ทำไมเราไม่ควรชื่นชม ‘มหาเศรษฐี’ ที่จ่ายภาษีแต่ละปีแค่นิดเดียว | TAX THE RICH ep.3

TAX THE RICH

ได้ยินกันบ่อยว่ามหาเศรษฐีแสนล้านดอลลาร์ จ่ายภาษีกันแค่นิดเดียว อย่าง Elon Musk พอคิดไปคิดมาก็จ่ายภาษีเงินได้แค่ 3.27% แถม Jeff Bezos จ่ายน้อยกว่านั้นอีก แต่ที่น้อยที่สุดคือ Warren Buffett จ่ายภาษีแค่ 0.1%

ในขณะที่คนทั่วไปในสหรัฐ เสียภาษีเงินได้อยู่ระหว่าง 14% ถึง 37% ว่ากันตามตรง นี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะชื่นชม ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะยอมรับ ไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรเพิ่มเติมก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ

นี่คือเรื่องที่ควรจะออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำ

หลายคนบอกว่าไม่อยากจ่ายภาษี เพราะรัฐมักจะหยิบยื่นเงินตรงนั้นให้แต่คนจน

แต่จริงๆ แล้วภาษีที่คุณจ่ายคือค่าจ้างให้รัฐบาลบินไปเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เป็นค่าใช้จ่ายในการทำถนนหนทางให้บริษัทของคุณได้ขนส่งสินค้า เป็นค่าใช้จ่ายให้คุณมีท่าเรือหรือสนามบินเพื่อส่งออกสินค้า เป็นค่าใช้จ่ายให้การบังคับใช้กฎหมายดำรงอยู่ได้ คุณจะได้กล้าลงทุนโดยไม่เกรงกลัวว่าจะมีคนมาขโมยสินค้าหรือมีใครมาโกงบริษัทคุณ

แถมบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อย่างงามจากบริการสาธารณะเหล่านี้

Container Port Shipping ส่งออกสินค้า การค้า
ภาพจาก Unsplash

บริษัทใหญ่ๆ คือผู้ได้ผลประโยชน์จากสาธาณูปโภคของรัฐมากกว่าคนทั่วไปเสียอีก หรือถ้าพูดกันอย่างเสียดสีบริษัทนี่แหละคือผู้รับ ‘สวัสดิการจากรัฐ’ มากที่สุด ไม่ใช่คนจน  แล้วทำไมถึงผลักให้คนจนจ่ายภาษีในสัดส่วนมากกว่า

เลิกพูดว่าไม่อยากจ่ายภาษีเพราะรัฐเอาแต่เอาเงินไปประเคนคนจน เลิกมองว่าการเลี่ยงภาษีเป็นความฉลาดในการจัดการการเงินของเหล่าเศรษฐี

เก็บภาษีคนรวยน้อย ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น

หรือหากจะบอกว่าลดภาษีเพื่อให้บริษัททำกำไรได้ คำถามคือทำไมต้องยอมแลกการที่บริษัททำกำไรได้ กับสวัสดิการที่คนหลายล้านชีวิตจะได้ภาษีมาสร้างสวัสดิการให้ชีวิตดีขึ้น? 

มีหลายคนเสนอว่าการที่บริษัทรวยขึ้น คนในสังคมก็รวยขึ้น เหมือนเวลาน้ำขึ้นเรือทุกลำก็ลอยขึ้นมาเสมอเหมือนกัน แต่เราได้เห็นแล้วว่าคนที่ได้มากที่สุดคือบรรดามหาเศรษฐี CEO บรรดาเจ้าของกิจการ หรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้รายได้เพิ่มแบบก้าวกระโดดทุกปี แต่รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นน้อยมาก

Elon Musk Jeff Bezos

ยกตัวอย่างใกล้ตัวแล้วจะเห็นชัด New York Times เผยข้อมูลว่า ค่าตอบแทนของ CEO ในบริษัทในกลุ่ม S&P 500 เพิ่มขึ้นถึง 29% ในปี 2020 ในขณะที่ชีวิตคนจำนวนมากต้องทนทุกข์ในช่วงโควิด หากลองดูคนระดับกลางๆ บริเวณค่าเฉลี่ยจะพบว่ามีรายได้ลดลง 2% (นี่ยังไม่ได้พูดถึงคนที่มีความเป็นอยู่ย่ำแย่กว่านั้น)

หรือหากจะมองภาพระยะยาวกว่านั้น Pew Research ก็เคยเสนอเอาไว้ว่าในระยะเวลาประมาณ 50 ปี ชนชั้นกลางระดับบนและชนชั้นกลางระดับล่างในสหรัฐมีรายได้เติบโตไม่เท่ากัน จากปี 1970 ถึง 2018 

  • รายได้ของชนชั้นกลางระดับล่างเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่น เป็น 2.87 หมื่นดอลลาร์/ปี
  • รายได้ของชนชั้นกลางระดับบนเพิ่มขึ้นจาก 1.26 แสน เป็น 2.07 แสนดอลลาร์/ปี

ฝ่ายหนึ่งรายได้เพิ่มไม่ถึงครึ่ง แต่อีกฝ่ายรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นี่ยังไม่ได้พูดถึงคนที่รวยและจนกว่านี้ด้วยซ้ำ แล้วไหนใครบอกว่าถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่รวยแล้วทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น?

ระบบจัดเก็บภาษีที่มีอยู่ไม่เป็นธรรม

เห็นได้ชัดว่าระบบภาษีที่มีปัญหา คนรวยจ่ายสัดส่วนน้อย คนจนจ่ายสัดส่วนเยอะ คือสิ่งที่เราต้องต่อต้าน ไม่ใช่ไปเข้าร่วม เพราะแรกเริ่มเดิมที ‘ภาษีอัตราก้าวหน้า’ ถูกสร้างขั้นมาเพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำโดยการเก็บเงินจากคนรวยที่ใช้ประโยชน์จากบริการของรัฐมากในอัตราที่สูง ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่กลุ่ม 

พูดง่ายๆ คุณได้ประโยชน์จากบริการของรัฐเยอะ กอบโกยจากสังคมได้มาก ก็ต้องจ่ายเงินมาก

แต่การเก็บภาษีในอัตราภาษีที่ผิดเพี้ยนอย่างที่เราได้เห็นกันไปก่อนหน้านี้จะทำให้กลไกการจัดการความเหลื่อมล้ำอย่างภาษีอัตราก้าวหน้าพังลง

แล้วยิ่งปัจจุบัน เราอยู่ในสังคมที่ภาษีอัตราก้าวหน้ามันเป๋ขึ้นทุกที บรรดาเศรษฐี มีทรัพยากรทั้งเงินและเวลาเหลือเฟือในการเลี่ยงภาระด้านภาษี จะตั้งกองทุนการกุศลเพื่อลดหย่อนภาษีก็ได้ จะจ้างผู้จัดการสินทรัพย์ก็ได้ จะเก็บเงินในสวรรค์ภาษีเพื่อเลี่ยงภาษีก็ได้ จะเลี่ยงรับเงินเดือนและรับผลตอบแทนเป็นหุ้นเพื่อเลี่ยงภาษีเงินได้ก็ได้ (นี่ยังไม่ได้พูดถึงวิธีผิดกฎหมายอย่างการฟอกเงินและการตกแต่งบัญชี) 

ทั้งหมดนี้คืออำนาจในการเลี่ยงภาษี

 

ในทางกลับกัน ยิ่งเราอยู่ในขั้นบันไดทางเศรษฐกิจต่ำลงมาเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอำนาจในการเลี่ยงภาษีน้อยเท่านั้น คนที่มาเป็นพนักงานประจำระดับเริ่มต้นคงไม่สามารถซื้อประกันหรือกองทุนรวมเพื่อลดหน่อยภาษีได้มากนัก คงไม่สามารถต่อรองบริษัทเพื่อรับผลตอบแทนเป็นหุ้นได้ จะจ้างให้คนมาจัดการทรัพย์สินก็ไม่ได้ หรือจะเก็บทรัพย์สินในสวรรค์ภาษีก็อาจทำไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเป็นคนหาเช้ากินค่ำ คงต้องไม่พูดถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อจัดการภาษีเลย คนเหล่านี้แทบจะใช้เงินเดือนชนเดือนหรือวันชนวันเลย และแทบจะไม่มีเงินเหลือเก็บ 

ที่สำคัญพวกเขาประหยัดจากการบริโภคไม่ได้ หากคนมีรายได้น้อยก็คงไม่สามารถซื้อสินค้าแพคใหญ่ที่ประหยัดกว่าได้ ต้องหันไปซื้อสินค้าทีละน้อยๆ ซึ่งมีราคาสูงกว่าแทน และนั่นหมายถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่แฝงในสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงกว่าคนอื่นๆ

(Photo by John Moore/Getty Images)

ดังนั้น การที่คนรวยสามารถจัดการภาษีจนมียอดที่ต้องจ่ายเพียงน้อยนิดไม่ใช่เรื่องความสามารถ ไม่ใช่อัจฉริยภาพทางการเงิน แต่พวกเขามีอำนาจที่จะเลี่ยงภาษีได้มากกว่า ในขณะที่คนจนแทบไม่มีทางเลือกด้วยซ้ำ 

ที่สำคัญนี่คือการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ คนจนต้องควักเนื้อเสียภาษีในสัดส่วนที่สูงในกองรายได้ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดให้กับรัฐบาล เพื่อนำเงินไปสร้างสาธารณูปโภคที่บริษัทใหญ่ๆ ได้ประโยชน์มากกว่าคนจน โดยที่บริษัทเหล่านั้นเจียดเงินในสัดส่วนที่น้อยนิดออกจากกองสินทรัพย์มูลค่าแสนล้านดอลลาร์

การที่คนรวยจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำเตี่ยเรี่ยดินจะสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นวงจรไม่รู้จบอีกด้วย

แล้วโลกเราทุกวันนี้เหลื่อมล้ำมากแค่ไหน?

การที่บรรดามหาเศรษฐี CEO ตกเป็นข่าวว่าจ่ายภาษีน้อย หรือยอมรับเงินเดือนแค่ 1 ดอลลาร์ (เพื่อเลี่ยงภาษี) เป็นอะไรที่เราได้ยินมาหลายปีพอสมควร นั่นหมายความว่าความเหลื่อมล้ำในโลกมันเติบโตพอตัวเหมือนกัน 

คำถามคือแล้ว ณ วันเวลาที่เรากำลังยืนอยู่ โลกเราเหลื่อมล้ำแค่ไหน

อย่างในสหรัฐเอง ก็มีการทำวิจัยเพื่อชี้วัดความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง อย่างข้อมูลของ Pew Researh ที่นำเสนอไปช่วงต้นบทความเรื่อง การเติบโตของรายได้ของชนชั้นกลางระดับบนและระดับล่างระหว่างปี 1970-2018 ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ดี

นอกจากนี้ Pew Research ยังนำเสนอข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจอีกตัว คือ 90/10 Ratio หรืออัตราส่วนระหว่างรายได้ของคนที่รวยที่สุด 10% และ คนอีก 90% ที่เหลือ 

  • ปี 1980: 90/10 Ratio = 9.1 (คนที่รวยที่สุด 10% รายได้มากกว่า 90% ที่เหลือ 9.1 เท่า)
  • ปี 1990: 90/10 Ratio = 10.1
  • ปี 2000: 90/10 Ratio = 10.6
  • ปี 2010: 90/10 Ratio = 11.7
  • ปี 2018: 90/10 Ratio = 12.6

เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงความเหลื่อมล้ำโดยไม่พูดถึง Gini Index หรือดัชนีบ่งบอกความเหลื่อมล้ำในสังคม ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติสหรัฐระบุว่า สหรัฐคือชาติที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในกลุ่มประเทศ OECD หรือประเทศอุตสาหกรรม 

โดยสหรัฐมีดัชนีนี้อยู่ที่ 0.434 ในขณะที่อันดับ 2 อย่างอังกฤษอยู่ที่ 0.392 และ อันดับที่ 3 อิตาลี ก็อยู่ที่ 0.373 เห็นได้ชัดว่าสหรัฐทิ้งห่างอันดับ 2 พอสมควร

ไม่ว่าจะมีตัวชี้วัดสักกี่ตัวชี้วัด แต่ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะตรวจวัดอย่างไร ใช้ดัชนีตัวไหน ก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าโลกเหลื่อมล้ำขึ้นทุกวัน และนี่คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งโลก ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้น

ภาพ pixabay.com

อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า เคยกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในช่วงโควิด-19 ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีสาระสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การที่คนหนึ่งมีเงินน้อยกว่าคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือการเข้าถึงโอกาสที่ไม่เท่ากัน ยุคโควิดก็ยิ่งพลิกหัวพลิกหางให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น ความไม่เท่าเทียมที่ฝังลึกในสังคมมันถูกสะท้อนออกมาในรูปของการเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน

สถานการณ์แบบนี้ เห็นได้ชัดเจนว่านี่คือหนังม้วนเดียวกันกับประเทศเรา

แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน ในสารบบความเหลื่อมล้ำโลก

Credit Suisse เคยรายงานเมื่อปี 2018 ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในด้านทรัพย์สินสูงที่สุดในโลก หลังจากที่เมื่อ 2 ปีที่ก่อนหน้าประเทศไทยยังอยู่ลำดับที่ 3

  • ปี 2016 คนรวย 1% แรกของไทยมีทรัพย์สินคิดเป็น 58% ของทั้งประเทศ
  • ปี 2018 คนรวย 1% แรกของไทยมีทรัพย์สินคิดเป็น 66.9% ของทั้งประเทศ

ในขณะที่คน 70% ที่จนที่สุด มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 5% เท่านั้น พอเอาตัวเลขมากางดูกันชัดๆ ก็เห็นได้ว่าสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยน่ากลัวมากๆ

ถ้าเราดูคน 50% ที่จนที่สุด อันนี้น่ากลัวกว่าเดิม เพราะคนเหล่านี้มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 1.7% ของความมั่งคั่งประเทศ นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่มีทรัพย์สิน มีเงินออมน้อยนิด ต้องอยู่แบบเดือนชนเดือน หรือไม่ก็หาเช้ากินค่ำ

สุดท้ายแล้วทางออกอาจจะอยู่ที่เก็บภาษีอย่างเป็นธรรมกว่าเก่า เพราะประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเศรษฐีก็คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะของรัฐอย่างมหาศาลเหมือนที่ได้เคยกล่าวไป

ภาพจาก Shutterstock

แต่ภาษีทุกวันนี้ยังมีปัญหา เช่น ภาษีไม่ครอบคลุมสินทรัพย์ที่เป็นหุ้น เลยเกิดเป็นกรณีที่ Warren Buffet เสียภาษีแค่ 0.1% ในขณะที่คนทั่วไปเสียมากกว่านั้นเยอะ ถ้าจะถามว่าเรื่องนี้เป็นไปตัวบทกฎหมายหรือไม่ก็ต้องตอบว่าเป็น แต่ก็ไม่ใช่ว่ากฎหมายที่ไม่ได้นำมาซึ่งความยุติธรรมจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

“เพราะความยุติธรรมคือกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมายคือความยุติธรรม”

ระบบภาษีที่เป็นธรรม + สวัสดิการถ้วนหน้า คือคำตอบ

กลไกของภาษีที่เป็นธรรมจะส่งผลประโยชน์ คือ รัฐได้เงินไปจัดทำสวัสดิการที่ครอบคลุมคนทุกชนชั้นมากขึ้น ไม่ใช่มีแค่นโยบายเพื่อบริษัท ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพราะระบบภาษีที่เป็นธรรมจะช่วยกระจายทรัพยากรที่กระจุกตัวให้กระจายทั่วถึงทั้งสังคมมากขึ้น

ไม่นานมานี้ Oxfam International องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ต่อสู้ปัญหาความยากจนในระดับโลก เพิ่งจะเสนอหนทางที่จะทำให้ระบบภาษีเป็นธรรมมากขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

  • เพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทต้องจ่าย 
  • ป้องกันการย้ายเงินไปยังสวรรค์ภาษี
  • เพิ่มอัตราภาษีของผู้บริหารระดับสูง เช่น CEO
  • ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติในอัตราที่สูงขึ้น (ป้องกันการย้ายไปลงทุนเพื่อเลี่ยงภาษีภายในประเทศที่สูง)
  • ปรับให้อัตราภาษีรายได้การลงทุนให้เท่ากับภาษีเงินได้ธรรมดา เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีเงินได้ด้วยการรับผลตอบแทนเป็นหุ้น

เห็นได้ชัดว่านี่คือการตัดช่องทางการเลี่ยงภาษีของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น ในระยะยาวจะช่วยชะลอความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่ง่าย ไม่สามารถหายไปได้ด้วยการดีดนิ้วเพียงครั้งเดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา