สนค. กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 345 บาท (เพิ่ม 2.37%) กระทบเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อ 8 ธ.ค. 2566 เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.37% ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ สนค. ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น 0.13 – 0.25%

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูง จะขึ้นอยู่กับการใช้แรงงานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม สินค้าที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูงมีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันสูงการปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีน้อย มองว่าผู้ประกอบการจะหันมาเน้นใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านอื่นๆ แทน ดังนั้นการส่งผ่านไปยังเงินเฟ้ออาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าสินค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจะมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อและเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น โดย 5 อันดับแรกที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่

  1. กลุ่มอาหารสำเร็จรูป
  2. ข้าว
  3. การสื่อสาร
  4. ผักสด 
  5. ผลไม้สด 

ขณะที่ปี 2567 สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 อยู่ระหว่าง (-0.3) – 1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 0.7%) โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง เช่น 

  • มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
  • แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด 
  • เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
  • หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคาเนื้อสุกรที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ พูนพงษ์ มองว่า ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ 2 เดือนต่อเนื่อง (ในเดือน ต.ค. และ พ.ย.) ยังไม่น่ากังวล และไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจถดถอย เป็นเพียงสัญญาณที่สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังปรับเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ และเงินเฟ้อลดลงจากมาตรการภาครัฐที่ทำให้สินค้าสำคัญในกลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า) ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังมีฐานสูงในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดซึ่งมี 3 เงื่อนไข ได้แก่

1) อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานหรือประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มติดลบ 1 ไตรมาส
2) อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ พบว่า ราคาสินค้าและบริการที่ลดลงมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ในสินค้ากลุ่มพลังงานและค่ากระแสไฟฟ้า
3) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องของไทยเป็นสัญญานบ่งชี้ว่าไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำ จากปี 2565 อยู่ระดับสูงที่ 6.08% ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมกับแนวโน้มเงินเฟ้อระดับต่ำต่อไป

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานขั้นต่ำดีขึ้น และมีผลทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถือว่าเป็นการปรับให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลในเรื่องการปรับค่าจ้างจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” 

ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา