NEO เสนอขาย IPO หุ้นละ 39 บาท เปิดจองวันที่ 28-29 มีนาคม และ 1-2 เมษายน 2567 นี้

บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO ผู้ทำการตลาด ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม 8 แบรนด์ ดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) 1) แบรนด์ไฟน์ไลน์ Fineline 2) แบรนด์สมาร์ท Smart 3) แบรนด์โทมิ Tomi
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) 4) แบรนด์บีไนซ์ BeNice 5) แบรนด์ทรอส TROS 6) แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ Eversense 7) แบรนด์วีไวต์ Vivite และ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) 8) แบรนด์ดีนี่ D-nee

NEO corporate

กว่าจะเป็น NEO

สุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO เล่าว่าที่มาที่ไปของบริษัท NEO เนื่องมาจากเห็นว่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตของไทยยังไม่ค่อยได้มาตรฐานในสายตาของตัวเอง เราอยากมีสินค้าที่มีระดับมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล ให้ผู้บริโภคไทยได้ใช้กัน เริ่มจากที่เรามี Know how ในการทำนวัตกรรมพวกนี้ เราอยากเป็นบริษัท FMCG ระดับเอเชีย อยากให้คนไทยและอาเซียนมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น

วันที่เราเริ่มต้น คือการทำโคโลญที่มีกลิ่นหอม ติดทนนาน เรามีสินค้าที่เป็น Unisex ในตลาด ไม่ได้มีสินค้าที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเลย นี่คือจุดเริ่มต้นทำ Eversense (ผลิตภัณฑ์โคโลญและผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง) และ Tross (ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้ชาย) จากนั้นก็ขยายไลน์สินค้าได้ วัยรุ่นสมัยนั้นต้องการความสะดวกสบาย ง่ายๆ การสวมใส่เสื้อผ้าเป็นแบบ Casual ที่สมัยนี้นิยมกัน ก็ออกสินค้า Fineline ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรีดผ้าเรียบออกมา (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ)

สินค้า Household products สำหรับสุทธิเดช เขามองว่ามันน่าเบื่อ ไม่สวยงาม เรามีคอนเซ็ปต์สินค้าเสมอ ตอนนั้นคือ Personal Care บน Household products ทำให้สินค้าโดดเด่นจนได้รางวัลแพกเกจจิ้ง สินค้าเราเป็นแบบพาสเทล เวลาเล่นละครจะมีสินค้าไปวางโฆษณาฟรี ซึ่งแพคเกจจิงเป็นสิ่งที่เราพัฒนามาตลอด ปัจจุบัน Household product เปลี่ยนไป สวยงาม เป็นความดีใจของเราที่ทุกอย่างสวยงามขึ้น

จากนั้นก็ศึกษามากขึ้นมีทั้งทีมคนทำงาน แม่บ้าน เราศึกษาว่า ก้าวถัดไปคือ สินค้าเด็กที่เราเห็นแล้วว่าไม่มีสินค้าผลิตภัณฑ์ใดที่ล้างขวดนมได้สะอาดในสมัยนั้น ด้วยนวัตกรรมของเราและความต้องการสินค้าที่ดีที่สุด เราติดต่อฝรั่งเศส ได้ผ่านเกณฑ์ Hypoallogenic (ผลิตภัณฑ์ที่หลีกเลี่ยงส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง) จากนั้นเราก็พบว่า มีสารสกัดที่ทำให้ใต้วงแขนขาวได้ ก็เลยออกแบรนด์ BeNice และทำให้ผิวกระชับได้

หลังจากนั้นก็มีสินค้าที่เป็น Household products ที่ Anti-Bacteria ได้ ก็ออกแบรนด์สมาร์ท จากนั้นก็ส่งออกไปต่างประเทศ ขายดีขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็ทำแบรนด์ล้างสุขภัณฑ์ ล้างพื้นของที่บ้าน และทำตามคอนเซ็ปต์เดิมคือมีส่วนประกอบที่มาจากธรรมชาติ ปัจจุบัน NEO ออกแบรนด์มาแล้วรวม 8 แบรนด์ อนาคตจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เป็นการร่วมมือแบบเอางานวิจัยมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรียกว่ากลยุทธ์ “จากหิ้งสู่ห้าง”

ด้านปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) เล่าว่าตลาดอุปโภคทั้งไทยและ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มีปัจจัยหลัก 3 เรื่อง ดังนี้

  • 1) Urbanization สังคมเราเปลี่ยนจากเกษตรเป็นสังคมเมือง ความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน เป็นปัจจัยหลักที่จะต้องการใช้สินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น
  • 2) รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น กำลังซื้อเพิ่ม
  • 3) พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดระบาด เปลี่ยนแปลงไป เต็มใจจ่ายเพื่อตอบโจทย์ตัวเองมากขึ้น

กลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจเราก้าวขึ้นไปอีกมาตรฐานที่สูงขึ้น

  • หนึ่ง ทำการตลาด เนื่องจาก NEO คือบริษัทที่ใช้การตลาดนำ ยึดมั่นการพัฒนา เพื่อส่งต่อสินค้าคุณภาพสูง โดดเด่น โดนใจผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เราจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สินค้ามากขึ้น
  • สอง การพัฒนา Supply Chain เราบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพ ทั้งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต มีการปรับปรุงตลอดเวลา มีการจัดเก็บ การจำหน่าย เป็นระดับอัตโนมัติทั้งหมดเลย (AS/RS ระบบ Automated Storage and Retrieval System: ระบบบริหารจัดการ จัดส่งสินค้าจากโรงงานผลิตถึงคลังสินค้าที่ถูกต้องแม่นยำ)
  • สาม ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนาธรรมองค์กรอย่างยั่งยืน Sustainability เริ่มจากสูตรจนถึงบรรจุภัณฑ์

นาฏยา ทัศนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน NEO เล่าถึงการดำเนินงานของ NEO ปี 2020-2023 ที่ผ่านมา มียอดขายเติบโตเฉลี่ย 11.9% ต่อปี กำไรสุทธิขยายตัวเฉลี่ย 11.7%

รายได้ของปี 2020-2023 รวม 6,768 ล้านบาท, 7,445 ล้านบาท, 8,301 ล้านบาท และ 9,484 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 602 ล้านบาท 729 ล้านบาท 569 ล้านบาท และ 840 ล้านบาทตามลำดับ

สัดส่วนรายได้ แบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน 40% กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล 25% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก 35% ขณะที่รายได้จากภายในประเทศคิดเป็น 85% และรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 15%

แผนการลงทุนปี 2024-2027 

ณ 31 ธันวาคม 2023 NEO มีกำลังการผลิตรวม 234,782 ตันต่อปี คลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปสามารถจัดเก็บรวมกว่า 45,700 พาเลท โดยโครงการที่ลงทุนราว 6,530 ล้านบาท ดังนี้

  • 1) โครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนสำหรับเด็ก ระหว่างปี 2024-2027 เพิ่มกำลังการผลิตรวมอีก 163,200 ตันต่อปี
  • 2) โครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลสำหรับเด็ก ระหว่างปี 2024-2027 เพิ่มกำลังการผลิตรวม 18,100 ตันต่อปี
  • 3) โครงการขยายวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์และระบบบริหารจัดการคลังสินค้า เพิ่มเป็น 29,620 พาเลทในปี 2027

NEO Corporate

สาเหตุที่เข้าตลาดหุ้น

สุทธิเดช กล่าวว่า เราเห็นว่ามีนวัตกรรมเยอะแยะของบริษัทที่มองไว้ อีกส่วนหนึ่ง สินค้าต้องเป็นสินค้าที่ดี ถ้าเป็นสินค้าไม่ดี ไม่ตรงตามที่เราต้องการ สินค้านั้น จะไม่อยู่ในตลาด เราจะไม่ขาย เราเดินหน้าทำงานเพื่อยกระดับการตรวจสอบบัญชี ความเสี่ยง เราต้องทำให้มั่นใจว่า เราทำได้ ทำได้เป็นปกติด้วย ไม่ใช่ว่าตรงจสอบแล้วเราจะทำไม่ได้ มาตรฐานเรา เราต้องทำได้ทุกวันเป็นเวลาห้าปีต่อเนื่อง แน่นอนเลยว่าทำได้ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ส่วนปีแรกคือการปรับตัว ส่วนหมุดหมายถัดไปของเราคือ Silver market ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ส่วนอนาคตอันใกล้จะเน้นการทำด้านนวัตกรรมมากขึ้น

เราคือบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานของเรา งานเราสำคัญกับเรา งานเราต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นใหญ่สำหรับเรา ตั้งแต่ Day 1 ที่ทำมาก็ทำแบบนี้ ทำมา 5 ปีแล้ว และได้มาตรฐานตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 4 ปี เราอยากเป็นหุ้นที่ดี

ไม่ใช่ FMCG ทุกเจ้าที่ผ่านวิกฤตโควิดได้ดี แม้พฤติกรรมคนเปลี่ยน แล้วเราตามพฤติกรรมผู้บริโภคได้ไหม มันไม่มีความบังเอิญ เราต้องรู้จริงว่าผู้บริโภคมองหาอะไร เราชัดเจนตั้งแต่ Day 1 ว่าสินค้าเรามีคุณภาพ แม้ว่า Share of Voice อาจจะน้อย แต่ Share of Market ค่อนข้างมาก เราไม่ขึ้นราคาเพื่อช่วยผู้บริโภค ผมเชื่อว่า คนเราเกิดมาอย่างไรไม่รู้ รู้อย่างเดียว เราเลือกที่จะเป็นได้

ด้านทวีชัย ตั้งธนทรัพย์ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ให้ความเห็นว่า 
NEO เป็นบริษัท Non-food FMCG เข้าตลาดหลักทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ของเขาอยู่รอบตัวเรา ตามหลักปรัชญาการลงทุน เราควรลงทุนในหุ้นที่เราเข้าใจ ตามหลักการคือเป็นหุ้นที่เข้าใจง่าย สินค้า FMCG ใช้แล้วหมดเร็ว ใช้ได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจดีหรือไม่ ทุกคนต้องใช้สินค้านั้น เขามีแผนชัดเจนในการลงทุน เขาบอกชัดเจนว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะโตอย่างไร

สำหรับการ IPO (เสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) อยู่ที่ 39 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 28-29 มีนาคมและ 1-2 เมษายน 2024 นี้ คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 9 เมษายน โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า NEO

สำหรับการ IPO จำนวนไม่เกิน 87.50 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 29.17% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ แบ่งเป็น

  • 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายโดย NEO จำนวนไม่เกิน 78.00 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.00% และ
  • 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ FNS เป็นผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 9.50 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 3.17%

สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุน คือ ขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ชำระคืนเงินกู้ยืมที่มีกับสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

NEO แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 6 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ NEO ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา