สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา และ EU ผนึกกำลังคว่ำบาตรจีน เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนอุยกูร์

ผนึกกำลังกันขนาดนี้ จีนจะสู้ไหวไหม? ล่าสุด สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ร่วมกับสหภาพยุโรปหรือ EU ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

Sanction China

เรื่องนี้ EU ไม่รอช้า เริ่มจัดการด้วยการอายัดทรัพย์สินและแบนการเดินทางก่อนเลยเพื่อตอบสนองจีนที่ปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับอเมริกาเหนือและเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ การคว่ำบาตรของ EU จะมีผลทันที โดยในแถลงการณ์ร่วมที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดานี้ ระบุว่า จะร่วมมือกันจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์

EU ได้ขึ้นบัญชีดำสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน 4 ราย รวมทั้งองค์กรของพรรคจีนในซินเจียงด้วย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวอุยกูร์เป็นจำนวนมาก ด้านอังกฤษก็คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนด้วย 4 ราย ขณะที่สหรัฐฯ ทำโทษ 2 ราย ด้านจีนโจมตีกลับและกล่าวยืนยันว่าไม่เห็นด้วย พร้อมกับประณามอย่างหนักจากกรณีคว่ำบาตรของ EU

จีนประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ 10 คนซึ่งมาจากรัฐสภาสหภาพยุโรปและเจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติ รวมทั้งองค์กร 4 แห่งของ EU โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการคุกคามอธิปไตยและผลประโยชน์ของจีน ตลอดจนความพยายามมุ่งร้ายต่อจีนจนเป็นเหตุให้เผยแพร่ข้อมูลแบบผิดๆ และยังบอกอีกว่า EU ต้องเลิกสอนสั่งเรื่องสิทธิมนุษยชนได้แล้ว เลิกแทรกแซงกิจการภายในด้วย

Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

EU ไม่ได้คว่ำบาตรจีนเป็นครั้งแรก แต่เคยทำมาแล้วตั้งแต่เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนกรณีเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดตั้งแต่สมัยปี 1989 นอกจากนี้ปลายปีที่ผ่านมา EU ยังประกาศคว่ำบาตรหลายชาติที่เกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ ลิเบีย รัสเซีย ซูดานใต้ เอริเทรีย รวมถึงผู้นำระดับสูงทางทหารของเมียนมาหลายรายที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในประเทศ

อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ได้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จากจีนและฮ่องกงมากถึง 24 รายที่เตรียมจะรื้อระบบเลือกตั้งใหม่ โดยสหรัฐฯ มองว่ามีความพยายามจะทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ ทั้งนี้ ด้านสหภาพยุโรปเองก็มีการทำความตกลงลงทุนกันกับจีน การประณามจีนกรณีบังคับใช้แรงงานและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในฮ่องกงย่อมส่งผลต่อการเจรจาหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ฝั่งอังกฤษเองก็มองว่าสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง จีน ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุด

Xi Jinping สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี จีน
Xi Jinping ภาพจาก Shutterstock

สรุป

ปัญหาดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกของชาติตะวันตก ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนที่เป็นหลักการหลักของชาติตะวันตกที่ยึดถือมาเนิ่นนานกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่กำลังจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูกับจีน EU และชาติตะวันตกยังแน่วแน่ต่อการใช้ไม้แข็ง ทั้งประณาม ทั้งคว่ำบาตร สิ่งที่จีนทำได้และควรจะทำคือการทำให้ปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิฯ ลดน้อยลง เพราะต้องยอมรับว่าหลังโควิดระบาดหนักทั่วโลก ความนิยมที่มีต่อจีนก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา