เศรษฐกิจไทยขาลง-หนี้ครัวเรือนขาขึ้นแตะ 13 ล้านล้านบาท สภาพัฒน์เผยหนี้เสียพุ่ง

ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 เศรษฐกิจไทยเหมือนจะเป็นขาลง เพราะ GDP ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลกระทบทั้งกำไรสุทธิของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หดตัว ไหนจะกระทบกับเงินในกระเป๋าประชาชน ล่าสุดหนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นอีก?

ภาพจาก Shutterstock

หนี้ครัวเรือนไทยขาขึ้น Q1/62 แตะ 13 ล้านล้านบาท ไตรมาส 2 ส่อหนี้เสียเพิ่ม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ไตรมาส 2 ปี 2562 หนี้สินครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% และมูลค่าหนี้สินครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 78.7% ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส (ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2560)

สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาจาก การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ เพิ่มขึ้น 9.2% โดยเฉพาะยอดสินเชื่อคงค้างหมวดเดียวกันเพิ่มขึ้น 11.3% สูงที่สุดในรอบ 4 ปี

ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ไตรมาส 2 ปีนี้ สศช.ต้องจับตาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพ (หนี้เสีย) เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ยอดคงค้างหนี้เสียเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ปี 2562 กว่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  ปัจจุบันยอดหนี้เสียมีสัดส่วน 2.74% ต่อสินเชื่อรวม

หนี้เสียที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ยอดคงค้างหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 32.3% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5% รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลฯ อย่างไรก็ตามคาดว่าครึ่งปีหลังสินเชื่อบ้าน (สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เพราะมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV)

ปัจจุบันภาครัฐพยายามดำเนินมาตรการกำกับดูแลหนี้ครัวเรือน และสร้างการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับปรุงมาตรการปล่อยสินเชื่อหลายประเภท รวมถึงการใช้กลไกจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) และธนาคารกรุงไทย เข้าถึงตลาดหนี้นอกระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยต้องจับตามองการจ้างงานแม้ว่าไตรมาส 2 ปี 2562 จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบการจ้างงานในภาคเกษตร สถานการณ์หนี้ึครัวเรือน และสถานการณ์เศรษฐกิจไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา