“พฤกษา” แต่งตัวจับตลาดหรู หลังครองตลาดกลาง-ล่างอยู่หมัด พร้อมขึ้นบริษัทแสนล้านใน 5 ปี

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเวลาที่ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว เพราะปัญหาเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่น ซึ่งกลุ่มอสังหาฯ ก็ต้องคิดใหม่ด้วย ดังนั้นลองมาดูมุมมองของ พฤกษา หนึ่งในผู้นำตลาดกลาง-ล่าง ของอุตสาหกรรมนี้กัน

ปรับตัวลุยตลาดพรีเมียมลดความเสี่ยง

ถึงจะเข้าปี 2560 แล้ว แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังไม่กลับมา ทำให้สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้บริโภคที่สนใจซื้อที่พักอาศัยกันมากขึ้น และด้วยกลุ่มพฤกษาเน้นทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ผ่านคอนโดมีเนียม, ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว จนมีส่วนแบ่ง 15% จากมูลค่าตลาดที่พักอาศัยระดับกลาง-ล่างที่มีมูลค่าราว 2.9 แสนล้านบาท ก็ต้องปรับตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะปล่อยกู้ยาก หรือโอนกรรมสิทธิ์ไม่ผ่าน โดยกลยุทธ์แรกที่ออกมาคือ การเดินหน้าบุกตลาดที่พักอาศัยระดับพรีเมียม

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม เล่าให้ฟังว่า การปรับตัวคือเรื่องสำคัญของนักพัฒนาโครงการทุกรายในตอนนี้ สังเกตจากผู้พัฒนาโครงการระดับหรู ก็เริ่มลงมาเล่นตลาดล่างมากขึ้น แต่ในฝั่งของบริษัทเองจะเน้นการทำตลาดในระดับพรีเมียม เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ รวมถึงการวางแผนกลยุทธ์ ที่สำคัญการทำตลาดคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ยังมีอัตรากำไร (Margin) 35-36% ซึ่งสูงกว่าโครงการระดับกลาง-ล่างอีกด้วย

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม

สำหรับโครงการระดับพรีเมียมที่บริษัทจะลงทุนจากนี้ไปประกอบด้วย 6 โครงการมูลค่ารวม 9,900 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ High Rise 5 โครงการ กับ Low Rise 1 โครงการ เช่นโครงการคอนโดมีเนียม The Reserve ย่านทองหล่อง มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท จำนวน 110 ยูนิต ราคาตร.ม. ละ 2.5-2.7 แสนบาท (เริ่มต้น 10 ล้านบาท) และโครงการบ้านแนวราบ The Palm มูลค่าโครงการ 1,100 ล้านบาทเป็นต้น โดยรายได้จากกลุ่มพรีเมียมจะรับรู้ได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

กลาง-ล่าง ยังไม่ทิ้ง ส่ง 72 โครงการคงยอด

อย่างไรก็ตามในตลาดกลาง-ล่างที่แข็งแกร่งของบริษัท ก็ยังทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นฐานรายได้หลักของบริษัท ผ่านยอดขายราว 42,800 ล้านบาท โดยปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 52,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% ผ่านการใช้ 3 กลยุทธ์ในการทำตลาดคือ ลดรอบธุรกิจตั้งแต่การจองถึงโอนกรรมสิทธิ์ลง เช่นทาวน์เฮาส์เหลือ 49 วัน และคอนโดมีเนียมอย่างช้าที่สุดต้อง 754 วัน, เปิดโครงการใหม่อีก 72 โครงการ มูลค่ากว่า 60,800 ล้านบาท รวมถึงการยกระดับโครงสู่บ้านพร้อมอยู่ ผ่านรูปแบบบริหารจัดการของบริษัทโดยเฉพาะ

“มองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพ และปริมณฑลปีนี้มูลค่าน่าจะอยู่ที่ 3.79 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 5% และ 70-80% เป็นมูลค่าของตลาดกลาง-ล่าง ดังนั้นการเดินหน้ารักษาพื้นที่ในตลาดนี้จีงจำเป็นอยู่ ส่วนโครงการระดับพรีเมียมที่เป็น 20-30% ของภาพรวม พฤกษาก็จะค่อยๆ ปูพรมออกไป เพราะปกติแล้วเราไม่ได้ทำตลาดในระดับนี้มากนัก ที่สำคัญด้วยพฤกษาเน้นการทำตลาดอสังหาฯ แนวราบมากกว่า ทำให้ต้องปรับกันเยอะ แต่ก็พยายามไปให้เร็วที่สุด”

Condolette Dwell สุขุมวิท 26 หนึ่งในโครงการ Low Rise ที่สร้างเสร็จแล้ว

จาก 50,000 เป็นบริษัทแสนล้านใน 5 ปี

ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของกลุ่มพฤกษา ย้ำว่า ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวา แต่การที่ภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคน่าจะกลับมาซื้อที่พักอาศัยกันอีกครั้ง แต่การรอกำลังซื้ออย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก ทำให้บริษัทตัดสินใจสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ พร้อมกับตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีต้องเป็นบริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้หลักแสนล้านบาท

สรุป

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นจะเติบโตก็ต่อเมื่อมีชุมชนกระจายออกไปในที่ต่างๆ ดังนั้นเรื่องระบบขนส่งมวลชนจึงสำคัญมาก ซึ่งพฤกษาก็มองเรื่องนี้ และพยายามขยายตัวออกไปให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าสายต่างๆ ผ่านทั้งโครงการระดับกลาง-ล่าง และพรีเมียม แต่ถึงอย่างไรก็ต้องศึกษานวัตกรรมใหม่ด้วย เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิต และธุรกิจใหม่ของพฤกษาก็อาจเป็น Property Tech ก็เป็นได้

 

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา