ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของสตรีมมิ่ง และความซวยตกอยู่ที่พวกเรา | BI Opinion

Streaming War

ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของสตรีมมิ่ง

เมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลก ย่อมหนีไม่พ้น Netflix

เนื่องจากปัจจุบัน Netflix คือผู้ครองตลาดสตรีมมิ่งเบอร์ 1 ของโลก มียอดคนใช้งาน (subscribers) 151 ล้านคนทั่วโลก และมีมูลค่ากิจการสูงถึง 1.45 แสนล้านดอลลาร์

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ในปี 2017 Netflix คือบริษัทที่ติดอันดับ 4 ใน Fortune 50 ซึ่งเป็นลิสต์ของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต หรือถ้าดูในปี 2018 มูลค่าตลาดของ Netflix ก็เคยแซงหน้าธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Disney มาแล้ว

การเติบโตของ Netflix ในฐานะผู้เข้ามา disrupt ธุรกิจเช่าหนังแบบเก่า พร้อมทั้งก้าวขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองตลาดสตรีมมิ่งระดับโลก คือภาพอันชัดเจนที่ทุกคนเห็น ยอมรับ และปฏิเสธไม่ได้

แต่หลังจากนี้ เรื่องเล่าของ Netflix อาจจะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะดูเหมือนว่า Netflix ได้ผ่านจุดที่ดีที่สุดมาแล้ว นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่าฝันร้ายที่สุดของ Netflix ได้มาถึงแล้ว

ในอนาคตอันใกล้ เรา-ในฐานะผู้บริโภคกำลังจะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาให้เลือกอีกจำนวนมาก (หรือพูดอีกอย่างคือเรากำลังจะเสียเงินอีกมากเช่นกัน) นั่นเป็นเพราะเราอยู่ในยุคที่ “เจ้าของคอนเทนต์” อยากเป็น “เจ้าของสตรีมมิ่ง”

นับตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา เราได้เห็นยักษ์ใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมระดับโลกประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาสู้กับ Netflix อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Disney+, HBOmax, Apple TV+, NBCUniversal และรวมถึงรายอื่นๆ ในตลาดที่อยู่มาก่อนหน้าแล้วอย่าง Amazon Prime Video หรือ Hulu และ CBS ในสหรัฐอเมริกา

Netflix ผู้มาก่อนที่กำลังจะถูกท้าทายอย่างหนัก

ในบรรดาผู้ที่มาท้าทาย Netflix ไม่ใช่บริษัทหน้าใหม่ แต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น

  • เริ่มที่ Disney บริษัทอันดับต้นๆ ของโลกที่เรียกได้ว่าธุรกิจในมือคืออาณาจักรอันยิ่งใหญ่ เพราะมีทั้งธุรกิจสื่อสายโทรทัศน์ ABC และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ช่องกีฬา 24 ชม.ที่รู้กันดีอย่าง ESPN หรือแม้กระทั่งวงการภาพยนตร์ที่มี Marvel Studio มี Star Wars แถมยังเข้าซื้อ 21st Century Fox ด้วยมูลค่ากว่า 71.4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Disney ครอบครองตลาดภาพยนตร์ไว้อย่างเหนียวแน่น ดูได้จากสถิติของปี 2019 ที่ผ่านมา เพียงครึ่งปีเท่านั้น Disney มีหนังที่ทำเงินเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ 4 เรื่อง และโกยเงินรายได้รวมไปแล้วกว่า 2.3 แสนล้านบาท มากกว่ารายได้ของทุกค่ายหนังในโลกรวมกันเสียอีก และความยิ่งใหญ่ของ Disney ที่ว่ามานี้ยังไม่รวมธุรกิจสวนสนุกที่ถือเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจหลักที่ทำเงินกว่า 1 ใน 3 ของบริษัท
  • คู่แข่งคนต่อมาที่มีศักยภาพสูงคือ AT&T ที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หลังจากได้เข้าซื้อกิจการของ Time Warner ด้วยมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อกลางปี 2018 ต่อมาหลังควบรวมธุรกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว Time Warner จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Warner Media แต่ถ้าเอาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ดู Game of Thrones ต้องรู้จัก HBO ซึ่ง HBO ก็คือบริษัทลูกของ AT&T นั่นเอง
  • ส่วน Apple บริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดของโลกในปัจจุบัน นอกเหนือจากธุรกิจฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว การขยับขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจคอนเทนต์ก็เป็นอีกสิ่งที่บริษัทพร้อมจะทำเพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจในอนาคต แถม Apple มีเงินสดในมือมหาศาล สงครามสตรีมมิ่งจึงเป็นอีกเกมที่ Apple ต้องขอลงมาเล่นด้วย
  • อีกรายคือ Comcast คืออีกหนึ่งบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของอเมริกา เป็นเจ้าของช่องเคเบิลทีวีอังกฤษอย่าง Sky รวมถึงเป็นบริษัทแม่ของ NBC ที่เป็นเจ้าของค่ายหนัง Universal Pictures นั่นเอง หนังดังๆ ก็อย่างเช่น Jurassic World หรือ Despicable Me
  • ส่วนอีกหนึ่งรายใหญ่ที่จะขาดวิดีโอสตรีมมิ่งไปไม่ได้เลยก็คือ Amazon เพราะบริการ Prime ที่สมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อไว้ใช้ในการลดราคาค่าส่งสินค้าและ/หรือเข้าถึงบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือเพลงของ Amazon ดังนั้นการทำสตรีมมิ่งย่อมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์พิชิตใจลูกค้าให้ครบ ecosystem และแน่นอนว่า Amazon ก็มีบริการสตรีมมิ่งของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว (นานกว่า Netflix ที่ครองตลาดอยู่เสียอีก)
Netflix
Netflix Photo: Shutterstock

ชื่อของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะส่งลงมาเล่นในตลาด มีดังนี้

  • Disney จะมี Disney+ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า จะเปิดให้บริการในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ราคาค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 6.99 ดอลลาร์ ราคาถูกกว่า Netflix ครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งมีหนังเอาใจสาวกเพียบ
  • AT&T จะมี HBOmax แม้ว่า HBO จะมีสตรีมมิ่งของตัวเองมานานแล้วคือ HBO GO และ HBO Now ล่าสุดยังประกาศว่าจะส่ง HBOmax ลงมาสู้ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยราคาค่าบริการแต่อย่างใด อ่านรายละเอียดความแตกต่างของทั้ง 3 บริการสตรีมมิ่งของ HBO ได้ที่ ความแตกต่างระหว่าง HBO GO, HBO Now และ HBO Max และดูเหมือนว่า AT&T จะเล่นใหญ่เตรียมส่งสตรีมมิ่งอีกตัวชื่อว่า AT&T TV (จะเยอะเกินไปแล้ว!)
  • Apple จะมี Apple TV+ ในบรรดาสตรีมมิ่งทั้งหมด บริการของ Apple ถือว่ามีรายละเอียดน้อยที่สุดแล้ว เพราะยังไม่มีการประกาศในรายละเอียดอย่างชัดเจนนัก แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทร่ำรวย แผนของ Apple จึงเป็นการใช้เงินเพื่อสร้างคอนเทนต์เป็นหลัก โดยได้ประกาศว่าจะลงทุนกว่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีนี้เพื่อสร้างออริจินัลคอนเทนต์ลงสตรีมมิ่งของตัวเองในอนาคตร่วมกับ Steven Spielberg, Oprah Winfrey, Brie Larson และคนดังอีกหลายคน
  • Comcast จะมี NBCUniversal บริการของรายนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากรายอื่นๆ ในตลาดอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่แทบทุกรายด้านบนจะเน้นไปที่การขายบริการแบบ subscription ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ไร้โฆษณา แต่ NBCUniversal บอกว่า จะทำสตรีมมิ่งของตัวเองแน่ๆ แต่จะไม่เน้นไปที่ออริจินัลคอนเทนต์เหมือนคนอื่น และน่าจะมี “โฆษณา” ด้วย (คล้ายๆ โมเดลของ Hulu ที่เป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เลือกได้ว่าจะสมัครแบบที่มีหรือไม่มีโฆษณา)
  • ส่วน Amazon มีสตรีมมิ่งของตัวเองอยู่แล้วคือ Amazon Prime Video โดยได้มีบริการทั่วโลก ยกเว้นเพียงจีนแผ่นดินใหญ่ คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย เรียกได้ว่าในแง่บริการทัดเทียม Netflix ได้แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ Amazon Prime Video ไม่โดดเด่นเท่า Netflix เป็นเพราะที่ผ่านมา Amazon ไม่ได้จริงจังในการสร้างออริจินัลคอนเทนต์เหมือน Netflix หรือ HBO ถ้าเปิดสถิติดูจะเห็นว่าคอนเทนต์ใน Amazon Prime Video เป็นออริจินัลคอนเทนต์เพียงแค่ 5% เท่านั้น เพราะฉะนั้นก้าวเดินต่อจากนี้ Amazon จึงมีแผนที่จะผลิตออริจินัลคอนเทนต์เป็นของตัวเอง นักวิเคราะห์ประเมินว่า Amazon ทุ่มเงินในส่วนนี้กว่า 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
Netflix
Netflix Photo: Shutterstock

ทีนี้ คำถามต่อมาคือ ทำไมบริษัทรายใหญ่ที่มาจากหลากหลายอุตสาหกรรมต้องลงมาเล่นในศึกสตรีมมิ่ง?

คำตอบของเรื่องนี้มี 2 ข้อที่สอดคล้องกันคือ

1) เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ต้องการให้ Netflix ครอบครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว: ในอดีตที่ผ่านมา Netflix อาจทำสิ่งที่ถูกต้องหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ผิดพลาดคือการซื้อคอนเทนต์จากคนอื่นมาฉายบนแพลตฟอร์ม นี่จึงถึงเวลาแล้วที่เจ้าของคอนเทนต์ทั้งหลายขอลงมาเล่นเอง ซึ่งนับเป็นการทำการตลาดแบบ DTC (direct to consumer) คือผู้ผลิตสินค้า/บริการทำการตลาดโดยตรงต่อลูกค้าเองเลย อย่างในกรณีนี้นึกภาพ Disney ที่มีคอนเทนต์อยู่แล้ว ก็ทำช่องสตรีมมิ่งขึ้นมา แล้วให้ลูกค้าสมัครเข้ามาดูโดยตรง ไม่ต้องผ่านบริษัทสตรีมมิ่งที่อื่น

2) ข้อมูลของลูกค้าต่อยอดการขายในอนาคต: ต่อเนื่องจากข้อแรก เหตุผลสำคัญของการทำ DTC คือ “ข้อมูลของลูกค้า” เพราะยุคนี้ Data is the new oil ดังนั้น ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ยอมปล่อยให้ Netflix ได้ข้อมูลไปคนเดียวแน่ และเนื่องด้วยในอนาคตข้อมูลของลูกค้าจะสามารถนำไปต่อยอดการขายสินค้า/บริการในอนาคตได้อีกมาก เช่น AT&T อาจขายแพ็คเก็จอินเทอร์เน็ตพ่วงกับแพ็คเก็จสตรีมมิ่ง หรือ Apple ที่อาจขายบริการสตรีมมิ่งพ่วงกับบริการ Cloud ของตัวเอง

คู่แข่งแต่ละรายของ Netflix มีศักยภาพทั้งนั้น ในปีนี้ฝันร้ายของ Netflix เริ่มฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผู้เล่นยักษ์ใหญ่ที่ประกาศเดินเกม ส่วนด้านของ Netflix เองอาการก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

ถ้าดูตัวเลขของผู้ใช้บริการ Netflix ในสหรัฐอเมริกาลดลงถึง 130,000 รายในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นราคาค่าบริการ นับเป็นตัวเลขที่ลดลงในรอบ 8 ปี นอกจากนั้น Netflix ยังพลาดเป้าในการดึงผู้ใช้หน้าใหม่จากทั่วโลก ซึ่งแต่เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 5 ล้านคนทั่วโลก สรุปจบไตรมาสได้เพิ่มมาเพียง 2.7 ล้านคนเท่านั้น

ในด้านตัวเลขผู้ใช้งานของ Netflix ไม่เติบโตขึ้นอย่างที่หวัง แถมลดลงอย่างในสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าไปดูหนี้ของ Netflix จะพบว่าพุ่งขึ้นอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมาจากการทุ่มเงินผลิตออริจินัลคอนเทนต์ ตรงนี้สำคัญ เนื่องจากการที่ยักษ์ใหญ่ประกาศสู้ Netflix ด้วยการทำสตรีมมิ่งด้วยตนเอง นั่นหมายความคอนเทนต์เดิมที่ Netflix ซื้อมาฉาย จะถูกถอดออกแทบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น

Disney+
Disney+ Photo: Shutterstock

จึงเป็นไปได้ว่า ในอนาคต Netflix อาจไม่เหลือคอนเทนต์จากคนอื่นเลย เพราะใครๆ ต่างก็ทำสตรีมมิ่งเป็นของตัวเอง หนทางรอดของ Netflix จึงเป็นการทำออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองให้มากที่สุด

แต่เกมออริจินัลคอนเทนต์ก็ไม่ง่าย เพราะมันต้องใช้เงินมหาศาล คำถามคือ Netflix มีเงินมากขนาดนั้นหรือไม่?

ในปี 2018 Netflix ทุ่มเงินลงไปกับการสร้างออริจินัลคอนเทนต์ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนปีนี้วางแผนใช้อีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

Forbes รายงานว่า Netflix อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกู้เงินเพื่อสร้างออริจินัลคอนเทนต์อย่างมหาศาล ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “หนี้ของ Netflix” เพิ่มขึ้น 58% ปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นจำนวนหนี้ก้อนใหญ่มหาศาล เพราะถ้าเปรียบเทียบกับกำไรของ Netflix ในปีที่ผ่านมาถือว่าห่างกันถึง 10 เท่า (ในปี 2018 Netflix มีกำไรอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์)

Netflix
Netflix Photo: Shutterstock

แต่ Netflix ผู้มาก่อน ก็มีจุดแข็งหลายแห่งที่เหนือกว่า

ความได้เปรียบของการ “มาก่อน” ของ Netflix คือการให้บริการสตรีมมิ่งมาเกือบ 10 ปี ทำให้รู้จักตลาดนี้ดีกว่าใคร บวกกับยอดผู้ใช้งานที่มากที่สุดในโลกถึง 151 ล้านคน และพร้อมให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก

ถ้าเจาะลงไปจริงๆ จุดแข็งเรื่องแรกของ Netflix คือ “เทคโนโลยี” การทำสตรีมมิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องมีคอนเทนต์ที่ดีแล้ว การทำเทคโนโลยีสตรีมมิ่งก็มีราคาที่ต้องจ่ายสูงเหมือนกัน เพราะต้องใช้ทั้งผู้เชี่ยวชาญในสายเทคโนโลยีเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น Tech Expert, Data Scientist, Software Engineer ไปจนถึง Product Design ถ้าไม่เชื่อว่ายากแค่ไหน ลองถาม Disney ได้ เพราะล่าสุดเข้าซื้อกิจการของ BAMTech บริษัทที่เชี่ยวชาญในการทำเทคโนโลยีสตรีมมิ่งด้วยมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว

จุดแข็งเรื่องต่อมาคือ “เครือข่ายที่แข็งแกร่ง” ความพร้อมในการให้บริการทั่วโลกของ Netflix เหนือกว่าคู่แข่งอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะอยู่ในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา หรือแม้แต่ละตินอเมริกา ก็สามารถเข้าถึง Netflix ได้ ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า เมื่อผลิตคอนเทนต์เสร็จแล้ว เอาแค่การแปลภาษาใส่ซับไตเติลเพื่อให้ฉายพร้อมกันได้ทั่วโลก ณ ตอนนี้คงไม่มีสู้ Netflix ได้ แต่ความแข็งแกร่งของเครือข่ายที่กว้างขวาง สิ่งหนึ่งที่ Netflix สามารถรุกต่อได้ทันที คือการทำออริจินัลคอนเทนต์ที่เป็น local ซึ่งช่วงหลังๆ มาเราเริ่มได้เห็นกันบ้างแล้ว นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการทำการตลาด local ที่ “เล่นใหญ่” ซึ่งเราก็ได้เห็นมาแล้วกันเช่นกันในประเทศไทย อย่างแคมเปญใหญ่ช่วงปีใหม่ 2019 หรือแคมเปญที่เล่นกับข่าวเรื่องเจ้าหญิงถูกลักพาตัว แต่สุดท้ายเป็นเพียงการโปรโมทซีรีส์เท่านั้น

  • จุดแข็งของ Netflix เหล่านี้คือสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ยังคงไล่ตามไม่ทัน (อย่างน้อยก็ใน 2-3 ปีนับจากนี้)
Video
Unlimited Videos Photo: Shutterstock

สงครามที่แท้จริงกำลังจะเริ่ม แล้วทำไมความซวยจึงอยู่ที่พวกเรา?

ถ้าพูดในมุมตลาดที่มีระบบทุนนิยมเป็นฐานคิด การมีตัวเลือกย่อมเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งมีตัวเลือกมาก ผลประโยชน์ยิ่งเป็นของผู้บริโภค เพราะไม่เกิดการผูกขาดในตลาด

แต่ในยุคที่ “เจ้าของคอนเทนต์” อยากเป็น “เจ้าของสตรีมมิ่ง” แม้จะมีตัวเลือกมากก็จริง แต่ตัวเลือกแต่ละรายก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือแม้ว่าจะเป็นวิดีโอสตรีมมิ่งเหมือนกัน แต่คอนเทนต์แต่ละเจ้าจะต่างกันแทบทั้งหมด

นึกภาพง่ายๆ ว่าถ้าตอนนี้คุณเป็นลูกค้า Netflix อยู่ แต่คุณเป็นคนที่ชอบดูหนังฮีโร่ ต่อไปใน Netflix ไม่มีหนังฮีโร่โดนใจ คุณก็ต้องสมัคร Disney+ เพราะมีหนังฮีโร่จำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันคุณก็เป็นคนที่ชอบดูมุมภาพและการเล่าเรื่องของ HBO คุณก็ต้องสมัคร HBO Max และนี่ยังไม่นับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสายเอเชียอย่าง Viu ที่มีซีรีส์เกาหลี-จีน-ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

  • คำถามคือต่อจากนี้ไป ต้องสมัครกี่บริการ ถึงจะพอต่อความต้องการ?

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า magic number น่าจะอยู่ที่ 3 บริการต่อคน แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะหยุดอยู่แค่ 2 บริการต่อคนเท่านั้น แต่ทั้งนี้เราก็เริ่มเห็นแนวทางของยักษ์ใหญ่อย่าง Disney ที่เริ่มตอบคำถามนี้ด้วยการขายแพ็คเก็จพ่วง (bundle package) โดยประกาศว่า หากสมัครสตรีมมิ่ง 3 บริการเป็นแพ็คเก็จร่วมกันทั้ง Disney+, Hulu และ ESPN+ ราคาจะอยู่ที่ 12.99 ดอลลาร์/เดือนเท่านั้น (ราคาเท่ากับสมัคร Netflix แบบ standard)

แต่ยกตัวอย่างแบบนี้ก็อาจมีข้อถกเถียงที่ว่า ข้อดีอย่างหนึ่งสำหรับลูกค้าสตรีมมิ่งคือสามารถ “Cancel Anytime” หรือจะยกเลิกบริการเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องสมัครบริการตลอดไป แม้จะมีหลายราย แต่ก็เลือกสมัครเฉพาะช่วงที่ต้องการดูก็พอ (ข้อมูลจาก Parks Associates ระบุว่า ผู้บริโภคที่สมัครบริการสตรีมมิ่งเพื่อเข้าไปดูหนังเพียงเรื่องเดียว แล้วพอดูจบก็ยกเลิกบริการทันที มีอยู่ถึง 28%)

คำตอบนี้ก็ “ถูกต้อง” แต่ในอนาคต บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ย่อมมองเห็นสิ่งนี้ และการลงทุนระดับหลักหลายพัน-หลายหมื่นล้านดอลลาร์ พวกเขาย่อมจะหาทางให้ยกเลิกได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จากการสร้างเงื่อนไขต่างๆ นานาขึ้นมา

และแน่นอน ไม่ว่าจะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งผุดขึ้นมากี่รายในตลาด อย่าลืมว่า “เวลา” ของเรายังคงเท่าเดิม ไม่ได้มีเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นนอกจากจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการสมัครแล้ว เวลาในการนอนของเราก็สำคัญ

  • เพราะถึงที่สุดแล้ว ศึกสงครามสตรีมมิ่ง คือการแข่งขันกันเพื่อยื้อแย่งความสนใจ (attention) ซึ่งต้นทุนของมันคือ “เวลา” ของพวกเราทั้งหลาย

ในยุคที่เจ้าของคอนเทนต์อยากเป็นเจ้าของสตรีมมิ่ง “ความซวยมันก็ตกอยู่ที่พวกเรา” นี่แหละครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา