บทเรียนจาก Pebble: ตลาด Smartwatch ยังท้าทาย, มาก่อนไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จ

ข่าวสำคัญในแวดวงไอทีสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นการขายกิจการของ Pebble นาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) ให้กับ Fitbit ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) ที่โดดเด่นเรื่องตรวจจับการออกกำลังกาย ด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมาก Brand Inside จึงขอพาย้อนดู Pebble ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่มีบทเรียนน่าสนใจหลายอย่างเลย

Pebble Time ภาพ Pebble

จากสุดยอดโครงการ Kickstarter และจบลงที่เดิมในเวลา 4 ปี

Pebble เปิดตัวในปี 2012 ในฐานะโครงการขอเงินสนับสนุนผ่านเว็บระดมทุน Kickstarter ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในตอนนั้น มียอดจองนาฬิกาถึง 85,000 เรือน ได้เงินไปมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ตั้งเป้าโครงการไป 1 แสนดอลลาร์เท่านั้น Pebble ในตอนนั้นถือว่าบุกเบิกนิยามของคำว่า Smartwatch มีหน้าจอขาวดำอีเปเปอร์ เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แสดงผลการเตือน, เตือนโทรศัพท์สายเข้าได้ มี SDK ให้นักพัฒนาเขียนซอฟต์แวร์ใส่เข้าไปได้ ซึ่งดูล้ำมากพอที่จะทำให้คนสนใจลงเงิน

ทีมงาน Pebble รุ่นก่อตั้ง (ภาพจาก Pebble ผ่าน Wired)

ในเดือนมกราคาปี 2013 Pebble เริ่มทยอยส่งมอบสินค้าให้กับผู้สนับสนุน ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดไปพอสมควรจากปัญหาโรงงานผลิต บริษัทยังได้รับการเพิ่มทุนจากกองทุนอีก 15 ล้านดอลลาร์ จากนั้นสินค้าก็เริ่มวางจำหน่ายในร้านค้าในเวลาต่อมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ยอดขายรวมกว่า 4 แสนเรือน มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวด Smartwatch สูงถึง 35%

ต้นปี 2014 Pebble เปิดตัว Pebble Steel ขณะที่ตลาด Smartwatch เริ่มมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากการเปิดตัว Android Wear ของกูเกิล

พอมาปี 2015 Pebble เปิดตลาดใหม่อีกครั้งด้วย Pebble Time ที่ใช้จอสี พร้อมระดมทุนผ่าน Kickstarter และจบลงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีความเคลื่อนไหวสำคัญคือแอปเปิลได้เปิดตัว Apple Watch ในเดือนมีนาคม

เข้าสู่ปี 2016 Pebble เริ่มผลักดัน Health แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ แต่ก็มีข่าวร้ายของ Pebble ประดังเข้ามา ทั้งยอดขาย Pebble Time ที่ไม่ดีดังที่บริษัทคาด นอกจากนี้การระดมทุนจากฝั่งนักลงทุนก็ได้เงินน้อยกว่าประเมิน มีการปลดพนักงานออกบางส่วน และบริษัทเริ่มมีหนี้สินค้างจ่ายโรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม Pebble ก็เลือกเปิดโครงการใหม่บน Kickstarter อีกครั้ง โดยมีทั้ง Pebble 2, Time 2 และ Pebble Core สัญญาณที่ไม่ดีนักก็คือโครงการนี้ได้เงินระดมทุนไป 12 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าสมัย Pebble Time

ปัญหาเรื่องการเงินดูจะรุมเร้า จนทำให้สุดท้าย Pebble ประกาศยุติตัวเอง โดยขายสินทรัพย์หลักทั้งหมดให้ Fitbit ในมูลค่าที่ไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่าอยู่ราว 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่พอหนี้สินค้างชำระที่ Pebble มี โดยจะใช้วิธีขายอาคารที่ดินและสินทรัพย์อื่นเพิ่มเติม

ตลาด Smartwatch vs. อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ

ในบรรดาตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ (Wearable Computing) ภาพของ Smartwatch และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ (Fitness Tracker) ดูจะชัดเจนมากที่สุด และ Pebble ก็เลือกเปิดตัวด้วยความเป็น Smartwatch ตั้งแต่ต้น โดยไม่สนใจฟีเจอร์ด้านสุขภาพเลย ขณะที่เมื่อดูฝั่งผู้มาซื้อกิจการอย่าง Fitbit นั้นกลับเริ่มต้นโดยมาในแนวทาง Fitness Tracker ชัดเจน แล้วค่อยๆ ขยายมาสู่แนวทาง Smartwatch

นับตั้งแต่ปี 2014 สภาพอุตสาหกรรม Smartwatch เริ่มร้อนแรงเมื่อ “ขาใหญ่” รุกเข้าสู่ตลาดนี้ ทั้งกูเกิลที่เปิดตัวแพลตฟอร์ม Android Wear, ซัมซุงมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นกับนาฬิกา Gear และแอปเปิลก็เปิดตัว Apple Watch สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนกระทบต่อ Pebble เพราะตลาด Smartwatch นั้นยังเล็ก บริษัทใหญ่เหล่านี้ยังสามารถแข่งขันได้นานเพราะมีรายได้ช่องทางอื่นมาช่วย

Apple Watch ภาพ Wikimedia

สิ่งที่ยากลำบากขึ้นอีกสำหรับ Pebble คือภาพรวมของ Smartwatch นั้น “โตเรื่อยๆ” ไม่มีการโตแบบก้าวกระโดดที่จะช่วยเสริมให้ Pebble แข็งแกร่งมากพอจะสู้กับรายใหญ่ได้ เมื่อจะพลิกมาสู่ความเป็น Health Tracker ก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะ Fitbit และ Garmin จับตลาดนี้ไว้อย่างดี

ภาพรวมของ Smartwatch และ Fitness Tracker จึงดูเหมือนต้องใช้เวลาอีกสักพักจะเห็นความชัดเจน

การประเมินมูลค่ากิจการ เรื่องนี้ยังท้าทายกันต่อไป

เรื่องราวสุดท้ายที่น่าสนใจจากกรณี Pebble คือการตัดสินใจ Exit และความมั่นใจต่อธุรกิจของตน, Pebble นั้นเคยได้รับข้อเสนอซื้อกิจการจากผู้ผลิตนาฬิกา Citizen เมื่อปี 2015 สูงถึง 740 ล้านดอลลาร์ แน่นอนว่า Eric Migicovsky ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Pebble ปัดข้อเสนอนี้ (อย่าลืมว่าตอนนั้น Apple Watch เปิดตัวแล้ว)

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ Migicovsky เชื่อมั่นกับอนาคต Pebble มาก เขาเคยกล่าวในงานหนึ่งว่า Apple Watch พยายามเป็น Rolex ในโลกสมาร์ทวอทช์ แต่ Pebble จะขอเป็น Swatch ที่ความแมสมากกว่า

Eric Migicovsky ซีอีโอ Pebble ภาพ TechCrunch

เมื่อต้นปี Pebble ยังได้รับข้อเสนออีกครั้ง (บนช่วงเวลาที่เริ่มลำบาก) จาก Intel มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ เป็นอีกครั้งที่ Pebble ปฏิเสธ และสุดท้ายก็จบลงที่ Fitbit ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์หลักราว 40 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

แน่นอนว่าเรื่องจะ Exit ด้วยการขายหรือไม่ขาย ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายคนทำสตาร์ทอัพ และไม่มีคำตอบว่าถูกหรือผิด Snapchat เคยถูก Facebook ขอซื้อที่ราคา 3 พันล้านดอลลาร์และปฏิเสธไป วันนี้บริษัทกำลังจะเข้าตลาดหุ้นด้วยมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นดูเป็นสิ่งสวยงาม

แต่เรื่องราวที่แตกต่างกัน Yahoo! ครั้งหนึ่งไมโครซอฟต์เคยขอซื้อที่ราคา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วันนี้บริษัทขายให้ Verizon ไปในมูลค่าที่ลดลงเหลือ 4.8 พันล้านดอลลาร์ หากย้อนอดีตได้ Yahoo! ก็น่าจะขายให้ไมโครซอฟต์ไปตอนนั้น

การจะบอกถึงเรื่องเหล่านี้ว่าอดีตเขาตัดสินใจถูกหรือผิด ก็เข้าทำนองเก่งหลังเกม สุดท้ายมูลค่าที่เหมาะสมและจังหวะคงไม่มีใครตอบได้ดีไปมากกว่าผู้ก่อตั้งกิจการ ซึ่งสูตรนี้ต้องผสมผสานกับความมั่นใจในอนาคตของกิจการนั่นเอง

เรียบเรียงจาก TechCrunch, Quartz และ Android Police

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา