MUJI แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นยืนหยัดสวนกระแสหลากหลายแบรนด์ชาติอื่นที่ส่วนใหญ่ประกาศไม่เห็นด้วยที่จีนบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในซินเจียง ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น H&M, Zara, Burberry, Uniqlo, Nike และอีกหลายแบรนด์ต่างถอนตัว งดใช้ฝ้ายจากซินเจียงกันทั้งนั้น ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่นเท่านั้นแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และ EU ก็ร่วมกันคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่มีส่วนพัวพันกับการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในซินเจียง
ก่อนหน้านี้ MUJI สาขาจีนก็เคยออกมาประกาศแล้วว่ายังไม่เปลี่ยนใจ ยินดีใช้ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่ง MUJI ก็ยืนยันที่จะใช้ฝ้ายจากซินเจียง ทั้งที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเคยระบุไว้ว่า ซินเจียงเป็นพื้นที่ที่มีการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในค่ายกักกัน รายได้ของ MUJI ราวครึ่งหนึ่งเป็นรายได้นอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรายได้จากจีนและมาจากสหรัฐฯ บ้างประปราย แถลงการณ์จาก MUJI ระบุว่า ใช้ฝ้ายจากฟาร์มออร์แกนิกส์จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น
ปัจจุบัน หน้าร้านออนไลน์ของ MUJI ในจีนยังระบุว่าใช้ฝ้ายจากซินเจียง ท่าทีเช่นนี้ของ MUJI ทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวจีนยังรู้สึกดีกับ MUJI และรู้สึกว่าเป็นแบรนด์ที่ยังสนับสนุนจีนเช่นเดิม
MUJI คาดว่าจะมีหน้าร้านในจีนได้มากว่า 300 แห่งภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งก็มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนออกมาประท้วง MUJI สำนักงานใหญ่ในโตเกียว เรียกร้องให้บริษัทหยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียง แต่ทางตัวแทนจาก MUJI ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของ MUJI ก็พยายามแสดงท่าทีไม่ให้เห็นว่าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทางบริษัทแม่ของ MUJI อย่าง Ryohin Keikaku ก็ยืนยันว่าจะใช้ฝ้ายจากซินเจียงต่อไป ส่วนประธานของ MUJI ยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ต่อประเด็นซินเจียง
เรื่องการตัดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นกับจีนนั้น Kota Hirayama นักเศรษฐศาสตร์จาก SMBC Kikko Securities ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นพยายามตัดความสัมพันธ์กับจีนแต่ก็ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ไม่ใช่แค่มีตลาดผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากเท่านั้นแต่มันยังหมายถึงการดิสรัปห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย
ที่มา – WSJ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา