กระทรวงการคลังไม่กังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่ติดตามและประเมินเป็นระยะ

โฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงประเด็นหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยของไตรมาส 1 ปี 2562 ที่เพิ่มสูงขึ้นว่ายังไม่น่ากังวลแต่อย่างใด

Thailand Rural People
ภาพจาก Shutterstock

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงประเด็นหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยของไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ผ่านมาว่าหนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% และมูลค่าหนี้สินครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 78.7% ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาสนั้น

โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า แม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนสิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ของไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่ถือได้ว่าลดลงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เคยสูงสุดที่ 81.2% ต่อ GDP เมื่อปี 2558 นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนยังไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจาก

  1. หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น รถยนต์ ที่พักอาศัย และถ้าหากมองว่าหนี้เหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสมความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์และเพื่อการลงทุนทําธุรกิจหารายได้แล้ว ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือนด้วย
  2. หนี้ครัวเรือนบางส่วนใช้เพื่อประกอบธุรกิจของครัวเรือนถือเป็นสินเชื่อที่สร้างรายได้ให้ครัวเรือน โดยเมื่อหักสินเชื่อธุรกิจนี้ออก ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงอยู่ที่ 65.8 ของ GDP
  3. สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 6.3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
  4. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่ร้อยละ 3.3 ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562

อย่างไรก็ดี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีการติดตามและประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากถ้าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของระดับครัวเรือน และเสถียรภาพของเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามามีบทบาทในการดูแลการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นอีกด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่แค่กระทรวงการคลังที่ติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้  แต่ทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ติดตามเช่นกัน เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งผลทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ธปท. อาจมีมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR เพิ่มเติม แต่ล่าสุดทาง ธปท. ยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปีนี้

ที่มา – สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ