ธปท. ไม่มีแผนนำมาตรการคุมภาระหนี้ฯ มาใช้ในปีนี้ แต่จะติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีแผนนำมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR มาใช้ในปีนี้ แต่ทาง ธปท. จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้อย่างใกล้ชิด

Bangkok Thai People
ภาพประกอบบทความจาก Shutterstock

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท. ได้ออกมาตรการในหลายส่วนเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน และมีกระแสข่าวว่า ธปท. อาจมีมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ DSR เพิ่มเติม โดยทาง ธปท. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปีนี้

ก่อนหน้านี้ทาง ธปท. ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อที่จะมาควบคุมสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากควบคุม DSR หรือไม่ให้มีภาระหนี้เกิน 70% เพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนเป็นหนี้นาน จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทย

โดยปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินใน 2 เรื่อง ได้แก่

  1. การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันโดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางให้ ธปท. ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
  2. การผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว

ธปท. จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งผ่านข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน ซึ่งหากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น ธปท. อาจพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน กรอบการบังคับใช้และจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

ที่มา –  ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา