บล. ภัทร ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยลงมาเหลือแค่เพียง 1.4% เท่านั้น หลังจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าคาด
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยปี 2563 ลงเหลือ 1.4%
จากเดิมที่คาดไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แม้การระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวได้ในไตรมาสแรกของปีนี้แต่น่าจะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว นอกจากนี้ บล. ภัทร ยังมองว่า GDP ในปีหน้า GDP ไทยจะกลับมาเติบโตได้มากถึง 3.5%
- GDP ไทยปี 2019 โตเหลือเพียง 2.4% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 สคช. คาดปีนี้โตแค่ 1.5-2.5%
- แบงก์ไทยหลายแห่งพร้อมใจปรับลด GDP ไทยปีนี้ลงอีก หลังเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าคาด
- Goldman Sachs ปรับ GDP ไทยปีนี้เหลือแค่ 2.1% คาดมีสิทธิ์เห็น กนง. ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.5%
บล. ภัทร คาดว่า การระบาดของไวรัสดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงแต่ชั่วคราวต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน ได้แก่
- ผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
- การผลิตในจีนที่หยุดชะงักอาจส่งผลกระทบชั่วคราวต่อห่วงโซ่อุปทานและ
การผลิตในประเทศ - หากการระบาดในประเทศทวีความรุนแรงขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการบริโภคภายในประเทศได้
โดยสาเหตุที่เพิ่มเติมเข้ามานี้เป็นเรื่องหลักๆ ที่ทำให้มีการปรับตัวเลข GDP ของไทยลงในครั้งนี้
นอกจากนี้ บล. ภัทร ยังคาดว่าปัจจัยลบจากการระบาดของไวรัส ความล่าช้าของงบประมาณและปัญหาภัยแล้งน่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากปัจจัยลบเหล่านี้
เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและอาจไม่มีภาคเศรษฐกิจอื่นมาช่วยรองรับผลกระทบ
ขณะที่ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบจากส่งออกที่หดตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่า การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกที่หดตัวในปีก่อน ในขณะที่ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี บล.ภัทร คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยยังคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ภายในช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้นและการเบิกจ่ายงบประมาณยังคงประสบปัญหา นอกจากนี้ บล.ภัทร คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่คาดไว้ได้ด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา