศทั้งหลายใช้พูดคุยกัน ทั้ง Slack, Google chat, Zoom, LinkedIn, email ไปจนถึงการพยายามจะติดต่อเพื่อพูดคุยกันแบบเร่งด่วนทั้งหมดทั้งมวลที่มีตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันแบบไม่หยุดหย่อน เหล่านี้ล้วนผลักให้ผู้คนตกหลุมพรางหมดไฟในชีวิตทั้งสิ้น

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะเจ้าช่องทางสื่อสารทั้งหลายนี้เกิดจากความต้องการของผู้คนที่ไม่ตรงกันจนนำไปสู่การ distract หรือทำให้เสียสมาธิ ต้องพยายามตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อจะไม่พลาดทุกบทสนทนา เมื่อผู้คนไม่ได้มีเวลาจดจ่อกับการทำงานมากพอ แต่ต้องแบ่งเวลามาสื่อสารตลอดเวลาจึงทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสุดกำลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าการรวบรวมสมาธิเพื่อไม่ให้ถูก distract ง่ายๆ หลังการพูดคุยหรือการประชุมเร่งด่วนประดามีทั้งหลาย มันกินพลังมากกว่าโลกปกติเก่าที่ผู้คนเห็นหน้ากันชัดๆ อยู่แล้วเวลารวมตัวในออฟฟิศว่าแต่ละคนแบกรับภาระอะไรอยู่ ทำงานอะไรอยู่ จึงไม่มีใครมารบกวนสมาธิเท่ากับโลกที่ไม่เห็นหน้ากันแบบปกติใหม่นี้

burnout หมดไฟ

ดึงตัวเองยังไง? จากหลุมพรางการ burnout

ผู้เขียนบทความใน Forbes เสนอวิธีที่ไม่ทำให้ผู้คนหมดไฟ โดยปรับจากหนังสือเรื่อง Atomic Habits ที่เขียนโดย James Clear โดยมองว่า ในเมื่อพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างที่มันสั่งสมจนทำให้ผู้คนหมดไฟได้ ก็จงแก้ด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ทีละเล็กละน้อยที่ต้องค่อยๆ สร้างเช่นกันเพื่อแก้อาการเหล่านี้ได้ ดังนี้

สิ่งแรกที่ควรทำคือ ระบุเวลาหรือจำกัดเวลา

ควรจะมีการจำกัดเวลาในการทำสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เช่น การประชุมควรตัดจบได้ภายใน 30 นาทีหรือ 20 นาที ไม่ควรปล่อยเวลาให้ยืดเยื้อ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีหน้าที่ประชุมและจบงานได้ทันที ผู้คนต่างมีหน้าที่และแบกรับภาระที่หลากหลาย คนที่นำประชุมไม่ควรยื้อเวลาให้ผู้คนต้องร่วมแบกรับภาระไปด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการประชุมนั้นๆ ก็ควรแยกตัวออกมาหรือปลดปล่อยให้พวกเขาไปทำงานตามหน้าที่ให้บรรลุตามเป้าหมายดีกว่าอยู่ในวงประชุมที่ไม่ได้ทำให้งานบรรลุผลได้

สอง จ้างคนนอกมาทำงานเฉพาะทาง

นักการตลาดหลายคนต้องจัดแคมเปญเพื่อร่วมมือกับผู้คนหลายแห่ง ในที่นี้เขาก็ยกตัวอย่างสำหรับผู้คนที่ต้องจัดแคมเปญและยังต้องจัดเวลาให้ตรงกับผู้คนที่ทำงานต่างช่วงเวลาตามประเทศที่อยู่อาศัย สิ่งที่จะช่วยลดภาระพวกเขาเหล่านั้นก็คือการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนที่สามารถช่วยเหลือคุณในการหาตลาดใหม่ๆ หรือทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ ดีกว่าแบกภาระไว้ลำพังและเบียดเบียนเวลาตัวเองจนไม่ได้พักผ่อน

rest
Photo by Hernan Sanchez on Unsplash

สาม จงหาเวลาพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ

การพักผ่อนไม่ได้หมายความว่าเป็นการนอนหลับเสมอไปแต่หมายถึงการหาทางที่จะหาเวลาพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดินเล่นขณะพักเบรคจากงานหนัก เพื่อทำให้สมองปลอดโปร่งจากภาระงานที่หนักอึ้ง ไปจนถึงการทำสมาธิไม่ว่าจะอ่านหนังสือเพื่อสร้างสมาธิหรือทำสิ่งใดก็ตามที่ทำให้คุณไม่ต้องเร่งใช้ชีวิตมากไปจนเหนื่อย ในที่นี้เขารวมถึงการได้ฟังเพลงที่ผ่อนคลายไปจนถึงการได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงด้วย บ่อยครั้งที่นักการตลาดและนักสื่อสารต้องใช้สมาธิสูงเพื่อผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ ก็ควรจะมีเวลาพักเบรคที่มีคุณภาพเพื่อชาร์จพลังให้ได้มีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง

สี่ จงปิดตัวเองออกจากการสื่อสารเสียบ้าง

การเปิดช่องทางสื่อสารให้ผู้คนพูดคุยกับคุณได้ตลอดเวลาทำให้คุณไม่ได้มีเวลาพักเบรคที่มีคุณภาพ ไม่ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองลำพังเพื่อให้เรียนรู้หรือหาแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงานได้ ดังนั้น ออกห่างจากการสื่อสารบ้างตามสมควร เพื่อไม่ให้ตัวเองหมดไฟและเหนื่อยจากการทำงานมากเกินไป

มาดูกันบ้างว่า 10 อันดับของบริษัทที่พนักงานหมดไฟอย่างหนักในช่วงโควิดระบาด มีใครบ้าง?

  1. บริษัท Lyft 87.9%
  2. บริษัท Uber 82.1%
  3. บริษัท Airbnb 80.6%
  4. บริษัท LinkedIn 80.4%
  5. บริษัท Oracle 80.3%
  6. บริษัท Cisco 77.8%
  7. บริษัท Salesforce 77.1%
  8. บริษัท Apple 76.3%
  9. บริษัท Paypal 75.5%
  10. บริษัท Expedia Group 75.3%

ที่มา – Forbes, blind

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา