แบงก์ไทยหลายแห่งพร้อมใจปรับลด GDP ไทยปีนี้ลงอีก หลังเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าคาด

ศูนย์วิจัยของธนาคารในประเทศไทยหลายๆ แห่งได้ปรับลดประมาณการณ์ GDP ในปีนี้ลง ปัจจัยสำคัญๆ มาจากไวรัส COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจมากกว่าที่คาดไว้แต่แรก

People wear face masks Covid-19 protect at airport
ภาพจาก Shutterstock

สถาบันการเงินไทยหลายแห่งต่างปรับลด GDP ของไทยปีนี้ลง หลังจากที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เติบโตเพียงแค่ 1.6% ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้อยุ่ที่ประมาณ 2.1% นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ทำให้ทั้งปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบที่ 2.4% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี

Brand Inside รวบรวมประเด็นสำคัญๆ จากบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินไทยมาฝาก ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย รวมไปถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา

SCB EIC

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้มีมุมมองถึงตัวเลข GDP ล่าสุด โดยมองว่า ตัวเลขเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ GDP ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่สภาวะถดถอยทางเทคนิค (GDP ลดลงติดกัน 2 ไตรมาส) แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์

นอกจากนี้ SCB EIC ยังได้ประเมิน อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้จะชะลอลงอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19 และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนจากตัวเลข PMI ของหลายประเทศสำคัญที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2020 ทำให้ SCB EIC คาดว่าโรคระบาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และภาวะการค้าโลกที่จะชะลอลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาการผลิตและขนส่งสินค้าจากจีนที่หยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ COVID-19 ยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย เนื่องจากมีความตื่นกลัวโรคระบาด

SCB EIC ได้ปรับลด GDP ปี 2020 เหลือ 1.8% จากที่คาดไว้ 2.1%

ข้อมูลจาก SCB EIC

Krungthai Compass

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย ได้ให้มุมมองว่า ปัจจัยที่เศรษฐกิจไทยพบกับความท้าทายหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวของไทย Krungthai COMPASS คาดว่าน่าจะกระทบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาประเทศไทย 3-6 เดือน ซึ่งจะตรงกับช่วงไฮซีซั่น
ของการท่องเที่ยวในประเทศไทยพอดี ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวที่มาในประเทศไทยปีนี้จะลดลง 7.6%

ขณะที่งบลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า Krungthai COMPASS มองว่างบลงทุนของภาครัฐจะหายไปจากระบบประมาณ 2-4 หมื่นล้านบาทถ้าหากงบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือนมีนาคม สำหรับเรื่องของภัยแล้งนั้น Krungthai COMPASS มองว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากความสูญเสียมากถึง 44,600 ล้านบาท ผลกระทบใหญ่ๆ มาจากเรื่องการเพาะปลูกข้าวนาปรัง แต่ต้องจับตามองพืชชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ยังคาดว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเพื่อที่จะทำข้อตกลงทางการค้าฉบับที่ 2 นั้นอาจเลื่อนเวลาออกไป เนื่องจากจีนต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศและระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ ขณะที่ยุโรปเองก็ต้องพบกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ ซึ่งกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ยังมี FTA ระหว่างยุโรปกับเวียดนาม ทำให้ส่งออกของไทยแย่ลงไปอีก

Krungthai COMPASS คาดว่า GDP ไทยปีนี้จะเติบโต 2.1% ปรับลดลงจาก 2.8%

หลักทรัพย์กสิกรไทย

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังยืนยันการวิเคราะห์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอต่อเนื่อง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจมีมาตรการทางการเงินดังกล่าวออกมา

ขณะที่ตัวเลข GDP ของไทย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะเติบโต 2% โดยปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.8% สะท้อนถึงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ความล่าช้าของงบประมาณ รวมไปถึงภัยแล้ง

ที่มา – บล. กสิกรไทย

วิจัยกรุงศรี

ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด ได้ปรับเป้า GDP ไทยปีนี้ลงมาเหลือแค่ 1.5% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.5% โดยมองถึงสาเหตุสำคัญๆ จากเรื่องของไวรัส COVID-19 ความล่าช้าของงบประมาณ รวมไปถึงภัยแล้ง ไม่ต่างกับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกรุงศรี ยังมองไปถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ เช่น

  •  ความล่าช้าของงบประมาณ ส่งผลทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัวลงไป ทำให้ศูนย์วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลลงถึง 1.51 แสนล้านบาท ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของการลงทุนจากภาคเอกชนลงไปอีก
  • ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวไทย แต่จะกระทบไปถึงเรื่องภาคการผลิต และยังมีผลทวีคูณแก่เศรษฐกิจ (Multiplier Effect) เช่น ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยได้ส่งผลกระทบต่อโรงแรม ต่อร้านอาหาร ต่อผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่
  • ภัยแล้ง ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไม่ได้จำกัดที่ภาคการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ