Nikkei ถามตรงๆ เศรษฐกิจไทยจะกลับมายืนอยู่แถวหน้าของภูมิภาคได้อีกครั้งหรือไม่?

หลังจากไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยกลับมาดีขึ้นอีกครั้งในรอบ 4 ปี แต่อุปสรรคข้างหน้าก็ไม่น้อย ทั้งการขาดจุดเด่นในด้านเศรษฐกิจและปัญหาด้านประชากร ในขณะที่เพื่อนบ้านกำลังเติบโตในหลายประเทศ

Photo: Shutterstock

ย้อนรอยเศรษฐกิจไทย กับคำถามของ Nikkei 

สำนักข่าวญี่ปุ่น Nikkei Asian Review เขียนบทความตั้งคำถามน่าสนใจไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมายืนอยู่แถวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกครั้งหรือไม่?

  • อย่างที่รู้กันว่า ประเทศไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองในทางเศรษฐกิจอย่างมากในภูมิภาคนี้ เรียกได้ว่าถูกวางตัวให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างชาติจากทั่วสารทิศเลยก็ว่าได้
  • จนกระทั่งเกิดวิกฤติการเงินในปี 1997 (2540) จากนั้นได้ทักษิณ ชินวัตรมาเป็นนายก ในด้านเศรษฐกิจได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์จากญี่ปุ่น และทำให้เศรษฐกิจรุดหน้าไปได้รวดเร็ว
  • ในปี 2003 เศรษฐกิจไทยโตปีละ 7.2% เทียบกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่ 4.8% และฟิลิปปินส์ที่โต 5% และ GDP ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ 2,380 ดอลลาร์ มากกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รวมกัน
  • แต่จะพูดถึงเศรษฐกิจ โดยไม่มีมิติการเมืองคงไม่ได้ ในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ความขัดแย้งทางการเมืองก็ก่อตัวขึ้น เศรษฐกิจชะงักงัน จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2006 และเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในปี 2016 กับรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และนับตั้งแต่ปี 2003 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวเรื่อยมาที่ 0 – 3.2% ในขณะที่เพื่อนบ้านเติบโตแซงหน้าไปทุกวัน

Photo: Shutterstock

ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย กับคำตอบของ Nikkei 

สำหรับปัจจุบัน Nikkei มองว่า ประเทศไทยผ่านพ้นเหตุการณ์การสูญเสียกษัตริย์พระองค์ก่อนมามากกว่า 1 ปีแล้ว ทำให้ในแง่เศรษฐกิจการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ส่งผลให้ GDP ของไทยปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 GDP ไทยจะขยายตัวได้ 4.3% ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามโต 7.5% ฟิลิปปินส์ 6.9% และอินโดนีเซีย 5.06% แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 4 ปี

  • Nikkei ชี้ให้เห็นว่าก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทยจะพบกับปัญหาอย่างน้อย 2 เรื่องคือ 1) ปัญหาการขาดจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของเศรษฐกิจไทย และ 2) ปัญหาด้านประชากร

ปัญหาการขาดจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของเศรษฐกิจไทย

Nikkei อ้างอิงคำพูดของ เจ้าหน้าที่รัฐญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบอกว่า “คนไทยดูเหมือนไม่ค่อยมีความทะเยอทะยาน พวกเขาดูเหมือนจะมีความสุขดีกับการเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ดูเหมือนไม่ได้สนใจกับการลงทุนในภาคอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์”

พอมองดูเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ปัจจุบันเศรษฐกิจโตวันโตขึ้น แบรนด์ระดับโลกอย่าง Samsung ยังตัดสินใจลงฐานใหญ่ที่สุดในภูมิภาคที่เวียดนาม ส่วนฟิลิปปินส์ ใช้ความแข็งแกร่งในภาษาอังกฤษของประชากรมาทำให้เป็นศูนย์กลางในการรองรับบริษัท Outsource จากต่างประเทศ

จุดนี้ถือเป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย เพราะการพึงพอใจกับพื้นที่ Comfort Zone มากเกินไป ทำให้หาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อขยายศักยภาพ Nikkei บอกเลยว่า ประเทศไทยล้มเหลวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลังจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วก็ดูเหมือนไม่มีอะไรที่โดดเด่นเลย

ปัญหาด้านประชากร

ตัวเลขจากองค์กรสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2017 ประชากรไทยที่มีจำนวนทั้งหมด 69 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเพียง 3 ล้านคนในรอบ 10 ปี หมายความว่า มีอัตราการเกิดต่ำ ปัญหานี้ส่งผลโดยตรงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ลองอ่านเพิ่มเติมเรื่องได้ในบทความ อัตราการเกิดต่ำ ทำเศรษฐกิจชะลอตัว จากสหรัฐฯ มาญี่ปุ่น ถึงไทย

อัตราการเกิดต่ำส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจต่างชาติที่ต้องการแรงงานทักษะ เพราะมีอยู่จำกัด จึงต้องหันไปพึ่งแรงงานเพื่อนบ้านไทย ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว แต่ประเด็นคือต่อให้ทั้ง 4 ประเทศนี้รวมจำนวนแรงงานกันที่มีอยู่ประมาณ 140 ล้านคน ในขณะที่อินโดนีเซียประเทศเดียวตอนนี้มีอยู่ 264 ล้านคน ส่วนในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีมากถึง 264 ล้านคน ส่วนฟิลลิปปินส์และเวียดนามก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตในอัตราที่สูงเช่นกัน

ส่วนประเทศไทย ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ธุรกิจต่างชาติที่มีฐานในไทยอาจจะต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์อีกครั้งหนึ่ง

  • อย่างไรก็ตาม GDP ของประเทศในอาเซียนทั้งหมดรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 1 ครองสัดส่วนไปได้ถึง 36.5% ส่วนไทยตามหลังมาที่ 15.9% ด้าน IMF คาดการณ์ว่าในปี 2022 ฟิลิปปินส์จะแซงไทยได้

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา