ประเทศไหนบ้าง? ที่นายจ้างทักเรื่องงานนอกเวลาไม่ได้ ผิดกฎหมายทันที

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมการทุกวันนี้ตึงเครียดมากขึ้น คือ การติดต่อสื่อสารกันเรื่องงานนอกเวลาทำงาน

โดยเฉพาะในยุคที่เรา work from home กันเป็นหลัก ตัวเราเชื่อมต่อเข้ากับที่ทำงานตลอดเวลาผ่านช่องทางอย่าง Line, Slack, ไปจนถึง MS Team เหมือนประตูสู่ที่ทำงานอยู่แค่ปลายนิ้วเท่านั้น

กลายเป็นว่า ถึงในกระดาษจะเขียนเอาไว้ว่าเราทำงาน 8-9 ชั่วโมง/วัน แต่ในความเป็นจริงเราอาจทำงานมากกว่านั้น นี่ยังไม่รวมถึงเวลาที่ต้องมานั่งเครียดหรือรู้สึกไม่ดีจากงานจนเวลาส่วนตัวที่จะได้ทำสิ่งที่ชอบหรือใช้ชีวิตนอกเหนือจากงานก็ถูกลดทอนลงไปอีก

ลองนึกภาพตามง่ายๆ ทำงานจนเครียด พอกลับบ้านมาก็ไม่อยากคุยกับคนในครอบครัว นั่นคือตัวอย่างของการที่มิติด้านอื่นของชีวิตถูกเบียดบังไปจากเรื่องงาน (แม้ไม่ได้ทำงานอยู่ก็ตาม)

สิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อจากงาน

ในประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีการพูดถึง สิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อจากงาน (right to disconnect) ให้คนๆ หนึ่งได้ใช้ชีวิตมิติอื่นๆ เช่น งานอดิเรก ดูแลสุขภาพ สานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ในช่วงเวลาส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ 

โดยไม่มีเรื่องงานมารุกล้ำช่วงเวลาส่วนตัวตรงนี้

ภาพจาก Pixabay

คำถามคือ แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานคนหนึ่งมีสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อจากงานได้อย่างเต็มที่? 

ถ้าเราลองเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว คำตอบของเรื่องนี้คือ “กฎหมายแรงงาน” ที่จะสั่งห้ามไม่ให้งานรุกล้ำชีวิตส่วนตัว และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การห้ามติดต่อสื่อสารเพื่อพูดคุยเรื่องงานนอกเวลางาน ไม่ว่าจะผ่านอีเมลหรือช่องทางอื่นๆ ที่มีหลากหลายในปัจจุบัน

วันนี้เราจะมาลองดูกันว่า แล้วมีประเทศอะไรบ้างที่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ติดต่อเรื่องงานนอกเวลางาน

ประเทศที่มีกฎหมายห้ามติดต่องานนอกเวลางาน

โปรตุเกส 

โปรตุเกส คือ ประเทศล่าสุดที่เพิ่งจะมีการบัญญัติกฎหมายคุ้มครองให้พนักงานที่ทำงานทางไกลสามารถตัดการเชื่อมต่อกับโลกของการทำงานได้ดีขึ้น โดยเพิ่งจะผ่านกฎหมายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ 

Lisbon Top City
Photo by Louis Droege on Unsplash

กฎหมายดังกล่าวระบุให้ นายจ้างต้องรับโทษตามกฎหมายหากติดต่อหาลูกจ้างนอกเวลางาน ไม่ว่าจะผ่านอีเมลหรือช่องทางอื่นๆ

กฎหมายดังกล่าวยังให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ทำงานทางไกลในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ให้นายจ้างช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ อินเทอร์เน็ต 
  • ห้ามไม่ให้นายจ้างเฝ้าจับตาการทำงานของพนักงานที่ทำงานทางไกล 
  • พนักงานต้องมีโอกาสได้พบหัวหน้าอย่างน้อยทุกๆ สองเดือนเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานเกินไป

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศส คือ ประเทศแรกๆ ที่ปลุกกระแสสังคมให้ตั้งคำถามถึงการทำงานแบบ always-on เพราะเป็นประเทศที่มอบสิทธิจะตัดการเชื่อมต่อจากงานให้กับพนักงานมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2017 หรือตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว

paris seine river

กฎหมายของฝรั่งเศสระบุว่า หากบริษัทมีพนักงานมากกว่า 50 คน พนักงานมีสิทธิที่จะปิดอุปกรณ์สื่อสารนอกเวลางาน และเจ้านายก็ไม่มีสิทธิที่จะติดต่อหาพนักงานนอกเวลางาน

และแม้ว่าจะไม่มีโทษตามกฎหมายสำหรับบริษัทที่ละเมิดกฎหมายนี้ แต่ก็เคยมีกรณีที่ฟ้องร้องกันจนบริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายกว่า 60,000 ยูโร หรือกว่า 2,250,000 บาท เพื่อชดเชยการที่ลูกจ้างต้องทำงานนอกเวลา 

สเปน

ในประเทศสเปน มีการรับรองสิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อจากที่ทำงานไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 88 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3/2018 โดยระบุให้นายจ้างจะต้องออกแบบนโยบายภายในที่เอื้อให้พนักงานสามารถตัดการเชื่อมต่อจากงานได้จริงๆ

แม้จะไม่ได้มีข้อบังคับอย่างชัดเจนว่าบริษัทจะต้องทำอย่างไร แต่บริษัทส่วนใหญ่จะใช้มาตรการ เช่น

  • ให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะเพิกเฉยข้อความ อีเมล หรือโทรศัพท์ นอกเวลางาน 
  • ระบุให้ผู้จัดการติดต่อเรื่องงานกับพนักงานนอกเวลางาน
  • ประชุมได้เฉพาะในเวลางานเท่านั้น

อิตาลี

กฎหมายอิตาลีระบุไว้ว่าเวลาที่ใช้ในการทำงานทางไกลในแต่ละวันจะต้องไม่มากไปกว่าเวลาทำงานสูงสุดที่ระบุไว้ตามกฎหมาย แถมยังมีกฎหมายระบุอีกด้วยว่า องค์กรจะต้องมีมาตรการบังคับเพื่อให้พนักงานสามารถตัดการเชื่อมต่อจากงานได้จริงๆ

ภาพจาก Pixabay

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงองค์กรที่สั่งห้ามไม่ให้พนักงานพูดคุยเรื่องงานนอกเวลางาน หรือ มาตรการทางเทคนิคที่ป้องกันไม่ให้พนักงานเข้าถึงอีเมลนอกเวลางานได้เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าแม้จะได้ระบุคำว่า “สิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อจากงาน” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่ก็บังคับองค์กรเอาไว้อ้อมๆ ว่าจะต้องมอบสิทธินี้ให้กับพนักงานทุกคน

ที่มา –  Vice, eurofound, Proskauer, European Parliament, SHRM, The Telegraph

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน