GDP ไทยปี 2019 โตเหลือเพียง 2.4% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 สคช. คาดปีนี้โตแค่ 1.5-2.5%

GDP ไทยในปี 2019 ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ เนื่องจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ของไทยย่ำแย่กว่าคาด ขณะเดียวกันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดเศรษฐกิจไทยโตเหลือในช่วง 1.5-2.5% เท่านั้น

Bangkok People Mall Siam Paragon
ภาพจาก Shutterstock

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เติบโตเพียงแค่ 1.6% ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้อยุ่ที่ประมาณ 2.1% ส่งผลทำให้ทั้งปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.4% ต่ำกว่านักวิเคราะห์หลายๆ สถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศประมาณไว้ในช่วง 2.5-2.7% อีกด้วย และ GDP ไทยปีนี้ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

ในปี 2019 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลง ถ้าหากคิดในเป็นมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยจะติดลบ 3.2% ขณะถ้าคิดเป็นค่าเงินบาทจะติดลบถึง 7% ขณะเดียวกันการลงทุนของภาครัฐเติบโตเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น ขณะที่ภาคเอกชนเติบโต 2.8% ในด้านของภาคการบริโภคของเอกชนเป็น 1 ปัจจัยที่ช่วย GDP ไทยในปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 4.5%

ขณะที่ในปี 2020 นี้ สศช. คาดว่า GDP ไทยจะเติบโตในช่วง 1.5-2.5% เท่านั้น ปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ปัญหาภัยแล้งของไทยที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณที่เรื่องยังอยู่ในสภา ขณะที่ในแง่บวก สศช. มองไปถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แรงขับเคลื่อนของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการขยายตัวที่ต่ำของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ที่ผ่านมาส่งผลทำให้ปีนี้นั้นเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ดีกว่านี้

มุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาส 1 จะเห็นทิศทางความเสี่ยงชะลอตัวชัดเจนจากไวรัส COVID-19 กระทบภาคท่องเที่ยว ภาคการค้าระหว่างประเทศ และงบประมาณปี 2563 ที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้ คาดจะเริ่มเบิกจ่ายได้อย่างเร็วคือเดือนมีนาคม ซึ่ง เอเซีย พลัส ถือว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก

เอเซีย พลัส ยังเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นที่เร่งจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการคลัง อาทิ ชิมช้อป ใช้ เฟส 4 เพิ่มวันหยุดสงกรานต์ให้ยาวขึ้น และอื่นๆ

นอกจากนี้ เอเซีย พลัส ยังคาดหวัง การกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสที่ กนง.  อาจจำเป็นที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งได้ราว 0.25% อยู่ที่ 0.75% สอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.ที่ยังเปิดโอกาสการลดดอกเบี้ยได้หากมีความจำเป็น

ที่มา – สคช. [1], [2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ