โควิดทำคนรวย รวยเพิ่มขึ้นทุกวินาที คนจนเสียชีวิตทุก 4 วินาที เพราะเข้าถึงการแพทย์ไม่ได้

เปิดรายงาน Oxfam โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 10 คน รวยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนจน ยากจนยิ่งขึ้น มวลมนุษยชาติราว 99% มีรายได้ลดลง

billionaire

มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนับสิบรายรวยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากสินทรัพย์มูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 15,000 เหรียญสหรัฐต่อวินาทีหรือประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ในขณะที่รายได้ของมวลมนุษยชาติ 99% ลดต่ำลง กว่า 160 ล้านคนต้องตกอยู่ในสถานะยากจน

Gabriela Bucher กรรมการบริหาร Oxfam ระบุว่า ถ้าเศรษฐีที่ร่ำรวทั้ง 10 คนนี้สูญรายได้ราว 99.99% พวกเขาก็ยังจะเป็นคนที่รวยกว่าผู้อื่นอยู่ 99% พวกเขาร่ำรวยกว่าพวกที่ยากจนที่สุดราว 3.1 พันล้านคนถึง 6 เท่า

ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ทำให้คนยากไร้โอกาสเท่านั้น แต่ยังทำให้ถึงแก่ความตายด้วย

ดูแค่พาดหัวอาจเข้าใจผิดถ้ามองเรื่องเหลื่อมล้ำเป็นแค่ประเด็นผิวเผิน แต่บทสรุปจากรายงาน Inequality Kills ที่เผยแพร่โดย Oxfam สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นทำให้คนเสียชีวิตมากถึง 21,300 คนต่อวัน หรือในทุกๆ 4 วินาทีมีผู้เสียชีวิต 1 คน

การเสียชีวิตนี้ มีทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงสาธารณสุข มีความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) เช่น การลักพาตัว หรือการฆ่าเพื่อเกียรติ (honour killings) มีทั้งเสียชีวิตเพราะความหิวโหยและเสียชีวิตจากอากาศที่ผิดปกติด้วย

มีการประเมินว่า ทุกๆ ปีมีผู้เสียชีวิตราว 5.6 ล้านคน ในประเทศที่ยากจนมีคนเสียชีวิตจากการเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี ในทุกๆ ปีมีผู้หญิงเสียชีวิตราว 67,000 คนจากการถูกตัดอวัยวะเพศ (female genital mutilation) การขริบอวัยวะเพศหญิงหรือการถูกฆาตกรรมจากคนรักเก่ารวมทั้งคนรักปัจจุบันด้วย มีคนเสียชีวิตจากความหิวโหยกว่า 2.1 ล้านคนทุกปี หลังจากนี้ ภายในปี 2030 วิกฤตความเปลี่ยนแปลงทางอากาศอาจทำให้คนเสียชีวิตได้ 231,000 คนต่อปีในประเทศที่ยากจน

oxfam

คนรวย รวยเพิ่มขึ้นมากถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงที่โควิดระบาด ช่วงสองปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา กลุ่มคนรวย Top 1% สามารถครอบครองความมั่งคั่งได้มากเกือบ 20 เท่าของความมั่งคั่งโลก มากกว่ามวลมนุษยชาติ 50% ในช่วงโควิดระบาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความร่ำรวยของมหาเศรษฐีนั้น ร่ำรวยเพิ่มขึ้นราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการร่ำรวยเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา

Danny Sriskandarajah ซีอีโอ Oxfam ระบุว่า ในช่วงโรคระบาด มหาเศรษฐีทำเงินได้ทุกวัน ขณะที่ประชากรอีก 99% ของโลกอยู่ในสภาพย่ำแย่เพราะภาวะล็อกดาวน์ การค้าระหว่างประเทศลดลง การท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลง ยังผลให้ประชากรราว 160 ล้านรายต้องตกอยู่ในภาวะยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยเงินเพียง 5.50 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 180 บาทต่อวัน (จำนวนเงิน 180 บาทต่อวันนี้ธนาคารโลกใช้เป็นมาตรวัดความยากจนสำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับบน)

รายชื่อมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของโลกจากการจัดอันดับโดย Forbes ประกอบด้วย Elon Musk, Jeff Bezos, Bernard Arnault และครอบครัว, Bill Gates, Larry Ellison, Larry Page, Sergey Brin, Mark Zuckerberg, Steve Ballmer และ Warren Buffet เหล่าเศรษฐีนี้ทำรายได้เพิ่มขึ้นจาก 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 49 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ Elon Musk นั้นทำรายได้พุ่งสูงขึ้นกว่า 1,000% ขณะที่ Bill Gates ทำรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 30%

มีการประเมินว่า ความร่ำรวยของมหาเศรษฐี 10 อันดับที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนี้ ถ้าใช้เงินวันละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 33.1 ล้านบาท พวกเขาจะต้องใช้เวลาราว 414 ปี ถึงจะครอบคลุมความร่ำรวยที่พวกเขาครอบครองอยู่ ถ้าคิดภาษีลาภลอยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้โลกได้ (windfall tax หรือภาษีลาภลอย คือการเรียกเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการของรัฐ เช่น มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในครอบครอง รัฐพัฒนารถไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ที่เรามีอสังหาริมทรัพย์อยู่หรือมีการตัดถนนผ่าน ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เหล่านี้คือลาภลอยที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับ การเรียกเก็บภาษีเรียกว่าภาษีลาภลอย)

หากเก็บภาษีลาภลอยจากกลุ่มคนรวยที่สุด 10 คนแรกของโลกจะสามารถนำเงินเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ด้วยการจ่ายค่าวัคซีนให้คนทั้งโลกได้เพียงพอและยังสามารถจัดทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือจัดทำการคุ้มครองทางสังคมหรือทำเป็นกองทุนสำหรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งยังสามารถลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศสภาพได้กว่า 80 ประเทศทั่วโลกได้

climate change protest
Photo by Li-An Lim on Unsplash
Hong Kong Protests
การประท้วงในฮ่องกง ภาพจาก Shutterstock
ประท้วง ไทย Protesters Gather At Ratchaprasong Intersection In Central Bangkok
การประท้วงในไทย (Photo by Sirachai Arunrugstichai/Getty Images)

การเคลื่อนไหวทางสังคมคือทางออกแห่งยุคสมัย

สำหรับทางออกของปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้ รายงาน Oxfam เสนอไว้หลายข้อด้วยกัน ประเด็นแรกคือการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยยกตัวอย่างจากการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประท้วง อาทิ เรื่องวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เรื่อง Black Lives Matter ไปจนถึงการเรียกร้องจากกลุ่มเฟมินิสต์ เรื่องวัคซีนโควิด เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้พบว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า และยังมีงานศึกษาพบว่า มีกลุ่มประท้วงต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมาด้วย ราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่ร่วมทำแบบสำรวจในหลายประเทศต่างกังวลความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่โควิดระบาดที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องใช้เงินเพื่อสนับสนุนสังคมมากขึ้นจนหนี้ท่วม มีความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพมากขึ้น มีผู้หญิงอยู่ในแวดวงการทำงานน้อยลง 13 ล้านคน น้อยกว่าช่วงปี 2019 มีเด็กผู้หญิงกว่า 20 ล้านคนที่เสี่ยงจะไม่ได้กลับมาเรียนหนังสืออีก และผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงสุดคือชนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่นคนบังคลาเทศในอังกฤษ คนผิวดำในอเมริกา ฯลฯ

เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้คนรวยทั้งหลายควรจ่ายภาษีเพิ่ม จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นทุนด้านความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งเรื่องการจัดหาบ้านที่อยู่อาศัยและการช่วยเหลือต่อครอบครัวที่มีรายได้น้อย นอกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ว่ามาแล้ว สิ่งที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงได้ก็คือรัฐบาลต้องลงมือทำ รายงานสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำโลกในยุคปัจจุบันต่างพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันเป็นแถว ราวกับเป็นกระแสที่ต้องพูด พูดให้รู้ว่าผู้นำเหล่านั้นให้ความสำคัญประเด็นนี้ แต่จะเห็นว่ารัฐให้ความสำคัญจริงจังได้ ก็ต่อเมื่อรัฐลงมือทำ

Inequality Kills - Oxfam
Inequality Kills – Oxfam

รัฐต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น เห็นกันเด่นชัดขึ้นจริงๆ ในช่วงที่โควิดระบาด หลายประเทศประกาศชัดเจนว่าจะจัดการเรื่องนี้และให้ความสำคัญกับประเด็นเหลื่อมล้ำ ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เช่น เกาหลีใต้, เซียร์รา ลีโอน ขณะที่นิวซีแลนด์ ภูฏาน ไอซ์แลนด์ต่างปรับงบประมาณเพื่อนำมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เรื่องนี้ Oxfam เสนอทางออกไว้ 3 เรื่องด้วยกัน

เรียกเก็บภาษีคนรวย คือการปลดล็อคเม็ดเงินนับล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องเรียกเก็บภาษีคนรวย เพื่อนำเงินเหล่านี้มาทำให้ประชากรในโลกที่เหลือมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เรียกเก็บภาษีจากเศรษฐีทั้งหลายที่ทำเงินได้นับตั้งแต่โควิดริ่มระบาด แค่เพียง 10 คนแรกที่รวยที่สุดก็สามารถนำเงินมาซื้อวัคซีนได้ครอบคลุมผู้คนทั้งโลกแล้ว รวมทั้งสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือให้ความคุ้มครองทางสังคม

รัฐต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รัฐสามารถลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น ทั้งการลงทุนในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการแพทย์ เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ฟรี ทำให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีสังคมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยปิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนยากจนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมทั้งเพศสภาพและเผ่าพันธุ์ ไม่ควรมีใครต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงสาธารณสุข เรื่องนี้ Oxfam ชื่นชมประเทศคอสตาริกาและไทยที่สามารถทำได้สำเร็จจริง รัฐควรลงทุนราว 2.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 9.3 ล้านล้านบาทในประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลางเพื่อให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้

แก้กฎหมาย ปรับนโยบาย แก้ปัญหาเพื่อความเหลื่อมล้ำจริงจัง รัฐควรแก้กฎหมายโดยเฉพาะกับประเทศที่ร่ำรวยที่สุด รวมทั้งบริษัทต่างๆ และมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ทำเงินได้มหาศาล อาทิ ยกเลิกกฎเรื่องสิทธิบัตรทางปัญญา เช่น สิทธิบัตรทางปัญญาการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อทำให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงเทคโนโลยีและการผลิตวัคซีนต้านโควิดได้ ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันการผูกขาดจากบริษัทผลิตยาขนาดใหญ่ได้

covid

ที่มา – BBC, Oxfam, SDG Move, Inequality Kills

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา